ผลการลงประชามติให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลต่อบริษัทเทคโนโลยีในอังกฤษ โดยฟินเทค (Fintech) หรือกลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจการเงิน นั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด และเริ่มมีหลายบริษัทแสดงเจตจำนงว่าจะย้ายฐานออกจากอังกฤษแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น Taavet Hinrikus ผู้ก่อตั้งและผู้บริการของบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ TransferWise ได้เผยว่า “ผลการลงประชามติน่าจะกระทบต่อสองปัจจัยใหญ่ ๆ นั่นก็คือ ด้านตัวบทกฎหมายและการอพยพย้ายถิ่นของคนมีฝีมือ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อธุรกิจได้เลยทีเดียว ซึ่งข้อดีของการได้อยู่ใน EU คือทำให้ภาคธุรกิจหาคนมีฝีมือได้ง่ายกว่า เพราะคนทำงานสามารถโยกย้ายถิ่นฐานได้ภายใต้ EU อีกข้อหนึ่งคือ การทำธุรกิจในอังกฤษ ก็เท่ากับคุณทำธุรกิจได้ทั่วยุโรป ซึ่งหลังจากนี้เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ Hinrikus เป็นหนึ่งในซีอีโอที่ออกมาประกาศว่า หากผลการลงประชามติออกมาว่าอังกฤษจะออกจากอียู เขาจะย้ายสำนักงานใหญ่จากกรุงลอนดอนไปตั้งที่ประเทศอื่นของสหภาพยุโรปแทน ส่วนฐานที่มั่นในอังกฤษนั้น ถึงจะไม่ปิดตัว แต่ก็จะไม่ขยายตัวเพิ่มเติม
ด้าน Toby Coppel ผู้ก่อตั้งบริษัทเงินทุน Mosaic ได้ให้มุมมองในทิศทางเดียวกันว่า “การโหวตครั้งนี้จะส่งผลต่อธุรกิจเทคโนโลยีแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำเช่นในเยอรมนี แทนที่จะมุ่งหน้ามายังกรุงลอนดอน เพื่อมองหางานใน Fintech ทำ เขาอาจตัดสินใจอยู่ในกรุงเบอร์ลินแทนก็ได้”
โดย TechUK.org ได้เผยผลการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในธุรกิจเทคโนโลยีของอังกฤษพบว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ต่างเห็นพ้องให้อังกฤษอยู่ต่อ มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าควรถอนตัวจากอียู ส่วนในด้านพนักงานก็มีถึง 87 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าควรอยู่ต่อ และมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าควรถอนตัว
Hinrikus จาก TransferWise กล่าวถึงการลงประชามติครั้งนี้ว่า เป็นการลงประชามติที่จะสร้างผลเสียต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างใหญ่หลวง และจะทำให้สหรัฐอเมริกาได้บทนำกลับไปอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตามการรายงานของเดอะการ์เดียนพบว่า ในบรรดา 14 บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอังกฤษนั้น ไม่มีสักบริษัทเดียวที่บอกว่า การออกจากอียูจะมีผลดีต่อธุรกิจของตนเอง
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของรอยเตอร์ระบุว่า กลุ่มฟินเทคในอังกฤษมีสถิติการจ้างงาน 60,000 คน และมีรายได้ 6.6 พันล้านปอนด์ในปี 2015 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนแบ่งที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมฟินเทคในระดับโลก ด้าน Rhydian Lewis ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ RateSetter แพลตฟอร์มให้ยืมเงินแก่รายย่อยเคยเผยกับรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่มีฟินเทครายใดที่มีขนาดใหญ่พอที่จะต้องการตลาดอียูในตอนนี้ การโหวตให้ถอนตัวออกจากอียูจึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับฟินเทค
จะกระทบหรือไม่ อีกไม่นานคงได้เห็นภาพชัดขึ้น
ที่มา: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000063865