ยูบีเอ็มลงนามความร่วมมือม.เกษตรฯ เผยแพร่งานวิจัยอาหาร หนุนผู้ประกอบการไทยรุกตลาดอาเซียนในงาน Fi Asia พร้อมเผย 12 เทรนด์อาหารมาแรง

บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย คุณมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัดได้เดินหน้าขยายความร่วมมือไปยังภาคการศึกษา โดยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านอาหารกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนำโดย ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเผยแพร่ความรู้งานวิจัยด้านอาหาร รวมถึงร่วมเป็นวิทยากรสำหรับงานสัมมนาของงาน Fi Asia(งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชีย) ระหว่างปี 2559-2560ทั้งนี้เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อาหาร แนวโน้มตลาดอาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อกำหนดและโอกาสในการส่งออกอาหารในอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างสูงสุด

โดยนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย(ประเทศไทย) จำกัดกล่าวถึงแนวทางและการขยายความร่วมมือไปยังอาเซียนและแวดวงการศึกษาของยูบีเอ็มในครั้งนี้ว่า “ปัจจุบันยูบีเอ็มเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการขนาดใหญ่ที่มีบทบาทเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายในภาคการผลิตและการลงทุนเข้าด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็น คือ ศักยภาพการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพราะทำได้ง่ายขึ้น และสภาพเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมยังมีความแข็งแกร่ง และเพื่อรองรับการเติบโตและการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบเราได้ขยายการลงทุนในอาเซียนค่อนข้างมาก และครอบคลุมการจัดงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชีย( Food ingredient Asia ) ที่จัดขึ้นในไทย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม,งานแสดงเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำ (Livestock Asia) ที่จัดขึ้นในเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อีกทั้งยูบีเอ็มยังมุ่งสร้างความเป็นเลิศทางธุรกิจจากการขยายฐานกลุ่มลูกค้า การเชื่อมโยงและต่อยอดให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคงส่วนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการศึกษาและงานวิจัยเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนซึ่งเชื่อว่างานวิจัยหรือผลงานการศึกษาต่างๆ จะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆของไทยและในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้านผศ.ดร. ชุติมา ไวศรายุทธ์ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดเผยถึง 12 เทรนด์อาหารมาแรงในปี 2016-2017 ในการให้สัมภาษณ์พิเศษหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังนี้

  1. Artificial public enemy NO.1 :ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการอาหารจากธรรมชาติและอาหารหารที่ผ่านกระบวนการน้อยเทรนด์อาหารนี้จึงทำให้บริษัทและหน่วยงานผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องลบส่วนผสมสังเคราะห์ที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติออกจากส่วนผสม เพราะสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆกลายเป็นศัตรูอันดับ  1 ของผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้ว

  2. Eco is the new reality : ภัยแล้ง  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ และความกังวลเกี่ยวกับอาหารที่ถูกทิ้ง ​(Food Waste) ที่มีผลวิจัยรายงานว่าทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้ง ถึง 1,300 ล้านตัน หรือราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเตรียมการและกระบวนการผลิตด้วย ในปี 2016 นี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ผลิตต้องหันมาให้ความสำคัญ

  3. Alternatives everywhere : เบอร์เกอร์ผักและนมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ เป็นหนึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์มาแรงที่ทดแทนแหล่งโปรตีนเดิม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เลี่ยงการทานเนื้อสัตว์และผู้ทานมังสวิรัติ ซึ่งแหล่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก จนมีแนวโน้มว่าแหล่งโปรตีนทางเลือกเหล่านี้อาจจะกลายเป็นโปรตีนที่เข้ามาแทนที่โปรตีนจากเนื้อสัตว์ในอนาคต

  4. Fat sheds stigma :ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับที่มาของไขมันดีและไขมันเลวมากยิ่งขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนกรอบความคิดเกี่ยวกับไขมันที่ว่าไขมันเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายสุขภาพ

  5. Table for one :ผู้บริโภคในปัจจุบัน มีแนวโน้มการอยู่อาศัย และการใช้ชีวิตเพียงคนเดียวมากขึ้น บางครั้งจึงรับประทานอาหารเพียงคนเดียว ส่งผลให้แนวโน้มอาหารที่บรรจุสำหรับ 1 ท่าน 1 มื้อ จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับร้านอาหารต่างๆก็มีแนวโน้มที่จะพื้นที่สำหรับลูกค้าเพียงคนเดียวมากขึ้น

  6. Eat with your eyes :นวัตกรรมอาหารนั้นกลายเป็นสีสันและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างความอยากรับประทานอาหารการสร้างแพคเกจจิ้งที่สวยงามมีจุดเด่นในการดึงดูดผู้บริโภคจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น รวมถึงการออกแบบอาหารให้มีความน่าสนใจและสวยงามสำหรับเผยแพร่ลงโลกออนไลน์(Social media) ก็มีความน่าสนใจเช่นกัน

  7. Good enough to tweet :การเพิ่มขึ้นของสื่อด้านอาหาร ได้จุดประกายความน่าสนใจของการทำอาหารมากขึ้น ทำให้การทำอาหารในปัจจุบันไม่ได้สนใจเพียงสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างเดียว แต่รวมถึงภาพลักษณ์ที่สวยงาม และสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ลงในโลกออนไลน์(Social Media) อีกด้วย

  8. E-revolution from carts to clicks :การซื้อสินค้าออนไลน์ แอปพลิเคชัน และบริการจัดส่ง กำลังเปลี่ยนโฉมช่องทางเข้าถึงของผู้บริโภคไปยังการซื้อขายต่างๆ ข้อเสนอแบบเฉพาะเจาะจง หรือแม้แต่มื้ออาหารเต็มรูปแบบ ขณะที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การซื้อสินค้า นวัตกรรมต่างๆ ก็ส่งเสริมให้ผู้บริโภคคิดนอกเหนือไปจากบรรดาร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านแบบดั้งเดิม

  9. Diet by DNA :ในปัจจุบันการให้ความสำคัญจากอาหารที่มาจากธรรมชาติ ซูปเปอร์ฟู้ด เพราะมีความเชื่อว่าอาหารมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรมโดยตรง แม้กระทั่งการลดน้ำหนัก ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามที่จะออกแบบอาหารลดน้ำหนักให้เหมาะกับดีเอ็นเอ (DNA) ของแต่ละคน

  10. Based on a true story :พฤติกรรมการซื้อสินค้าในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อมักต้องการทราบข้อมูล ที่มาของแหล่งผลิต ที่ระบุได้และมีความน่าเชื่อถือ

  11. For Every Body :กระแสการออกกำลังกายและรักสุขภาพที่กำลังมาแรงนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการโชว์รูปร่างและผลลัพธ์การออกกำลังกายที่ดี และสิ่งที่มาควบคู่กับการออกกำลังกาย คือ อาหาร และเครื่องดื่มที่ช่วยให้การออกกำลังกายนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบัน คุ้นเคยกับ  โภชนาการทางกีฬา รวมถึงอาหารช่วยให้พลังงาน โปรตีน ซึ่งเหล่านี้ สร้างโอกาสในการสื่อสาร และ การขยายไลน์สินค้าให้แตกต่างเหมาะกับเป้าหมายและระดับการออกกำลังกายของผู้บริโภคในแต่ละช่วงมากขึ้น

  12. From the inside-out : แนวคิดสุขภาพและความงามที่เริ่มต้นจากภายในนั้น กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคตระหนักดีว่า อาหารมีผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึก ดังนั้นอาหารในยุคนี้จะเน้นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนผ่านแพคเกจจิ้ง ว่ามีส่วนผสมที่บำรุงเรื่องด้านใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นลักษะทางกายภาพต่างๆ ไปจนถึงการบำรุงเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมจากวิตามิน เกลือแร่ และสารสำคัญต่างๆได้รับความนิยม