พันธมิตรมาแล้ว !

ภาพมวลชนคับคั่งเต็มถนนราชดำเนิน ยาวจากสนามหลวงถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์เมื่อวันอาทิตย์ 25 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา เป็นเหมือนการประกาศที่ว่า “พันธมิตรกลับมาแล้ว !” ที่ชัดเจนและยิ่งใหญ่กว่าที่หลายฝ่ายคาดกันไว้

ช่วง 3 ปีที่ผ่านไปนั้น กระบวนการแฉชนคนการเมืองใน “ระบอบทักษิณ” ได้ส่งอิทธิพลไปทั่วทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทย ก่อให้เกิดทั้งแรงหนุนผ่านการชุมนุมหลายที่หลายครั้ง ผ่านปรากฏการณ์ “No Vote” เมื่อไทยรักไทยลงเลือกตั้งพรรคเดียว และผ่านช่อดอกไม้ยินดีที่มีต่อรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549

ส่วนกระแสต้านนั้นก็แสดงออกผ่านทางสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ และทั้งการชุมนุมโดยกลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ และชนชั้นรากหญ้าโดยเฉพาะฝ่ายที่โน้มไปทาง “เรารักทักษิณ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เป็นหนึ่งในแกนหลักที่จุดประกายและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ตลอดมา

และแม้ตลอดช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ปีกว่าๆ กลุ่มพันธมิตรจะดูเหมือนเงียบหายไป แต่แท้จริงภายในได้มีการ “ปรับทัพ” จัดโครงสร้างให้แน่นกระชับกว่าเดิม ด้วยการเสริมมวลชนคนชั้นกลางหลายจังหวัด ไล่ตั้งแต่เจ้าของกิจการรายย่อย “โชห่วย” จากทั่วประเทศที่กำลังถูกคุกคามจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ ไปจนถึงเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวสาร รวมไปถึงญาติมิตรลูกหลานที่พากันมาสมัครสมาชิกมูลนิธิ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” โดยงานนี้มีแกนนำพันธมิตรคนสำคัญคือสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ริเริ่ม

ทั้งหมดนี้ทำให้สนธิมีฐานมวลชนเหนียวแน่นของตนเองเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่มีเพียงแฟนๆ เอเอสทีวี หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และเว็บแมเนเจอร์เท่านั้น เทียบได้กับแกนนำพันธมิตรคนอื่นๆ ที่ต่างก็มีฐานมวลชนของตนเอง เช่น “กองทัพธรรม” ของพลตรีจำลอง ศรีเมือง และเครือข่ายแรงงานกับเอ็นจีโอต่างๆ ของแกนนำที่เหลือคือ สมศักดิ์ โกไสยสุข พิภพ ธงไชย และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

นอกจากนี้ชุมชนคนไทยในสหรัฐอเมริกายังได้มีโอกาสต้อนรับสนธิกับเหล่าคีย์แมนในเครือผู้จัดการและเอเอสทีวีที่ก้าวออกไปสร้างเครือข่ายแดนไกล ตามมาด้วยการเปิดช่องเอเอสทีวีใหม่เพื่อคนไทยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เกิดเป็นพันธมิตรคนไทยในรัฐต่างๆ เดินตามทางความสำเร็จในไทยเช่น “พันธมิตรเพชรบุรี” หรือ “พันธมิตรภาคตะวันออก” เป็นขุมกำลังสำคัญนอกจากชาวยามเฝ้าแผ่นดินในเขตกรุงเทพฯ

และบัดนี้พันธมิตรได้กลับมาอีกครั้งด้วยขุมกำลังที่เหนียวแน่น “ปึ้ก” กว่าเดิม พร้อมรับศึกหนักในภารกิจใหม่ที่ไม่ใช่ “ทักษิณออกไป” แต่เป็น “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 50”

โดยเป้าหมายใหญ่แล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ 2550 คือ “กรอบ” ที่เข้ามาจำกัดบทบาทอำนาจนักการเมืองลง และเพิ่มบทบาทการตรวจสอบจากองค์กรอื่นๆ ภายนอกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ “ท่าไม้ตาย” อย่างการยุบพรรค ตามมาตรา 237 ทั้งนี้ด้วยเหตุผลและความเชื่อมั่นของฝ่ายนี้ว่านักการเมืองไทยนั้นมีแนวโน้มจะมาจากการซื้อเสียงและเมื่อเข้ามาแล้วก็จะ “ถอนทุนคืน” หรือแม้แต่ “ขายชาติ” อยู่เสมอ

เมื่อพันธมิตรฯจะพิทักษ์ “กรอบ” คุมนักการเมือง ก็แน่นอนว่าต้องต่อสู้กับขั้วการเมืองใหญ่ที่สุดวันนี้คือพรรคพลังประชาชนหรือชื่อเดิมไทยรักไทยใน “ระบอบทักษิณ” ซึ่งเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่ศึกครั้งที่แล้ว

และครั้งนี้เมื่อ ยงยุทธ ติยะไพรัช ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ถูกข้อหาซื้อเสียงกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นเหตุให้บรรดาแกนนำพรรค ตลอดจนบุคคลสำคัญในระบอบทักษิณต้อง “ดิ้น” สู้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เร็วที่สุดเพื่อความอยู่รอดของพรรคและอนาคตทางการเมืองต่อไป

ไฮไลต์สำคัญของความตึงเครียดในช่วงนี้ จึงย้ายจากใบหน้าเหลี่ยมๆ เมื่อสองปีก่อน ออกมาสู่หน้าเอกสารสี่เหลี่ยมแห่งตัวบทกฎหมายที่ใช้ชี้เป็นชี้ตายฝ่ายต่างๆ ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต

แต่ที่เหนือกว่านั้น ศึกครั้งนี้ยังมีอีกภารกิจหลักคือ “พิทักษ์สถาบันฯ” จากการฝ่ายพันธมิตรตีความมองทะลุถึงเจตนารมณ์บางอย่างของฝ่ายไทยรักไทยเดิม ซึ่งหลายครั้ง “หลุด” แสดงออกมาในหลายวาทะอื้อฉาวของเหล่าแกนนำ ตั้งแต่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในอดีตจนมาถึง Speech ภาษาอังกฤษครั้งล่าสุดของ จักรภพ เพ็ญแข ที่เป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

ทางพันธมิตรจึงยกระดับน้ำหนักของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ว่าที่จริงก็คือการพิทักษ์ปกป้องสถาบันฯ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนคนไทย และธำรงไว้ซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ด้วย

และนี่เอง ที่ทำให้ สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศว่า การชุมนุมวันที่ 25 พฤษภาคม จะเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ที่เป็นจุดจบของทักษิณ หรือจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐ และที่ต้องออกมาสู้ เพราะวิกฤตการเมืองรุมเร้าหลายด้าน จากการชักใยอยู่เบื้องหลังของทักษิณ

อย่างไรก็ดี ตลอดเส้นทางต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในช่วงสามปีที่ผ่านมา นอกจากกระแสชื่นชมแล้ว ย่อมหลีกไม่พ้นเสียงก่นด่าหรือคำถามทิ่มแทงเช่นว่า “กู้ชาติหรือป่วนชาติ ?” และล่าสุด “ทำไมถึงเคลื่อนไหวไม่รู้จักพอ”

คำถามข้อเคลือบแคลงเหล่านี้ ถูกยิงเข้าสู่พันธมิตรอีกครั้งในการแถลงข่าวก่อนการชุมนุมใหญ่ 25 พฤษภาฯ ซึ่งพลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำได้ยืนยันสิทธิตามมาตรา 70 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าบุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นพันธมิตรจึงแค่ทำหน้าที่ และตลอดหลายปีที่ผ่านมาพลตรีจำลองก็ยืนยันว่า “พวกเราชุมนุมอย่างสงบต่อเนื่องตั้งปีกว่าๆ ไม่เห็นมีความวุ่นวายอะไร”

ส่วน สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญ ได้ตอบกลับอย่างเด็ดขาดตามสไตล์ว่า …

“ต้องถามกลับไปยังผู้ถามและคนในสังคมไทยว่า คำว่าพอสำหรับพวกท่านคืออะไร? ถ้าหมายถึงยอมให้เขาทำผิดแล้วแก้กฎหมาย ก็เชิญ แต่สำหรับพันธมิตรไม่เห็นด้วยแน่นอน… ใครที่บอกว่าพวกเราวุ่นวาย ให้คนที่พูดกลับไปทบทวน ว่าเราต้องการสังคมแบบไหน ?”

จากภาพรวมทั้งหมดนี้ ศึกไฟต์ใหม่ของสองคู่ปรับเดิม “พันธมิตร VS ระบอบทักษิณ” หลังจากห่างหายกันมานับปี จึงมีความสำคัญ เรียกความสนใจ และส่งผลสะเทือนไปทุกวงการทั่วสังคมไทยได้เสมอ