แม้ว่าแฟนๆ กูเกิลกลาส (Google Glass) จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับตัวแว่นในระดับคอนซูเมอร์แล้ว แต่การใช้งานแว่นกูเกิลกลาสก็ยังมีอยู่ หลังมีรายงานระบุว่า บริษัทโบอิ้ง (Boeing) ใช้แว่นกูเกิลกลาสในการผลิตเครื่องบิน
แม้จะยุติการจำหน่ายในระดับคอนซูเมอร์ไปแล้วสำหรับแว่นกูเกิลกลาส แต่เบื้องหลังคงต้องบอกว่า แว่นดังกล่าวยังมีบทบาทสูงในวงการต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐอเมริกา อย่างโบอิ้ง ซึ่งพบว่ามีการใช้ในแผนกวิจัยและเทคโนโลยีในการวางโครงสร้างสายไฟภายในเครื่องบิน
โดยแว่นกูเกิลกลาสได้เข้ามาแทนที่การวางระบบสายไฟโดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก อีกทั้งต้องดูผ่านหน้าจอแล็ปท็อป เมื่อมีแว่นเข้ามาช่วยในการวางโครงสร้าง ทำให้บริษัทโบอิ้งสามารถลดเวลาการผลิตลงได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และลดความผิดพลาด (Error Rates) ลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี แว่นกูเกิลกลาสไม่ใช่แว่นตัวแรกที่ทางโบอิ้งใช้งาน เนื่องจากทางบริษัทโบอิ้งมีการใช้แว่น AR ในการผลิตเครื่องบินมาแล้วตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1995 แต่อุปกรณ์มีขนาดใหญ่เทอะทะมาก เมื่อกูเกิลกลาสเกิดขึ้น ทางโบอิ้งจึงได้เปลี่ยนมาใช้แว่นกูเกิลแทนในที่สุด
แต่ในการทำงานช่วงเริ่มแรกก็พบว่า ตัวแว่นเวอร์ชันธรรมดานั้นไม่สามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลของโบอิ้งมาใช้แบบเรียลไทม์ได้ จึงมีการว่าจ้างให้ APX labs พัฒนาแอปพลิเคชันระดับสูงสำหรับแว่น ให้ช่างเทคนิคของโบอิ้งได้ใช้งาน
ผลคือในปัจจุบัน ผู้สวมแว่นสามารถใช้แว่นอ่าน QR Code เพื่อให้แว่นโหลดข้อมูลการทำงานมาอ่านได้ นอกจากนั้นยังรองรับคำสั่งเสียง และสามารถส่งเสียงจากช่างเทคนิคคนหนึ่งไปยังช่างเทคนิคคนอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้สื่อสารกันธรรมดาแล้ว ยังสามารถใช้ในการสื่อสารในภาวะวิกฤติ เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในภาคการผลิตได้ด้วย
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071577