ซีพีเอ็นเตรียมเปิด “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ไตรมาส 3 ปี 2560 เป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 31 ของซีพีเอ็น และเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 26 ของตระกูลเซ็นทรัลพลาซา ย้ายทำเลมาบนถนนมิตรภาพ พร้อมเพิ่มงบลงทุนเป็นหมื่นล้าน ปั้นเป็นโครงการมิกซ์ยูสสู้ศึกค้าปลีกในโคราช เป็นเมืองที่มีการลงทุนมากเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ
เป็นการรอคอยถึง 16 ปีเลยทีเดียวกว่าที่ซีพีเอ็น หรือเซ็นทรัลพัฒนาได้เดินหน้าผุดห้างค้าปลีกในจังหวัดนครราชสีมา เพราะใช้เวลาในการหาทำเล ซึ่งได้ย้ายทำเลมาทางเหนือที่มีการขยายเมืองมาทางนี้มากขึ้น และรอความพร้อมของจังหวัด พร้อมกับศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค หลังจากได้นำร่องทำเลทองบนพื้นที่ภาคอีสานไปแล้ว 3 ที่ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น
ใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ด้วยที่ดิน 65 ไร่ และพื้นที่รวม 355,000 ตารางเมตร จากที่ทำเลเดิมใช้งบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท และไม่ใช่โครงการมิกซ์ยูส
แม้ว่าเซ็นทรัลโคราชจะมาช้าไปหน่อยจนคู่แข่งรายสำคัญอย่างเดอะมอลล์ได้ปักหมุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2543 จนล่าสุดได้รีโนเวตครั้งใหญ่ และเกิดคู่แข่งใหม่อีกรายก็คือเทอมินัล โคราชอีก แต่ก็ยิ่งทำให้ซีพีเอ็นลงทุนหนักมากขึ้น กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญรองจากกรุงเทพฯ ที่มีการลงทุนมากที่สุด โดยไม่ได้สร้างเป็นแค่ห้างค้าปลีกอย่างเดียว แต่ปั้นให้เป็นมหานครแห่งอีสานด้วยโครงการมิกซ์ยูส
ทำให้เซ็นทรัลโคราชจะกลายเป็นโครงการโครงการมิกซ์ยูสที่ครบวงจรที่สุดโดยที่มีศูนย์การค้า คอนเวนชั่นฮอลล์ ลานกิจกรรม ตลาดไลฟ์สไตล์เอาต์ดอร์ สวนสาธารณะ โรงแรม และคอนโด ซึ่งซีพีเอ็นมีโครงการมิกซ์ยูสอยู่แล้ว 3 แห่งได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลลาดพร้าว และเซ็นทรัลเวสต์เกต แต่ไม่มีครบทั้งหมด
วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของซีพีเอ็น กล่าวว่า “ทางซีพีเอ็นได้ลงทุนเฉลี่ยปีละ 10,000-15,000 ล้านบาทต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ลงทุนในทำเลที่มีศักยภาพ และที่โคราชนี้ใช้เวลารอคอยมา 16 ปีทั้งในเรื่องหาทำเลที่สะดวกที่สุด และรอความพร้อมเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ของจังหวัด รวมถึงกำลังซื้อต่างๆ และเรื่องการลงทุนต่างๆ จากทางภาครัฐ โคราชเป็นจังหวัดที่เราลงทุนมากที่สุดรองจากกรุงเทพฯ“
ทำไมต้องเป็น “โคราช“
ความสำคัญในการลงทุนมหาศาลของซีพีเอ็นในครั้งนี้นอกจากการแข่งขันค้าปลีกในโคราชจะดุเดือดแล้ว โคราชเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นทำเลทองของค้าปลีก เพราะด้วยเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานมีประชากรกว่า 2.63 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร 97,963 บาทต่อปี เป็นอันดับสองในภาคอีสานรองจากขอนแก่น และเศรษฐกิจมีการขยายตัวปีละ 7.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (ข้อมูลปี 2547-2557 จาก NESDB)
ในแง่การท่องเที่ยว โคราชมีนักท่องเที่ยวกว่า 7 ล้านคนต่อปี เป็นคนไทย 98% และต่างชาติ 2% มีการเติบโตขึ้น 8.1% ต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 8.9 พันล้านบาท
ซึ่งซีพีเอ็นหวังเป็นการผนึกกำลังกับเขาใหญ่ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้อฃการครบทุกอย่างทั้งธรรมชาติ และการช้อปปิ้ง