Bodyslam Mainstream Rock

คิวงานของบอดี้สแลม ถูกกำหนดไว้ต่อเนื่อง 365 วันใน 1 ปี สมาชิกทั้ง 4 คนจะมีเวลาพักสักวันก็แค่ช่วงเดินทาง คิวงานของพวกเขาถูกบุกล่วงหน้าเป็นปีๆ เพราะนอกจากทัวร์คอนเสิร์ตสำหรับอัลบั้มของตัวเองแล้ว พวกเขายังต้องจัดสรรเวลาให้กับสปอนเซอร์ 3 ราย ที่จองคิวเต็มเหยียดตลอดทั้งปี ใช่ว่านักดนตรีทุกวงจะมีสปอนเซอร์ได้ถึงขนาดนี้ นี่คือความดังของวงร็อกยอดนิยมแห่งปี

ล่าสุดต้นเดือนกรกฎาคมนี้ บอดี้สแลม กำลังจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งจากอัลบั้มชุดที่ 4 ซึ่งจะมีคนชมรอบละเป็นหมื่นคน วงหรือนักร้องที่ทำได้ระดับนี้ จะต้องกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นและใหญ่พอตัว และสำหรับศิลปินไทยก็มีนับวงได้ พวกเขาวางแผนที่จะเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ถึง 2 รอบ หลังจากเคยประสบความสำเร็จจากคอนเสิร์ตในอัลบั้มก่อนหน้านี้

บอดี้สแลมเป็นวงดนตรีร็อกที่เติบโตมาจากการมีกลุ่มแฟนจำนวนเล็กๆ ในสไตล์เพลงอินดี้ มีส่วนประกอบของกลุ่มนักดนตรีที่จริงจังกับการเล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยมัธยม สมาชิกทั้ง 4 คน ตูน ปิ๊ด ชัฒ และยอด เติบโตมาจากเวทีประกวด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาได้ฝึกปรือฝีมืออย่างต่อเนื่อง เมื่อมีโอกาสทำให้เขาใช้ฝีมือที่มีอยู่ออกมาโชว์ได้เต็มที่ จนเป็นที่ถูกใจของแฟนเพลงจำนวนมาก

เมื่อบอดี้สแลมย้ายสังกัดจากมิวสิคบั๊คส์ ซึ่งใช้ชื่อเดิมว่าวงละอ่อน มาอยู่กับจีนี่เรคคอร์ดของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) พวกเขาออกอัลบั้ม Believe เป็นชุดที่ 3 สมาชิกของวงทุกคนเห็นตรงกันว่า นั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกคนอยู่ในจุดที่แฟนเพลงเห็นพวกเขาได้ชัดขึ้น

Bodyslam Mainstream Rock from Positioning Magazine on Vimeo.

แม้ตารางงานจะแน่นแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาระดับสร้างผลงานใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เติบโตแบบศิลปิน (Artist) ทำงานเพลงแบบคิดเองทำเอง ผลงานที่พัฒนาขึ้นในแต่ละชิ้นส่งผลให้กระแสความนิยมของบอดี้สแลมยังคงรักษาระดับได้ต่อเนื่อง พวกเขาเป็นวงที่ทำรายได้สูงติดอันดับต้นๆ ของค่ายจีนี่เรคคอร์ด ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากทั้งการขายซีดี ทัวร์คอนเสิร์ต สปอนเซอร์สินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย

งานดีมาร์เก็ตติ้งเด่นส่วนเติมเต็มที่ลงตัว

“การทำงานดนตรีก็เหมือนหนึ่งสนามฟุตบอล โปรโมเตอร์หรือการตลาดเป็นศูนย์หน้า พวกกองหลังทำหน้าที่เป็นแบ็กที่แข็งแรง ตั้งใจผลิตงานให้เข้มข้น ลูกมาถึงครึ่งสนามแล้วเราจะรับลูกยิงเข้าประตูอีกทีหนึ่ง”

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล Executive Vice President- Music Division (Genie Records/Sawasdee Records) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) พูดถึงการทำงานของฝั่งที่ต้องดูการตลาดให้กับเหล่าศิลปิน

ตูนและบอดี้สแลมเป็นวงที่วิเชียรบอกว่า โดยสัญชาตญาณที่สร้างงานเพลงมานานกว่าอายุของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถึง 6 เดือน เขาได้กลิ่นความสำเร็จของวงนี้ตั้งแต่ยังเป็นละอ่อน

“เส้นทางของตูนยาวมาเป็น 10 ปี เริ่มตั้งแต่ประกวดฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ด จนถึงวันนี้เขามีพัฒนาต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ในประวัติศาสตร์ก็มีวง Beatle ซึ่งเริ่มจากวงวัยรุ่นธรรมดา แต่ถึงวันสุดท้ายสามารถพัฒนาไปเป็นงานมีสาระ มีการใส่ความคิดทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ปรัชญาชีวิตแทรกลงไป พัฒนาการแบบนี้บ้านเรามีน้อย แต่บอดี้สแลมพัฒนามาตลอดและชัดเจน”

โดยสไตล์ของตูน และบอดี้สแลม วิเชียรถึงกับให้นิยามว่า เป็นร็อกเพื่อชีวิตจากความมีสาระในงานเพลงที่พวกเขามี รวมถึงตัวตนของตูน

“ส่วนหนึ่งเพราะยุคนี้มีครูดี วงการพัฒนามาระดับหนึ่ง สังเกตได้ว่าเด็กรุ่นหลังร้องดี เพราะมีแม่แบบที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันตัวตูนเองก็มีความมุ่งมั่น เท่าที่ได้สัมผัสจากการทำงาน เขาเป็นคนที่เอาจริงเอาจังมากถึงมากที่สุด เฉพาะตอนคุยคอนเซ็ปต์ชุดเซฟมายไลฟ์ ผมได้ยินเขาอธิบายคำนี้เป็นชั่วโมง โดยที่ยังไม่มีเรื่องเพลง เนื้อหา ดนตรี แต่เขาอธิบายเรื่องแก่น วิธีคิด แนวความคิดของอัลบั้มชุดนี้ อย่างเอาจริงเอาจังมาก ซึ่งถ้าจะประสบความสำเร็จก็ต้องประมาณนี้ เนื้อหาสาระที่เข้าใส่เข้ามามีความเป็นเพื่อชีวิตซึ่งไม่จำเป็นจะต้องออกมาในลักษณะของร้อยเนื้อทำนองเดียวเท่านั้น”

เมื่อศิลปินจริงจังกับงาน วิเชียรจึงทำหน้าที่ของเขาได้เต็มที่ ในการนำผลงานนั้นนำเสนอออกไปให้คนรับรู้มากที่สุด

ตอนออกอัลบั้ม Believe ชุดแรกกับแกรมมี่ วิเชียรใช้เทคนิคการทำประชาสัมพันธ์วงภายใต้ Condition ของแบรนด์ที่มี Potential สูงระดับร็อกสตาร์ ใช้เบื้องหลังการทำมิวสิกวิดีโอเพลงขอบฟ้า ซึ่งเป็นเพลงเด่นเพลงหนึ่งของอัลบั้ม มาเป็นตัวโฆษณา เพื่อดึงความสนใจให้ดูยิ่งใหญ่ว่า วงนี้คือใครทำไมต้องพูดถึงโปรดักชั่นเบื้องหลังกันใหญ่โต

“เราทำแบบให้คนตกใจพอสมควรโฆษณาว่าเป็นบิ๊กโปรดักชั่น ผลคือ ทำให้คนที่เคยได้ยินชื่อบอดี้สแลมแว่วๆ ได้ยินชัดขึ้น คนที่ไม่เคยได้ยินก็หันมาสนใจ พอเพลงฮิตติดชาร์ต ก็ทำให้บอดี้สแลมกลายเป็นเมนสตรีมของวงร็อกเต็มตัวไม่ใช่วงที่รู้จักแค่กลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป”

ข้อดีของบอดี้สแลม คือการเติบโตมาจากการมีแฟนเพลงที่เหนียวแน่นอยู่เดิม ประกอบกับการออกแคมปัสทัวร์ทั่วประเทศสมัยเป็นวงละอ่อน ซึ่งการเดินสายเป็นการที่พวกเขาได้สร้างฐานคนฟังให้กับตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่นไว้แล้วโดยไม่รู้ตัว

เมื่อแกรมมี่ใส่การตลาดเพิ่มเข้าไป แต่การเติบโตของบอดี้สแลม ยังเป็นไปในลักษณะเดิมๆ เพิ่มมาตรฐาน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ทำให้ฐานกลุ่มแฟนคลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเป็นวงอินดี้ หรือพวกที่มาจากใต้ดิน บางทีเป็นแนวเพลงหยาบ การเมือง พอจะเอาขึ้นมาก็ต้องเปลี่ยน แบบนั้นจะทำให้เสียแฟนกลุ่มเดิมไป แต่ของบอดี้สแลมเป็นการพัฒนาขึ้น ไม่ใช่เซ็กเมนต์ที่ซับซ้อน ทำให้แฟนเพลงกว้างขึ้น และแฟนเพลงกลุ่มแรกก็ยังอยู่ออกผลงานไปอย่างน้อยก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ตอบรับ”

กลุ่มผู้ชื่นชอบบอดี้สแลม จะเป็นเหมือนแฟนเพลงศิลปินทั่วไป ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่อายุน้อยกว่าศิลปินเล็กน้อย เพราะศิลปินมักจะถูกมองเป็นฮีโร่ สำหรับบอดี้สแลมแฟนจึงมีทั้งแฟนเพลงกลุ่มหนึ่งที่โตไปด้วยกันกับอีกส่วนหนึ่งเขาก็ยังสร้างความนิยมในกลุ่มแฟนเพลงรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาฟังเพลงร็อกเพราะเนื้อหาโดนๆ ที่พวกเขานำเสนอออกไป

“โดยส่วนใหญ่ผมคลุกคลีอยู่กับการทำงานที่ต้องมีโปรดิวเซอร์ มีคนแต่งเพลงให้กับศิลปิน แต่บอดี้สแลมสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของงานนี้อีกที เรียกว่าตื่นเต้นกับการมีคุณภาพของวง” นี่คือความรู้สึกพิเศษของวิเชียรต่อบอดี้สแลมที่เขาเชื่อว่าจะยังคงอยู่ในวงการนี้ต่อไปได้อีกเป็น 10 ปี หากพวกเขาไม่รู้สึกเหนื่อยไปเสียก่อน

บอดี้สแลม : จังหวะดีมีฝีมือ

ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย ปิ๊ด-ธนดล ช้างเสวก ชัฒ-สุชัฒติ จั่นอี๊ด และยอด-ชัย ตันตระกูล รวมตัวครั้งสำคัญก่อนคอนเสิร์ตใหญ่ของอัลบั้ม Save My Life ที่จะมีขึ้นที่อิมแพค เมืองทองธานี ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้สัมภาษณ์กับ POSITIONING ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นวงร็อกที่ครองใจคนได้มากที่สุดแห่งยุค แม้จะมีผลงานชุดนี้เป็นอัลบั้มที่ 4 แล้ว

จากคนที่เคยคิดฝันว่าจะมีชีวิตเพื่อเล่นดนตรี ได้ออกเทปสักอัลบั้ม แต่ความสำเร็จและฝีมือที่พัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตของชื่อเสียงและความนิยมจากแฟนเพลง ทำให้พวกเขาเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ โดยมุ่งหวังว่าจะนำเสนอผลงานและถ่ายทอดความสนุกออกไปอย่างเต็มที่เพื่อจะเติบโตในวงการนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน

รู้สึกอย่างไรกับการเป็นกลุ่มศิลปินที่ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่น

ตูน-เขินครับ พอมีคำว่าอิทธิพล เหมือนเราเป็นตัวชี้นำซึ่งเราไม่ได้พยายามจะทำแบบนั้น เราแค่เล่นดนตรี ร้องในสิ่งที่เราคิดเราเชื่อสิ่งที่เป็นตัวเรา ขอบคุณที่หลายๆ คนชอบมัน แล้วก็ให้ความสนับสนุนเรามาตลอด

แฟนบอดี้สแลมเป็นกลุ่มไหน

ตูน-จะมีเยอะ ไม่ใช่จำนวน แต่ความหลากหลาย ตั้งแต่ชุด 1-4 มันแตกต่างกันมาตลอด ในเรื่องของตำแหน่งที่เราอยู่
ชุดแรก เราเป็นวงคล้ายๆ จะเป็นอินดี้ ตอนที่อยู่ Music Bugs แฟนที่ได้ยินได้ฟังบอดี้สแลม จะรู้สึกเหมือนเป็นแฟนเพลงจริงๆ เพราะตอนนั้นเราไม่มีสื่อ คนชอบเพราะเพลง ประทับใจสิ่งที่เราเล่นเราทำบนเวที ซึ่งไม่มีภาพออกไป เป็นเรื่องของปากต่อปาก

ชุดที่สามพอย้ายมาอยู่กับแกรมมี่ เหมือนเรามีภาพ มีสื่อ ให้เพลงได้เป็นมากกว่าเพลง มีภาพและเสียงไปด้วยกัน กลุ่มคนฟังกว้างมากขึ้น แฟนเพลงที่เข้ามาก็เยอะขึ้น หลายๆ คนรู้จักเราในฐานะนักร้องนักดนตรี แต่อาจจะไม่รู้จักเพลงของเรา แตกต่างจากสองชุดแรกที่ทุกคนเข้ามาเพราะรู้จักเพลงก่อน แต่สามสี่ทุกคนรู้จักว่าเราคือบอดี้สแลม มันค่อนข้างแตกต่าง ไม่ใช่ว่าอันไหนถูกหรือผิด แต่มันเป็นธรรมชาติที่เราได้เห็นมา

ชอบแบบไหน

ตูน-ชอบแบบ 2 ชุดแรก เพราะมันเป็นธรรมชาติของคน และถ้าเราเลือกเปลี่ยนที่อยู่เราจะต้องเจออะไรใหม่ๆ

นอกเหนือจากรูปแบบแฟนเพลงที่เข้ามาต่างกัน การคิดสร้างสรรค์งานเปลี่ยนแปลงไหมระหว่างที่ใหม่กับที่เก่า ตูน-วิธีคิดเหมือนเดิม สไตล์อาจจะเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย แต่แก่นก็ยังคือคนคนเดิม อาจจะมีเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง ในเรื่องของสีสันที่เราเจอระหว่างทางที่เราออกทัวร์ หรือระหว่างที่เราโตขึ้นมาในช่วง 6 ปี ซึ่งบอกว่ามันแตกต่างกับจุดเริ่มต้นตรงไหน ผมก็บอกไม่ได้ เพราะมันค่อยๆ โต ไม่มีการหักมุม

ปิ๊ด-มีการพลิกวิธีการบ้าง ที่เห็นชัดสุด มันไม่ใช่วิธีการทำงาน แต่มันมาจากการออกทัวร์ ชุดที่แล้ว Believe ที่มาอยู่กับแกรมมี่ มันเกิดขึ้นแบบไม่เคยเกิดขึ้นเลย คือเล่นทุกวัน จากเดิมอาทิตย์หนึ่งเล่น 2 วันก็คิดว่ามีความสุขแล้ว

มีวิธีทำงานอย่างไรเวลาจะออกอัลบั้มใหม่

ตูน-นั่งคุยกัน แล้วก็พี่อ๊อฟกับพี่กบ (บิ๊กแอสซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของบอดี้สแลม) และทีมงานสี่ห้าคน นั่งคุยกันว่าตอนไหนที่เราต้องทำอะไรบ้าง มาสรุปว่าช่วงชีวิตนั้นทุกคนอยากจะเป็นอะไร อยากเล่น อยากพูดอะไร ในช่วงอายุเท่านี้เราสนุกกับอะไร คุยจิปาถะ เหมือนจะไร้สาระ แต่ว่ามันก็ได้ประโยชน์ จนทุกคนมองเห็นภาพเดียวกันว่าอัลบั้มนี้คือภาพอะไร

ชุดล่าสุด Save My Life เริ่มต้นคิดอย่างไร

ตูน-ชื่ออัลบั้มชุดนี้มาเร็ว คือไม่รู้ว่าดนตรีเราจะเป็นอย่างไร คงสนุกขึ้น มีสีสัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะเน้นก็คือ ให้ดนตรีเป็นมากกว่าเพลง อยากให้เป็นพลังงานดีๆ สำหรับคนฟังเพลง ที่กำลังรู้สึกไม่ดีหรือแย่อยู่ ในแง่ชีวิต ความรัก ถ้าเพลงเราได้ช่วยเยียวยาหรือได้ช่วยให้มีแรงขึ้นมาสักนิดในแต่ละวัน ผมคิดว่า เราคงมีความสุข และมันคงเป็นมากกว่าเพลง

คาดหวังความเข้าใจจากคนฟังไหมเวลาถ่ายทอดออกไป

ตูน-เราไม่พยายามสอนหรือพยายามผลักดัน สิ่งหนักๆ ให้กับเขา เพียงแต่บอกว่าเราพูดเรื่องเพลง สิ่งที่เราร้องเราพูดออกไปในมุมของตัวเอง เราได้ผ่านมันมา แต่เราก็ยังอยู่ตรงนี้ กระโดดโลดเต้นได้ ยิ้มได้ ผมคิดว่าไม่มีใครอยากจะฟังเราสอนเขา

งานเพลงมี ‘เสนอ’ กับ ‘สนอง’ ในมุมของบอดี้สแลมเป็นแบบไหนมากกว่ากัน

ตูน-ผมว่ามันต้องบาลานซ์ให้ดีๆ คร่าวๆ ตอนนี้เปอร์เซ็นต์เสนอเยอะกว่า แต่ก็ไม่รู้เท่าไร และสนองอยู่ในพื้นฐานของการเสนอ ผมคิดว่ามันอยู่บนพื้นฐานของความสนุก

ปิ๊ด-เรื่องที่เราเสนอ มันสนองความต้องการเขาพอดี ถือว่าโชคดี

หรือมองว่าเรื่อง ‘สนอง’ เป็นหน้าที่การตลาด หน้าที่วงคือ ‘เสนอ’

ตูน-นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาอยู่ที่แกรมมี่ เพราะที่นี่มีคนคิดต่อเสนอภาพให้เรา เราอยากจะเสนอแบบนี้ ก็มีคนเสนอภาพให้ โชคดีที่เราได้เข้ามาอยู่ที่ที่มีอาวุธครบมือ บุคลากรครบ เราก็ห่วงแค่เรื่องที่เราจะทำ

ณ ตอนนี้คิดว่าจุดต่างของบอดี้สแลมคืออะไรถ้าเทียบกับศิลปินอื่น

ตูน-ผมว่าไม่ค่อยแตกต่าง ถ้าถามในมุมของคนทำงาน ทุกคนพยายามนำเสนอสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ผมคิดว่าทุกวงทุกค่ายมีพื้นฐานการคิดแบบนี้ คือทุกคนพยายามทำดีที่สุด บอดี้สแลมพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดในละช่วงออกมาเสนอ ความแตกต่างมันน่าจะอยู่ที่จังหวะของแต่ละวง จังหวะของสิ่งที่เราพยายามให้ทุกคนได้รู้สึกถึงความเป็นตัวเรา จังหวะนั้นใครจะโดนรับรู้ โดนได้ยินมากกว่ากัน

างเป้าหมายอย่างไรในวงการนี้

ตูน-จริงๆ แล้ว มันเป็นภาพเดิมๆ ที่ผมเคยเห็นมาในวงการ จากวงวัยรุ่น 4-5 ปี ออกมา 2-3 ชุด ประสบความสำเร็จ ทุกคนก็จะหายไป ไปเป็นเบื้องหลัง ดารา ค้าขาย บางคนเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มี บอดี้สแลมก็ผ่านการเป็นวงแบบนั้นมา แต่เป้าหมายของผมคืออยากเปลี่ยนจากวงวัยรุ่นซึ่งมีแฟนเพลงแค่กลุ่มวัยรุ่น ให้กลายเป็นวงที่มีความสามารถพอที่จะเดินทางร่วมสมัยไปเรื่อยๆ 10 ปีต่อจากนี้ คนที่ฟังเพลงเราแล้วยังเข้าใจสิ่งที่เราพูด ฟังเพลงที่เราเล่น จะมีความสุขมาก

คิดว่าวงดนตรีไทยส่วนใหญ่ ทำไมไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะอะไร

ตูน-ผมว่ามันอยู่ที่การตั้งเป้าแต่แรก ถ้าให้เดาเขาอาจจะเริ่มจากเป็นงานอดิเรก เหมือนที่เราเริ่ม แต่ตอนนี้ยังคิดว่ามันเป็นงานอดิเรกอยู่หรือเปล่า บางคนอาจจะอยากมีเป้าหมายว่า ได้ประสบการณ์พอแล้ว เก็บเงินก้อนหนึ่งไปทำอย่างอื่น แต่พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน

กระแสเด็กไทยชอบเป็นนักดนตรีนักร้อง น้อยคนมากที่จะจริงจัง ถ้าบอกเขาได้อยากบอกอะไร

ตูน-ถ้าเริ่มต้นเล่นดนตรีร้องเพลง ผมว่าเป็นเรื่องดี อย่างแรกเลยก็อยากให้สนุกไปก่อน สนุกกับแต่ละช่วงเวลา ถึงจะคิดจริงจังก็ต้องสนุกกับมันด้วย อย่าเครียดว่าจะต้องเป็นที่หนึ่ง ได้ออกเทป มีคนชอบเยอะแยะ ถ้าเริ่มต้นคิดสนุก มันจะออกมาในงานของเรา แต่ถ้าคาดหวังมันจะไม่สนุกเลย นี่คือที่ผมรู้สึก

ปิ๊ด-คิดว่ามันเป็นแค่งานอดิเรก มันก็เป็นงานอดิเรกที่ดีมากทีเดียวแหละ ดีกว่าไปหายาเสพติดหรือไปหาอะไรที่มันไร้สาระแน่ๆ แต่ถ้าจริงจังกับมัน ผมคิดว่ามันก็มีที่ทางให้เราอยู่เหมือนกัน ดูตัวอย่างจากพวกเรา ก็เริ่มแข็งแรงแล้ว ถ้าในส่วนของนักดนตรี ก็ต้องซ้อม ฝึก ต้องวันๆ นั่งเล่นอย่างเดียว ถ้าอยากเก่ง

ตูน-โอกาสมันมาเยอะก็จริง แต่ถ้าใครฉวยมันไม่ได้ ก็เสียโอกาสไปฟรีๆ สมมติถ้าเราแข็งแรง เราเล่นเก่ง มีพัฒนาการ พอโอกาสมาเราโชว์ให้ทุกคนได้เห็นความสามารถได้ทันที ต้องใช้โอกาสตรงนั้นให้เป็นประโยชน์