ประชุมบอร์ดใหญ่ สสว.

มติประชุมบอร์ดใหญ่ สสว. เห็นชอบให้ร่างระเบียบการให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยให้ SME Bank เป็นหน่วยร่วมในการปล่อยกู้ พร้อมปรับแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้รวมธุรกิจการเกษตร และให้ความเห็นชอบแผนส่งเสริม SMEs ปี 2560-2564 ย้ำรับทราบความคืบหน้าของโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SME 15 โครงการ งบประมาณ 2,607 ล้านบาท SME ได้รับประโยชน์แล้ว 48,624 ราย

วันนี้ (28 ก.ค. 2559) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2559

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้มีเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้

  1. ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการให้ความช่วยเหลือ SME ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ โดยมีสาระสำคัญ คือ

    1. SME ที่จะกู้ยืมเงิน ต้องผ่านการวิเคราะห์ว่ายังมีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่ง SME เหล่านี้ได้มาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการ Turn around ของ สสว. หรือส่งคำขอรับความช่วยเหลือผ่าน SME Rescue center ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ โดย SME ที่ขอกู้ยืมเงินจะต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม หรือได้ยื่นคำรองขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว

    2. กู้ยืมได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้เก่า

    3. ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank เป็นหน่วยร่วมทำการแทน สสว. ในการพิจารณา

    4. การกลั่นกรองคำขอกู้ยืม และติดตามดูแลการชำระเงินของลูกหนี้ เพราะ ธพว. มีกลไกในการให้สินเชื่ออยู่แล้วทำให้สามารถดำเนินการได้ทันที โดย สสว. จ่ายค่าบริหารจัดการให้แก่ ธพว. ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริ

    5. ในส่วนของโครงการ Turn around ที่ สสว. ดำเนินร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพียงเดือน ก.ค. 2559 มี SME ขนาดย่อมสมัครเข้าร่วมโครงการ Turn around จำนวน 10,129 ราย ในจำนวนนี้ได้ช่วยประสานงานให้ปรับโครงการสร้างหนี้แล้ว 3,469 ราย SME กลุ่มนี้มีคุณสมบัติเข้าข่ายยื่นขอกู้จากกองทุนพลิกฟื้นได้ แต่กองทุนพลิกฟื้นนี้มีวงเงินจำนวน 1 พันล้านบาทอาจไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดสรรงบประมาณ 2 พันล้านบาท มาเข้าในกองทุนของ สสว. เพื่อช่วยเหลือ SME ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ โดยให้ สสว. ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแล ดังนั้นเงินที่เพิ่มจำนวนขึ้น 2 พันล้านบาทนี้ จะนำมาช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของ SME ที่ได้รับความเดือดร้อนได้

2. ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ในประเด็น ดังต่อไปนี้

2.1) ขยายขอบเขตของวิสาหกิจที่ สสว. รับผิดชอบในการดูแลพัฒนา ให้รวมถึงกิจการเกษตรด้วย

2.2) การกำหนดขนาดของ SME ให้คำนึงถึงรายได้เพิ่มเติมจาก จำนวนการจ้างงาน มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรและทุนจดทะเบียน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

2.3) เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ สสว. เสนอแนะงบประมาณแผนบูรณาการในการส่งเสริม SME ต่อ ครม. เพื่อให้การพัฒนา SME ของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2.4) ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารของ สสว.

หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว สสว. จะนำเสนอร่างแก้ไข พรบ. ต่อวิปรัฐบาล ซึ่งจะนำไปเปรียบเทียบกับร่างแก้ไข พรบ. ของ สนช. และ สปช. ที่เคยนำเสนอต่อวิปรัฐบาลไปแล้ว ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. ในลำดับต่อไป

3. ให้ความเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งแผนฉบับที่ 4 นี้จะเป็นการพัฒนาให้เกิด SME 4.0 โดยจะเน้นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ในแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ สสว. ได้ตั้งเป้าหมายให้สัดส่วน SME GDP เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของ GDP ประเทศภายในปี พ.ศ. 2564 จาก 42% ในปัจจุบัน เพราะในประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จะมีสัดส่วนของ SME ไม่ต่ำกว่า 50% ของ GDP ประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งเสริม SME จะคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไป ดังนั้น สสว. จึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรประเภท Smart Farmers และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาขึ้นเป็น SME เกษตร และ Micro SME หลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมฯ เห็นชอบแผน SME 4.0 แล้ว สสว. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งแผนการส่งเสริมฯ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นรูปธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถและช่วยเหลือ SME ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2558 รวม 15 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 2,607.645 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้

ประเภทโครงการ

จำนวนผู้ประกอบการ
ที่ได้รับประโยชน์

วงเงินงบประมาณ

งบประมาณ

ที่เบิกจ่ายแล้ว

  1. สร้างผู้ประกอบการใหม่ เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม

– โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่

– โครงการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่

9,473 ราย

250 ล้านบาท

25.71 ล้านบาท

  1. สร้างความเข้มแข็งให้ SME ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong & Regular SME)

– โครงการ SME Strong/Regular

– โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SME สู่ตลาดโลก

– โครงการสร้างนักการค้ามืออาชีพ

– โครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก

– โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP

– โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนา SME สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะต่อเนื่อง

10,436 ราย

469.86 ล้านบาท

237.08 ล้านบาท

  1. ฟื้นฟู SME

– โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SME (Turn around)

– โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม

17,825 ราย

1,630 ล้านบาท

(กองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท)

446.02 ล้านบาท

(กองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท)

  1. ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ

– โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

– โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการ SME

– โครงการกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจสร้างโอกาส SME ไทยเข้าถึงแหล่งทุน

– โครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน

– โครงการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร

10,890 ราย

257.78 ล้านบาท

118.68 ล้านบาท

รวม

48,624 ราย

2607.64 ล้านบาท

827.49 ล้านบาท