ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ย่อยสารคดีให้ขายได้

ถ้านึกถึงผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ยามนี้ จะมีภาพของ “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผุดขึ้นมาโดดเด่นเหนือใคร

จากอาจารย์สอนหนังสือที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากให้ความรู้บนเวทีวิชาการต่างๆ ดร.ธรณ์ แปรความรู้ดังกล่าวออกมาเป็นผลงาน ผ่าน “สื่อ” ออกสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งคู่มือโลกใต้ทะเล บทความ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ สร้างผลงานให้เสพง่ายจนได้รับการยอมรับว่า “เติมความกลมกล่อมให้สารคดี” เป็นผลงานที่ไม่เพ้อไม่ไร้สาระ ขณะเดียวกันเนื้อหาก็ไม่หนัก อ่านง่ายๆ ทำให้ดูใกล้ชิดกับคนธรรมดาๆ เกินกว่าจะเรียกเขาว่า “ดร.ธรณ์”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ธรณ์จะเป็น “ภาพขัดแย้ง” ในแวดวงนักวิชาการหรือเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม บ้างก็วิจารณ์ว่าเขาเป็น “นักสร้างภาพ” ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน เขาจะดูเป็นทางการมากกว่านี้ เป็นภาพของนักวิชาการ หรือเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ทว่าปัจจุบันกลายเป็นนักเขียนที่ให้ความรู้สึกจับต้องได้ ไม่ใช่นักวิชาการหรือเอ็นจีโอจ๋า แต่ใช้ชีวิต กินดื่มเที่ยวตามสถานที่นิยม จับจ่ายใช้สอย เหมือนกับคนทั่วไป ในวัยเดียวกัน

“ผมเป็นเหมือนกลุ่มคนอ่านของผม ชอบแสงสี ฟุ้งเฟ้อไม่พอเพียง ชอบของแบรนด์เนม ผ่อนรถราคาแพง กินเหล้าทุกวันศุกร์ เที่ยว RCA” ซึ่งในวันที่ให้สัมภาษณ์กับ “POSITIONING” ก็สัมผัสได้ถึงตัวตนที่ขัดแย้งแตกต่างของธรณ์ ในชุดลำลองเสื้อเชิ้ตสีเหลืองสว่างไสวปล่อยชายออกนอกกางเกง มีแบรนด์แจ่มแจ้งปักบนอกเป็นรูปคนขี่ม้าหรือที่เราคุ้นกันดีว่าคือ Polo

นอกจากชอบของมี Brand เขายัง Branding ตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเขียน ที่เขายอมรับว่า “โลกนี้ปกคลุมด้วยกลไกการตลาด” ดังนั้น จะเขียนอะไรก็ต้องรู้แจ้งใน Segment และ “ที่ยืน” ของตัวเองตั้งแต่แรก ที่ธรณ์มองว่าเป็น “กึ๋น” ของนักเขียนที่ยุคนี้ต้องมี เช่น ผลงานท่องเที่ยวชุดล่าสุด On Earth เขาเล็งเห็นชัดว่ากลุ่มผู้อ่านซีรี่ส์นี้เป็นคนอายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้สูง ชอบอักษรตัวใหญ่ อ่านง่าย ภาพเยอะ ดู DVD High Definition ถึงขึ้นบอกว่าครอบคลุมกลุ่ม “อาแปะ อาม่า” ใช้วิธี Branding ให้ต่างจากชุดหนังสือท่องเที่ยวอื่นๆ โดยนำ “คุณดาว” ภรรยาเป็นผู้เดินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านจำได้ทันทีว่าเป็น “หนังสือท่องเที่ยวสไตล์ธรณ์”ส่วนหนึ่งของผู้อ่านคอยติดตามชีวิตของคุณดาวไม่ต่างจากติดนิยายชีวิตจริงงอมแงม ซึ่งทำให้หนังสือท่องเที่ยวซีรี่ส์นี้ขายดี แม้จะมีราคาแพงที่สุด หรือประมาณ 250 – 300 กว่าบาท ท่ามกลางหนังสือท่องเที่ยวภาษาไทยที่มีราคาเฉลี่ย 180 – 200 บาทเท่านั้น

ที่สามารถปรับขยับเขย่า “เนื้อหา” ให้เข้ากับ “ที่ยืน” ในตลาดได้ ก็เพราะธรณ์มีประสบการณ์ “เล่นจริง เจ็บจริง” ล้มลุกคลุกคลานในฐานะนักเขียน ใช่ว่าเกิดมานามสกุลดังแล้วจะมีเส้นทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เริ่มจับปากกามาตั้งแต่อายุ 14 – 15 ปี จากงานเขียนนิยายประเภทปลุกใจเสือป่าลงนิตยสารนวลนาง และด้วยความรักการเขียนเข้าไส้ เขียนไปเสียทุกเรื่องที่สนใจ กว่าผลงานจะได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม ถูกโยนทิ้งตะกร้าไปก็เพียบ

จนกระทั่งปัจจุบันเขาผลิตงานเขียนอย่างต่อเนื่องหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กระดับอนุบาล ประถมศึกษา นิยายวิทยาศาสตร์ คู่มือสัตว์ทะเล ไปจนถึงธรรมะกับ ว. วชิระเมธี มีโปรเจกต์เขียนหนังสือ How-to ค้างเติ่งอยู่หลายเล่ม ทั้งยังเขียนคู่มือธรรมชาติให้ ททท. พร้อมไปกับบทบาทเชิงวิชาการที่เป็นงานหลัก ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าทุกวันนี้ไม่ว่าอยากเขียนอะไร ก็จะมีคนยินดีพิมพ์ให้

“นักเขียนมีหน้าที่ทำให้สำนักพิมพ์อยู่รอด ไม่ได้เขียนอย่างเดียว ตามใจตัวเองได้ แต่ต้องไม่เจ๊ง” คำพูดของธรณ์สะท้อนให้เห็นว่าเขาเข้าใจ “กลไกการตลาด” อย่างเข้มข้น กว่าจะมีงานเขียนชิ้นหนึ่ง ธรณ์ทำการบ้านมาอย่างหนักหน่วง ทั้งศึกษาคู่แข่ง และคนอ่านกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจว่า “ดีและขายได้” จนใช้เวลาเขียนเนิ่นนาน

เมื่อมีโปรเจกต์ในใจแล้ว ธรณ์จะสำรวจตลาดละเอียดยิบ เช่นในกรณีหนังสือท่องเที่ยว เขาจะตระเวนซื้อหนังสือทั้งไทยและเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนทั้งหมด อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เขาอ่านหนังสือพวกนั้นทุกเล่ม เพื่อศึกษาข้อมูลที่คนอื่นไปมาแล้วก่อนออกเดินทางจริง

หลังจากกลับมาเขียนแล้ว ธรณ์จะ “หมัก” ไว้อีกเป็นเดือน จากนั้นก็ย้อนกลับไปอ่านงานของคนอื่นทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อเสริมข้อมูล เติมลูกเล่นความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้หนังสือบางเล่มใช้เวลานานถึง 3 – 4 เดือน เช่น “มนต์รักหลังม่านเหล็ก” (4 เดือน) “บนเส้นทางสายน้ำแข็ง” (3 เดือน)

ไม่ใช่แค่เข้าใจการตลาด แต่ยังทุ่มเทแรงใจแรงกายทำทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งเขียนเอง ถ่ายภาพ และถ่ายทำหนังสารคดีเอง นอกจากนี้ยังกระโจนไปขายหนังสือที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จากที่ออกสตาร์ทครั้งแรกได้เงินแค่ 2 – 3 พันบาท จนกระทั่งทุกวันนี้ยอดขายในงานพุ่งหลายล้าน ผลพลอยได้คือการพบปะผู้อ่านและนักเขียนรายอื่นๆ ช่วยสั่งสมประสบการณ์
และ “Sense” ของตัวเองว่าหนังสือแบบไหนขายได้ ทำให้เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพล ถือเป็นนักเขียนที่สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ต้องเกรงใจทันที

แม้ทุกวันนี้ธรณ์ตั้งเป้ารายได้จากงานเขียนทุกประเภทซึ่งเป็นอาชีพเสริมเพียง 1 ล้าน 5 แสนบาทต่อปี และเป็นที่ยอมรับในวงการนักเขียน ทว่าธรณ์ก็ยังคงไม่ทิ้งบทบาทนักวิชาการ เพราะนั่นเป็นอาชีพหลัก และสร้างความเชื่อถือให้เขาในทุกวงการ

Profile

Name : ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
Education : ปริญญาเอก มหาวิทยาลัย James Cook, Australia
Career Highlights : อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
Lifestyle : อ่านหนังสือ ดูเพชรพลอย ซื้อของใช้แบรนด์เนม (กระเป๋า รองเท้า) รถแพงๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง BMW)
งานเขียนขายดีของธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ : หมวดทั่วไป – ใต้ทะเลมีความรัก (ความรู้เรื่องสัตว์ทะเล มีทั้งหมด 5 เล่ม เล่ม 4-5 เป็นการ์ตูน) ยอดขาย 12,000 เล่ม หมวดท่องเที่ยว – 12 เมืองเล็กน่าฮันนีมูน ยอดขาย 5 – 6,000 เล่ม (พิมพ์ครั้งที่ 2)