เปิดทางการ ผู้ค้าไทยเฮซื้อขายสินค้าผ่าน Facebook Page

ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เฟซบุ๊ก (Facebook) เจ้าพ่อเครือข่ายสังคมประเดิมให้ธุรกิจขนาดย่อมซื้อขายสินค้าและบริการบนเพจได้โดยตรงอย่างเป็นทางการ นักวิเคราะห์มองนี่คือก้าวสำคัญของเฟซบุ๊กในการผันตัวสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดให้กลุ่มองค์กรแบรนด์สินค้าและบริการเปิดเพจเพื่อบอกข้อมูลและสร้างพื้นที่สนทนากับลูกค้าบุคคลทั่วไป แต่ล่าสุด เฟซบุ๊กมองเห็นช่องทางที่แบรนด์หรือผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้จะสามารถซื้อขายสินค้าได้บนระบบเฟซบุ๊กโดยตรง ทำให้เฟซบุ๊กตัดสินใจให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าโดยให้ชื่อเรียกว่าส่วนร้านค้าหรือ Shop บนเพจ

เบื้องต้น ส่วน Shop จะเปิดให้ธุรกิจสามารถสร้างรายการสินค้าที่ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ง่าย ก่อนจะสามารถหยิบลงตระกร้าหรือคลิกเพื่อสนทนาซื้อขายสั่งจองบนโปรแกรม Messenger นอกจากนี้ยังมีส่วนบริการหรือ Services ที่แบรนด์สามารถบอกราคา ใส่รูปภาพ พร้อมคำบรรยายได้อย่างเสรี

559000007983503

ส่วนร้านค้า Shop นี้ถูกประเดิมทดลองให้บริการก่อนใน 10 ประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ไทย บราซิล เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย แม็กซีโก ฟิลิปปินส์ อินเดีย อาร์เจนตินา และไต้หวัน คาดว่าส่วนบริการใหม่นี้จะทยอยเปิดให้ใช้บริการทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้

ความเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงแสดงว่า ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีพื้นที่ในการสร้างธุรกิจมากขึ้น แต่ยังสะท้อนว่าเฟซบุ๊กมองเป้าการแทรกตัวเป็นผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริการ Messenger ที่เป็นช่องทางในการซื้อขายให้ธุรกิจรายย่อยอยู่แล้ว คาดว่ารูปแบบธุรกิจนี้ของเฟซบุ๊กจะถูกส่งเสริมในระยะยาว

559000007983504

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เฟซบุ๊กเลือกไทยเป็นพื้นที่ทดสอบบริการส่วนร้านค้าแห่งแรก โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ “ขนาดตลาดซื้อขายสินค้าบนโลกโซเชียลมีเดียที่ใหญ่มาก” คำยืนยันที่ชัดเจนมาจาก สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery ที่ระบุว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ เจคิว ปูม้านึ่ง ได้รับยอดสั่งซื้อสินค้ามูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านบาท ภายในหนึ่งวัน ซึ่งเป็นผลลัพธ์หลังจากการเพิ่มส่วนร้านค้าบนเฟซบุ๊ก

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้เฟซบุ๊กได้ส่วนแบ่งจากตลาดค้าขายออนไลน์ไทยไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมา มีการประเมินกันว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางตลาดอีคอมเมิร์ซ และอีเพย์เมนต์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปีหน้า เนื่องจากมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2.1 ล้านล้านบาท ที่ถูกประเมินสำหรับปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ชี้ว่า คิดเป็นอัตราเติบโตมากกว่า 3.65% เมื่อเทียบจากปี 2557

ด้านบริษัทวิจัยไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers) ที่ปรึกษาธุรกิจนานาชาติซึ่งลงมือสำรวจพฤติกรรมการช้อปออนไลน์ทั่วโลกช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามากกว่า 51% ของนักช้อปออนไลน์ในไทยซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย (จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยขณะนี้คือ 38 ล้านคน) สัดส่วนนี้สูงกว่าอินเดียที่คิดเป็นตัวเลข 32% หรือมาเลเซียที่คำนวณได้ 31% และจีน 27%

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000077310