เคทีซีประกาศผลงานครึ่งปีแรก ทำกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 17% อยู่ที่ 1,215 ล้านบาท พอใจผลการดำเนินงานทุกด้านเป็นบวก ทั้งปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ขยายตัว 15.4% สูงกว่าอุตสาหกรรม ยอดลูกหนี้รวมขยายตัว 12% คุณภาพพอร์ตลูกหนี้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของลูกหนี้รวมของบริษัทฯ ต่ำสุดในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.9% ส่วนฐานสมาชิกขยายตัวต่อเนื่องทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากความชัดเจนทางการเมือง และการขยายตัวของภาคเอกชนในบางธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ และการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และคาดหมายว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะดีดกลับมาดีขึ้น และส่งผลให้มีกำลังซื้อมากขึ้น”
“ในส่วนของเคทีซียังมีสถานภาพที่แข็งแรงในการสร้างรายได้ให้มีอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะต้องมีการเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทภายนอกในการใช้บริการติดตามทวงหนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ก็ยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน ทำให้ต้นทุนเงินทุนลดลง จึงเป็นผลให้เคทีซีสามารถทำกำไรสุทธิใน 6 เดือนแรกได้ 1,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 4.71 บาท ส่วนไตรมาส 2 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 580 ล้านบาท”
“สิ่งสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานออกมาเป็นที่น่าพอใจคือ การที่บริษัทฯ พยายามรักษาระดับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหากเทียบกับอุตสาหกรรมถือว่าบริษัทฯ เติบโตในทิศทางที่ดีกว่าทุกด้าน ทั้งปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวที่ 15.4% สูงกว่าอุตสาหกรรมซึ่งเติบโตที่ 8.0% จากกิจกรรมการตลาดที่จับทุกหมวดการใช้จ่ายที่จำเป็นต่อผู้บริโภคด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจและต่อเนื่อง ประกอบกับมีการบริหารจัดการด้านต้นทุน และการบริหารพอร์ตลูกหนี้ที่มีประสิทธิภาพ”
“ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทฯ มีพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 61,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ฐานสมาชิกรวม 2.8 ล้านบัญชี ขยายตัว 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น บัตรเครดิต 1,988,842 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 41,102 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 784,395 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 19,597 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมอยู่ที่ 1.9% ลดลงจาก 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย NPL บัตรเครดิตและNPL สินเชื่อบุคคล คงที่ระดับเดิมคือ 1.4% และ 1% ตามลำดับ”
“บริษัทฯ มีรายได้รวมไตรมาส 2 ปี 2559 เท่ากับ 4,285 ล้านบาท เพิ่มจากการขยายตัวของพอร์ตลูกหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น 12% ทำให้รายได้ดอกเบี้ย (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่มที่ 12% และรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มที่15% ขณะที่ค่าใช้จ่ายการบริหารงานเท่ากับ 1,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%จากค่าธรรมเนียมจ่ายที่เพิ่มขึ้น 28% ส่วนใหญ่จากการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทภายนอก ในการใช้บริการติดตามทวงถามหนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา ขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่ม 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 1% เมื่อเที่ยบกับไตรมาส 1/2559 ขณะที่บริษัทฯ มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 9% อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน ทำให้ต้นทุนเงินทุนลดลงจาก 4.04% ในไตรมาส 2/2558 เหลือเพียง 3.30% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้”
“ในไตรมาสที่ 2/2559 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) 25,290 ล้านบาท เป็นวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 7,260 ล้านบาท อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 5.62 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า”
“สำหรับแผนงานของเคทีซีในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อบรรลุเป้าหมายให้บริษัทฯ เติบโตอย่างยั่งยืน ในการทำธุรกิจเชิงรุกเข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อบุคคล ธุรกิจร้านค้า การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและออนไลน์ บริษัทฯ จะเพิ่มสัดส่วนสมาชิกบัตรเครดิตและออกแคมเปญการตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น เน้นกลยุทธ์รุกฐานสมาชิกกลุ่มบน (Premium) ที่มีศักยภาพด้านการใช้จ่าย และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตผ่านกลยุทธ์ POME (Point of Market Entry) ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความชื่นชอบและตัดสินใจสมัครเป็นบัตรใบแรกและคงอยู่กับเคทีซีในระยะยาว รักษาฐานสมาชิกในระดับกว้าง (Mass) สร้างสรรค์การตลาดแบบผสมผสานที่ครอบคลุมและพร้อมรับกระแสใหม่ๆ เพื่อให้บัตรเคทีซีเป็นบัตรหลักในการใช้จ่ายของผู้บริโภค”