สะกดลูกค้าต่างแดนด้วยดีไซน์เบียร์ทาวเวอร์

เมื่อ “เบียร์ทาวเวอร์” ขนาด 5 ลิตร (Beer Tower) กำลังกลายเป็นหนทางใหม่ในการสร้างแบรนด์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ผิดกฏิกาของภาครัฐที่ห้ามโฆษณา และเชื่อว่านี่คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดในการบุกต่างแดน เช่นกรณีของเบียร์สิงห์ ที่จัดประกวดออกแบบเบียร์ทาวเวอร์

หากใครเดินผ่านไปตามผับบาร์หรือลานเบียร์ ย่อมปฏิเสธได้ยากว่าเบียร์ทาวเวอร์ขนาด 5 ลิตร (Beer Tower) ช่างเป็นวัตถุสะดุดตา ด้วยลักษณะแปลกสูงเด่นเหมือนหอคอย กลบรัศมีเหยือกประทับตรายี่ห้อเบียร์ที่เราเห็นกันดาษดื่นให้ดูแสนจะธรรมดา

จุดนี้ทำให้บริษัทบุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์เบียร์ตราสิงห์และลีโอ มองเห็นพลังแห่งการออกแบบในการสร้างแบรนด์ผ่านเบียร์ทาวเวอร์ ด้วยการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบเงินทุนแก่นักศึกษาสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI) เพื่อโปรโมตแบรนด์ทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง มาปีนี้เสนอประกวดการออกแบบเบียร์ทาวเวอร์ ขนาด 5 ลิตร เป็นครั้งแรกเพื่อต่อยอดไอเดียนักศึกษาไปปรับใช้กับการทำในตลาดต่างประเทศ

โจทย์ของการออกแบบเบียร์ทาวเวอร์ ขนาด 5 ลิตรของเบียร์สิงห์นั้น อำพล ศรีวิสาตร์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2 ของบุญรอดเทรดดิ้ง เปิดเผยว่า ต้องสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และตรง “โพสิชันนิ่ง” การเป็นเบียร์ระดับพรีเมียมแห่งเอเชีย ขณะเดียวกันก็คง “เอกลักษณ์ของความเป็นไทย” อย่างครบถ้วน นอกเหนือไปจากการใช้งานได้จริง

นักศึกษาที่คว้ารางวัลชนะเลิศจนถึงอันดับ 3 ต่างก็สื่อสารด้วย “สีทอง” ของเบียร์สิงห์ที่ให้ความรู้สึกหรูหรามีระดับ ขณะที่รางวัลชนะเลิศและอันดับ 2 สื่อสารความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนด้วยดีไซน์เส้นสายอ่อนช้อย ทว่าที่ผลงานของภานุวัฏ ธัญญเจริญ คว้ารางวัลชนะเลิศไปเพราะการออกแบบนอกจากจะสวยและตอบโจทย์แบรนด์ได้ครบถ้วน ยังคำนึงถึงการใช้สอยจริง เบียดแซงคู่แข่งเข้าเส้นชัยตรงที่เบียร์ทาวเวอร์ทำมุมเอน 45 องศา เพื่อให้สะดวกในการรินเบียร์ แล้วยังเก๋ไก๋ ไม่ตั้งตรงเหมือนหอคอยทั่วๆ ไป

ส่วนอีกดีไซน์หนึ่งที่คิดนอกกรอบ หลุดไปจากเพื่อนๆ คือ LEO BLACK หรือเบียร์ดำลีโอ ภาสกร ตรงในธรรม เจ้าของผลงานให้เหตุผลของการแหกกฎว่ากลุ่มเป้าหมายเบียร์ลีโอเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตรงใจเขามากกว่า นอกจากจะชอบสีดำเพราะดู “แมน” ยังเห็นช่องว่างทางการตลาดว่ายังไม่มีเบียร์ดำท้องถิ่น นำมาสู่การออกแบบเบียร์ทาวเวอร์สีดำ พร้อมกับปรับเปลี่ยนโลโก้หัวสิงห์ใหม่ให้ดูเข้มกว่าเดิมให้สมกับที่เป็น “เบียร์ของผู้ชาย”

ผลจากความคิดริเริ่มของภาสกร ทำให้บุญรอดเทรดดิ้งต้องตบรางวัลพิเศษด้านความคิดสร้างสรรค์ให้ ทั้งหมดนี้บริษัทยอมรับว่าผลงานการออกแบบของนักศึกษานั้นยอดเยี่ยมเกินคาด นอกจากจะได้แนวคิดการออกแบบเชิดชูแบรนด์ในต่างประเทศ ยังช่วยให้บริษัทได้ไอเดียสร้างแบรนด์ใหม่ อีกด้วย

เกณฑ์ในการตัดสินรางวัล
1. ใช้งานได้จริง
2. สื่อได้ตรงคาแร็กเตอร์ของแบรนด์สิงห์ และความเป็นไทย
3. ให้ความรู้สึกเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมแห่งเอเชีย