ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นเทรนด์ของ Wearable หรืออุปกรณ์สำหรับสวมใส่ที่ช่วยดูแลด้านสุขภาพ มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และมีการออกกำลังกาย เข้าฟิตเนสเป็นประจำ
ตลาด Wearable ได้แบ่งเป็น 2 เซ็กเมนต์ใหญ่ๆ ก็คือ Basic Wearable ที่ช่วยในการออกกำลังกาย ได้แก่ แบรนด์ fitbit, Garmin, Misfit, Jawbone และ Huawei เป็นต้น และอีกกลุ่ม Smart Wearable สมาร์ทดีไวซ์ส่วนใหญ่เป็นจากค่ายของสมาร์ทโฟน ได้แก่ Apple, Samsung, Garmin และ Motorola
กลุ่ม Basic Wearable ยังเป็นตลาดใหญ่อยู่ มีตัวเลขจากทาง IDC เป็นยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 จำนวน 200,000 ชิ้น มีมูลค่า 930 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม Smart Wearable มียอดขาย 45,000 ชิ้น มีมูลค่า 630 ล้านบาท
แบรนด์ “ฟิตบิท” เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในกลุ่มเบสิกที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นประเทศที่ 38 ของโลก จาก 64 ประเทศที่ฟิตบิททำตลาดอยู่ ตอนนี้มีจำหน่ายทั่วโลกแล้ว 48.7 ล้านเครื่อง ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตในตลาดนี้ได้อีกมาก รวมถึงการขยายธุรกิจไปในกลุ่มลูกค้าองค์กรด้วย
เป้าหมายที่สำคัญของฟิตบิทก็คือเรื่องสุขภาพ ต้องการให้คนแอคทีฟมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น นอนหลับดีขึ้น และควบคุมน้ำหนัก แต่สเต็ปต่อไปของฟิตบิทนอกจากเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นเรื่อง “ไลฟ์สไตล์” และ “แฟชั่น” มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้หญิงให้มากขึ้น
การออกสินค้าใหม่ “ฟิตบิทชาร์จ 2” และ “ฟิตบิทเฟลกซ์ 2” นอกจากจะเป็นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องระบบการติดตามการเต้นของหัวใจ และอื่นๆ ยังมีการออกแบบให้มีความแฟชั่นมากขึ้น ฟิตบิทเฟลกซ์ 2 มีคุณสมบัติกันน้ำได้ 50 เมตร มีรูปลักษณ์ที่บางลง 30% และสายมีทั้งแบบคลาสสิก และเป็นกำไล ใส่เป็นเครื่องประดับได้
อเล็กซ์ ฮีลี่ย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และการบริหารผลิตภัณฑ์ ฟิตบิท กล่าวว่า “สินค้าที่มีอยู่ในพอร์ตก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้โฟกัสกลุ่มผู้หญิงเท่าไหร่ แต่ก็พบว่าบางกลุ่มมีผู้หญิงใช้เยอะ อย่าง Fitbit Alta ก็พบว่าพฤติกรรมของผู้หญิงจะเน้นเรื่องดีไซน์ เขาไม่ต้องการให้ใครรู้ว่ากำลังใส่เครื่องแทร็กกิ้งอยู่เพราะกลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่ากำลังลดน้ำหนัก เราเลยปรับดีไซน์ให้เป็นแฟชั่นมากขึ้น ใส่เหมือนเครื่องประดับ”
ปัจจุบันฟิตบิทแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกันคือ Everyday Fitness เป็นกลุ่มใหญ่สุด สำหรับการใช้งานเพื่อบันทึกข้อมูลการเดิน การนอน และการออกกำลังกายทั่วๆไป โดยในกลุ่มนี้จะมีผลิตภัณฑ์อย่าง Fitbit Alta และ Fitbit Flex ถัดมาคือ Active Fitness ที่จะมาช่วยให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมติดตามการออกกำลังกายตามไลฟ์สไตล์ในรุ่น Fitbit Blaze และ Fitbit Charge สุดท้ายคือกลุ่ม Performance Fitness ที่จะเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการออกกำลังกายแบบจริงจัง ในรุ่น Fitbit Surge
กลยุทธ์สำคัญต่อจากนี้ฟิตบิทต้องการสร้างรายได้จากการเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรต่างๆ มากขึ้น กลุ่มประกันชีวิตเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงที่สุด ในประเทศไทยได้นำร่องร่วมมือกับ AIA vitality เป็นการเปลี่ยนก้าวเดินให้เป็นลอยัลตี้ พอยต์ ภายในสิ้นปีหน้าฟิตบิทตั้งเป้าที่จะมีสัดส่วนรายได้จากองค์กร 10% และเป็นรายได้จากสินค้าคอนซูมเมอร์ 90%