จุฬาฯ เดินหน้าไม่หยุดกับเป้าหมายผลิตบัณฑิตคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน ก่อนหน้านี้ซุ่มผุดโครงการ ChAMP หรือ Chulalongkorn Alumni Mentorship Programเสริมความแข็งแกร่งด้านทักษะชีวิตให้กับนิสิตเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน จวบจนนิสิตที่เป็นผลิตผลโครงการ ChAMP จบออกไปโชว์ศักยภาพสร้างผลงานเด่นในภาคธุรกิจได้สำเร็จ จึงหวังขยายผลสู่คณะอื่นในรั้วมหาวิทยาลัย ตั้งเป้าเป็นโครงการต้นแบบที่จะเชื่อมโลกการเรียนกับ การทำงาน เพื่อการผลิตแรงงานคุณภาพตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพสูง ซึ่งต้องมีคุณสมบัติรอบด้านทั้งความรู้ความสามารถ และความเป็นผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและปรับกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตที่จบมีทักษะพร้อมสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ โดยโครงการ ChAMP เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่ตรงกันของคณาจารย์ กับศิษย์เก่าของคณะฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จวบจนปัจจุบันผลงานของ ChAMP ส่งผลให้นิสิต 4 รุ่นที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการมีเส้นทางอนาคตที่สดใส พร้อมเสียงตอบรับจากภาคธุรกิจที่ทำให้มั่นใจในการเดินหน้าส่งต่อแนวคิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา
“แม้ทุกมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ก็ช่วยได้ในด้านวิชาการเป็นหลัก ขณะที่นิสิตจำเป็นต้องมีคนที่มีประสบการณ์ตรงมาสอนให้รู้จักสร้างเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน และช่วยนำทางไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง ซึ่งโครงการลักษณะนี้ในต่างประเทศมีมาก แต่ประเทศไทย ChAMP เป็นโครงการแรกที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่รุ่นพี่ที่จบออกไปมาพูดให้น้องฟัง แต่มีการปฐมนิเทศเพื่อให้รุ่นพี่รู้หลักการในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่นน้อง ขณะเดียวกันนิสิตที่เข้าร่วมโครงการก็ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด” รศ.ดร.พสุกล่าว และเพิ่มเติมว่าผลงานในช่วง สี่ปีที่ผ่านมาของโครงการ ChAMP ทำให้นิสิตคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งทางคณะฯ เองก็ยินดีเปิดรับเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างเด็กที่จะจบไปทำงานในสายอาชีพด้านธุรกิจ อีกทั้งยังพร้อมให้การสนับสนุนหากคณะอื่นต้องการศึกษารูปแบบเพื่อนำไปจัดให้กับนิสิตของตนเองบ้าง
ทางด้าน สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ประธานโครงการ ChAMP กล่าวว่าในการคัดเลือกนิสิตเข้าร่วมโครงการ กรรมการจะทำการพิจารณาใน 4 ด้าน คือ เรียนเก่ง กิจกรรมเด่น แนวคิดน่าสนใจ และได้รับการแนะนำ ซึ่งนิสิตไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบทั้งสี่ข้อ แต่โดยภาพรวมแล้วต้องแสดงชัดถึงความตั้งใจในการผลักดันชีวิตไปสู่เป้าหมาย ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีผู้สมัครเข้ามาประมาณ 200 กว่าคนต่อรุ่น แต่ปัจจุบันโครงการสามารถรองรับได้ไม่เกิน 80 คนต่อรุ่น อันเนื่องมาจากรุ่นพี่ที่มาทำหน้าที่ Mentor มีไม่พอรองรับ
“เรากำหนดไว้เลยว่ารุ่นพี่ที่จะมาเป็น Mentor ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับผู้บริหาร หรือได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์เด็ก ให้เด็กมีประสบการณ์ และมีแรงบันดาลใจที่จะไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง ทำให้ต้องอาศัยรุ่นพี่ที่มีใจเสียสละสูง ซึ่งที่มีอยู่ในโครงการขณะนี้สามารถจัดให้รุ่นพี่ 2 คนดูแลน้อง 4-5 คนต่อกลุ่ม” สุรยุทธกล่าว
ประธานโครงการ ChAMP กล่าวต่อว่ากระบวนการ Mentorship มีระยะเวลาหนึ่งปีต่อรุ่น โดยตลอดหนึ่งปีจะมีกิจกรรม Mentoring อย่างเป็นทางการ 12 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีเป้าหมายแตกต่างกันไป เช่น ครั้งแรกเน้นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง หลังจากนั้นจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งนอกจากการ Mentoring อย่างเป็นทางการ 12 ครั้งแล้ว น้องๆ สามารถติดต่อกับรุ่นพี่ได้โดยตรงเพื่อสอบถาม หรือขอคำแนะนำเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนอกสถานที่ จัดให้มีวิทยากรมาบรรยายในหัวข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนิสิตด้วย
บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด และหนึ่งใน Mentor โครงการ ChAMP กล่าวว่าโดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในระบบโค้ชชิ่งอยู่แล้ว เพราะที่เอสซีจีจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงตั้งแต่ย่างก้าวแรกของการทำงาน โดยพนักงานทุกคนจะมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำการทำงาน และการใช้ชีวิตในที่ทำงาน ซึ่งเขามองว่าระบบโค้ชชิ่งไม่เพียงช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ แต่ยังเป็นวิถีที่องค์กรใหญ่ๆ ใช้เป็นแนวทางในการเผชิญหน้ากับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจด้วย
“หลายองค์กรที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ แต่อยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบันเพราะมีเคล็ดลับคือการใช้ระบบโค้ชชิ่ง ซึ่งแม้แต่ผู้นำ หรือผู้บริหารระดับสูงก็ต้องมี Mentor ด้วย การเป็น Mentor ไม่ใช่การจับมือทำงาน แต่เป็นการให้ไอเดียความคิด ส่วนการปฏิบัติเป็นของแต่ละคน ซึ่งผมคิดว่าการมี Mentor ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น” บรรณกล่าว
ปัจจุบัน โครงการ ChAMP เริ่มก้าวสู่ปีที่ 5 มีนิสิตสนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่จำนวน Mentor ยังมีไม่มากพอรองรับ คณะผู้จัดโครงการ ChAMP จึงพยายามจัดกิจกรรมเสริมเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตทั่วไปที่พลาดหวังจากการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการได้รับคำแนะนำจากคนที่มีมุมมองความคิดดีๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ หรือรุ่นพี่ที่เป็น Mentor ของโครงการเอง นอกจากนี้คณะผู้จัดฯ ยังเชิญชวนให้รุ่นพี่ที่มีใจเสียสละมาแบ่งปันเวลาเพื่อสร้างนิสิตที่จะเป็นอนาคตของชาติร่วมกันด้วย