จับกระแส “ฟูดออนไลน์” ปั้นยังไงให้ได้เงินล้าน

นอกจากกระแสของฟูดทรักที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว “ฟูดออนไลน์” หรือร้านอาหารบนโลกออนไลน์ไม่ต้องพึ่งหน้าร้าน ก็เป็นอีกกระแสที่ต้องจับตา สามารถสร้างยอดขาย และตอบรับการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอาหารการกินมาแต่ไหนแต่ไร มีร้านอาหารที่มีหน้าร้าน รวมถึงสตรีทฟูดเกิดขึ้นริมถนนมากมาย แต่ด้วยเทรนด์ของโซเชียลที่บูมหนักในประเทศไทยมาหลายปี ทำให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขึ้นเป็น Social Commerce แต่ในยุคนี้ขายแค่สินค้าทั่วไปไม่พอ เพราะอาหารก็มีขายออนไลน์แล้วเช่นกัน

ร้านอาหารออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่าฟูดออนไลน์ เป็นร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านบนโลกออฟไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหน้าร้านหลัก โดยใช้การขนส่งแบบเดลิเวอรี ส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน แต่สามารถสร้างยอดขายได้หลักหมื่นหลักแสน บางร้านมียอดขายถึงหลักล้าน ประเภทของอาหารที่ขายมีหลายรูปแบบทั้งอาหารทะเล อาหารคลีน อาหารออแกนิก ขนมหวาน ผลไม้ และอื่นๆ อีกมากมาย

ความน่าสนใจของเทรนด์ฟูดออนไลน์จึงได้เกิดงานสัมมนาการตลาดภายใต้หัวข้อ “FOOD ONLINE MARKETING เผยสูตรลับจับเงินล้าน” โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการสำรวจทั้งจากผู้ประกอบการฟูดออนไลน์ และผู้บริโภคที่ใช้บริการฟูดออนไลน์

ตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่องทุกปีๆ มีประเภทร้านอาหารใหม่ๆ และแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอยู่เสมอ มีการคาดการณ์ถึงตลาดร้านอาหารในปี 2559 จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมูลค่า 382,000-385,000 ล้านบาท มีการเติบโต 1.9-2.7% จากปี 2558 โดยที่แบ่งเป็นร้านอาหารทั่วไป 70% และเป็นเชนร้านอาหารที่มีสาขาอีก 30%

แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบตามประสาคนเมือง และมีการอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมากขึ้น การประกอบอาหารทานเองก็ลดลง การไปใช้บริการร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้าก็ใช้เวลาเดินทาง การสั่งอาหารฟูดออนไลน์จึงเข้ามาตอบโจทย์ให้ใช้ชีวิตสะดวกมากยิ่งขึ้น ตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน อาหารจะทำการเดลิเวอรีมาส่งถึงบ้าน

ทำให้ฟูดออนไลน์เป็นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวรุ่งในวงการร้านอาหารที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงถึง 89-89.7% ซึ่งผู้บริโภคยุคนี้คุ้นเคยกับการชอปปิ้งออนไลน์อยู่แล้ว

จากการสำรวจในแง่ของผู้ประกอบการในการเข้าสู่ธุรกิจฟูดออนไลน์ได้อย่างไร หลักๆ แยกออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.มีอาวุธอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็คือมีสูตรอาหารจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ มีวัตถุดิบอยู่ในมืออยู่แล้ว จากนั้นจึงต่อยอดสร้างแบรนด์ขายผ่านออนไลน์ ส่วนรูปแบบที่ 2.ตามเทรนด์เห็นจุดต่าง ก็คือจับกระแสความนิยมของคนในยุคนี้อย่างกระแสเรื่องกินคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ จากนั้นก็นำมาสร้างจุดต่างในรูปแบบของตัวเอง

โดยที่ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนฟูดออนไลน์มากขึ้นได้แก่ 1.ไม่ต้องหาทำเลเปิดหน้าร้าน 2.สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงจากการลงโฆษณาในโซเชียลมีเดีย และ 3.ใช้เงินลงทุนในก้อนแรกไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการเปิดหน้าร้านทั่วไป ใช้เพียงแค่เงินทุนในการโปรโมตลงโฆษณาเท่านั้น

กลุ่มลูกค้าฟูดออนไลน์คือใคร

สำหรับผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่รู้จักร้านค้าส่วนใหญ่จากเฟซบุ๊ก 56% เป็นทั้งจากโฆษณาและเพื่อนแชร์ หรือแท็กมา จากช่องทางเว็บไซต์ 17% เป็นการค้นหาจากกูเกิล และจากอินสตาแกรม 9% จากการที่ติดตามดารา ผู้บริโภคจะทำการหาข้อมูลและทำการเปรียบเทียบเมนู ราคา จำนวนไลก์ และจำนวนเอ็นเกจเมนต์ของแต่ละร้านค้า เพื่อหาร้านที่ถูกใจมากที่สุดก่อนทำการซื้อ

แน่นอนว่าจากการซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ที่ไม่ได้เห็นสินค้าจริง ผู้บริโภคสะดุดตากับรูปภาพ 58% ชอบภาพอาหารที่น่ากิน และชอบรูปอาหารจริง จากรีวิว 26% ได้เห็นรีวิวจากคนที่เคยสั่งซื้อแล้วเกิดการคล้อยตามได้ และจากวิดีโอคลิป 9% เป็นแรงดึงดูดผู้บริโภคให้หยุดดูได้

info1_food_online

กลุ่มผู้บริโภคฟูดออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง 70% และเป็นกลุ่ม Gen Y 76% (รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen X 18% และ Gen B 6%) ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมชอบหาข้อมูลก่อนซื้อ ชอบอ่านรีวิว เชื่อเพื่อน ใส่ใจสุขภาพ กล้าลองของใหม่ และใจร้อน ไม่ชอบรออะไรนานๆ

นอกจากนี้ ผู้บริโภค 34% นิยมสั่งมาทานกับครอบครัวอยู่บ้าน เขามองว่ายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งมีความถี่ในการสั่ง 1-2 ครั้ง/เดือน

เหตุผลที่เลือกใช้บริการร้านอาหารออนไลน์อันดับหนึ่งได้แก่ ประหยัดเวลาในการเดินทาง 63% รองลงมา หาซื้อได้สะดวก อยากทดลอง สินค้าหายาก มีเอกลักษณ์ และเพื่อบอกต่อ ส่วนในเรื่องการชำระเงิน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 62% ชอบชำระเงินปลายทาง ด้วยเหตุผลที่ว่าสะดวก และอุ่นใจว่าได้อาหารแน่นอน

info2_food_online

7 ข้อเสริมแกร่งฟูดออนไลน์ต้องมี

นอกจากนี้ผลวิจัยได้สรุปกลยุทธ์ 7 ข้อ ในการช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับร้านอาหารออนไลน์ได้ด้วยสูตร SECRET ดังนี้ S-Search : ออกแบบการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านการใช้การเพิ่มประสิทธิภาพของการค้นหา (SEO) E-Emotional Value : เพิ่มจุดเด่นของสินค้าด้วยการเพิ่มมูลค่าด้านอีโมชันนอลเข้าไป C-Communication : ใช้การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ผู้อ่านจินตนาการถึงภาพอาหารได้พร้อมๆ กัน

R-Raw Material : ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ต้องดึงจุดเด่นของวัตถุดิบว่ามีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นความคุ้มค่า และคุณภาพ E-Essential Tools ใช้เครื่องมือการตลาดบนโลกออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้การใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว T-Team : บริการจัดการแรงงานคนในทีมอย่างเหมาะสม แบ่งหน้าที่ตามความถนัด และ S-Service : บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ ให้เกิดความประทับใจ

info3_food_online

ถอดกลยุทธ์ 3 แบรนด์ ปั้นยังไงให้ได้เงินล้าน

ภายในงานสัมมนายังมีการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารออนไลน์มาแชร์ประสบการณ์ และบอกถึงเคล็บลับในการสร้างแบรนด์ของตนเอง ได้แก่ อะเดย์ เฟรช, ล็อบสเตอร์แก๊งค์สเตอร์ และแต๊งก็อดอิทส์ออร์แกนิค โดยมาใน 3 ประเภทอาหาร ผลไม้, กุ้งล็อบสเตอร์ และอาหารออแกนิก

เริ่มต้นที่ ภูริภัทร์ ปิตกานันท์” ผู้ก่อตั้ง ล็อบสเตอร์แก๊งค์สเตอร์ (Lobster Gangsters) บริการอาหารทะเลระดับพรีเมียมทั้งแบบสดและปรุงสุก มียอดขายเฉลี่ย 1.5 ล้านบาท/เดือน มีจุดเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์นี้มาเพราะได้ไปต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่าอาหารทะเลที่ออสเตรเลียอร่อย หาทานไม่ยาก แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้วหาทานยาก ต้องเข้าเมือง ต้องหาที่จอดรถ ต้องแต่งตัว เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าจะหาอะไรที่มันตอบโจทย์ สั่งอาหารแล้วมาส่งให้เราได้

“หลังจากที่เริ่มมีไอเดียทำธุรกิจนี้ก็เริ่มต้นจากที่เราต้องติดต่อว่าในประเทศไทยใครเป็นผู้นำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์บ้าง ก็แวะไปหาเขา ไปดูสต๊อก ดูวิธีการทำงาน แล้วลองสั่งของเขามา แต่ด้วยเป็นของพรีเมียมการสั่งของต้องมีขั้นต่ำ 10-20 กิโลกรัม ก็คิดหนักอยู่เหมือนกัน เป็นปัญหาในช่วงแรกเลย เพราะตอนแรกยังไม่มีลูกค้า ก็เลยระดมเพื่อนๆ ให้ลองสั่งกันก่อน”

lobster
ภาพจาก : https://www.facebook.com/LobsterGangsters/photos_stream

การตลาดก็เน้นในส่วนออนไลน์ในการลงโฆษณา ภูริภัทร์ได้บอกว่าความสำเร็จของการทำการตลาดออนไลน์ที่แตกต่างจากสื่ออื่น ก็คือสามารถวัดผลได้เลยทันที ลงทุนไม่เยอะ เงินทุกก้อนที่ลงไปในออนไลน์ทำให้เราเห็นได้ทันทีว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า

ในปัจจุบันก็มีการผสมผสานการทำตลาดช่องทางออฟไลน์เพิ่มเติมบ้าง อย่างไปออกงานเทศกาลฟูดแฟร์ต่างๆ แต่ไม่ได้เน้นการขาย เน้นการโปรโมตเพื่อให้เข้าถึงคนในวงกว้าง แต่ก็จะมีโปรโมชันสำหรับในคนมาซื้อออนไลน์มากกว่าอยู่ดี

สำหรับแบรนด์ “แต๊งก็อดอิทส์ออร์แกนิค (Thank God It’s Organic)” อาหารออแกนิกที่กำลังเข้ากับกระแสรักสุขภาพในตอนนี้ มียอดขายเฉลี่ย 3-4 แสนบาท/เดือน “ฤดีวรรณ โต๊ะทอง” ผู้ร่วมก่อตั้ง แต๊งก็อดอิทส์ออร์แกนิค เป็นคนชอบทานอาหารประเภทนี้อยู่แล้ว บวกกับมองเห็นเทรนด์อาหารรักสุขภาพมาแรง แต่ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นอาหารคลีนที่กระบวนการอาจจะแค่เอาไปต้ม หรือตุ๋น แต่ออแกนิกจะลึกไปกว่านั้น ซึ่งในตลาดมีน้อยมากที่เคลมว่าวัตถุดิบจากต้นทางปลอดสารพิษ เลยไปหาวัตถุดิบที่เป็นออแกนิกมาปรุงอาหาร

“ความฝันของเราตอนแรกเราอยากทำอาหารออแกนิกที่สะอาดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง แต่ก็มีอุปสรรคบ้าง วัตถุดิบสะอาด ต้องพึ่งฤดูกาลบางวัตถุดิบก็ราคาแพงเมื่อไม่ใช่ฤดูกาลของมัน วิธีการทำต้องสะอาด แพ็กเกจสะอาดก็เลยเลือกใช้ปิ่นโต เขาจะทิ้งไม่ได้ต้องล้างแล้วส่งให้เรา เลือกใช้วิธีการส่งด้วยจักรยาน ซึ่งถ้าส่งด้วยมอเตอร์ไซค์จะเร็ว พอใช้จักรยานพอเจอหลุมเจอบ่อ อาหารก็อาจจะไม่เหมือนเดิมตอนที่จัดแล้ว มันมีอุปสรรคตลอดทางเลย”

thak
ภาพจาก : https://www.facebook.com/Thank-God-Its-Organic-506606512846107/

จุดเริ่มต้นในการทำการตลาดของแบรนด์นี้ก็เริ่มจากโซเชียลมีเดียเช่นกัน แต่ว่ามีจุดแข็งที่ทีมงานทำงานด้านโฆษณาอยู่แล้ว เลยมีความชำนาญด้านนี้ ใช้จุดเด่นของทีมงานทำวิดีโอเอง เพื่อบอกเล่าที่มาของแหล่งวัตถุดิบ ให้คนรู้จักร้าน

ฤดีวรรณ เสริมว่า “รูปภาพสำคัญมาก เพราะคำว่าออแกนิกอาจจะยากเกินไปสำหรับผู้บริโภค เขาต้องการรู้แค่ว่าอร่อยมั้ย เราเลยพยายามบอกว่ารสชาติเป็นยังไง วัตถุดิบที่ดีทำให้อร่อยได้ยังไง อย่าเพิ่งส่ายหัว ให้เข้าใจว่าไร้สารเคมี อย่าเพิ่งให้ความรู้หนักๆ ต้องค่อยๆ ป้อนข้อมูล ว่าไข่ได้มาอย่างไร ขั้นตอนต่างจากอาหาคลีนอย่างไร ใช้ข้อมูลที่สั้น แต่ต้องมีเฮดไลน์ ต้องเคลียร์ตั้งแต่หัวข้อ ถ้าเขาอ่านแล้วไม่ชอบก็ผ่านเลย เล่าเรื่องในลักษณะอีโมชันนอล”

สุดท้ายแล้ว ฤดีวรรณได้ให้เคล็ดลับว่า แบรนด์ต้องสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นให้ได้ เป็นโจทย์ที่ทำให้คนสนใจ ที่สำคัญอาหารต้องทานเองด้วย ต้องมีจุดร่วมระหว่างคนขายกับธุรกิจ ไม่ใช่แค่ว่าเห็นว่าธุรกิจนี้ดีแล้วทำ อย่างเทรนด์สุขภาพเราเห็นว่ามันดีจริง เพราะเราทดลองด้วยตัวเอง กินอะไรที่ปลอดสารเคมีก็ดีกับตัวเราเอง

ส่วนแบรนด์ “อะเดย์ เฟรช” บริการส่งผลไม้สดระดับพรีเมียม มียอดขายเฉลี่ย 1.2-2 ล้านบาท/เดือน “ยุทธนา เทียนธรรมชาติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อะเดย์ เฟรช (aDay Fresh) ที่จากเดิมเป็นอดีตโปรแกรมเมอร์ แต่มีปัญหาด้านสายตา เลยออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง

ภาพจาก : https://www.facebook.com/adayfresh/photos/a.527201684076462.1073741828.527009044095726/869700783159882/?type=3&theater
ภาพจาก : https://www.facebook.com/adayfresh/photos/a.527201684076462.1073741828.527009044095726/869700783159882/?type=3&theater

“จุดเริ่มต้นในตอนนั้นก็คือเห็นแฟนนั่งจัดผลไม้อยู่ ก็เลยคิดว่าเอาผลไม้มาขาย แต่จะขายต่างจากคนอื่นยังไงให้อยู่รอดได้ จึงคิดทำเป็นเดลิเวอรี ตอนนั้นยังไม่รู้เทรนด์อะไรเลย ก็เลยเริ่มโปรโมตจากเฟซบุ๊กก่อน เพราะเชี่ยวชาญด้านไอที เคยขายของพวกแก็ดเจ็ดมาก่อนหน้านี้อยู่แล้วแต่ว่าแต่ก่อนเราไม่กล้าลงโฆษณาเลย แต่พอขายผลไม้จริงๆ ก็เลยลองลงทุนดูเริ่มต้นก้อนแรกที่วันละ 100 บาท ผลตอบรับก็ดีมาก สามารถคืนทุนได้เลยตั้งแต่วันแรก”

ผลไม้ หรืออาหารจะมีอายุสั้นอยู่แล้ว ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานบ้าง อย่างเรื่องการขนส่งมีกระแทกบ้าง ยุทธนาได้บอกว่ามันเป็นปัจจัยภายนอกแต่ก็ควบคุมได้ ถ้าเกิดปัญหาก็ทำการคุยกับลูกค้าว่าจะเอาของใหม่ให้ ต้องตอบคำถามลูกค้าให้ดี บริการถึงใจ รับประกันคุณภาพ อย่างถ้าสตรอเบอรีขึ้นรา 2 ลูก ก็ทำการเคลมให้ทั้งลังเลย ต้องสร้างความประทับใจให้ลูกค้า ถ้าลูกค้าประทับใจเขาจะบอกต่อให้ได้ มันคุ้มกว่าการลงโฆษณาอีก

info4_food_online

info5_food_online