ในหลวงรัชการที่ ๙ ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์มานานนับ 70 ปี ผู้คนต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ และมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ หากท่านใดต้องการปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ท่านสามารถนำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้น้อมนำหลักการตามแนวพระราชดำรัส ของที่เหมาะสม ซึ่งรวบรวมโดย สำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางสำหรับคนทำงานดังนี้
1. ต้องระเบิดจากข้างใน
จะทำการใดๆ ต้องเริ่มจากคนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจ และอยากทำ ไม่ใช่การสั่งให้ทำ คนไม่เข้าใจก็อาจจะไม่ทำก็เป็นได้ ในการทำงานนั้นอาจจะต้องคุย หรือประชุมกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือคนในทีมเสียก่อน เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายและวิธีการต่อๆ ไป
2. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก
เมื่อต้องแก้ปัญหา ควรมองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่เมื่อจะลงมือแก้ปัญหานั้น ควรมองในสิ่งที่คนมักจะมองข้าม แล้วเริ่มแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ ก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงค่อยๆ ขยับขยายแก้ไปเรื่อยๆ ทีละจุด เราสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้โดย มองไปที่เป้าหมายใหญ่ของงานแต่ละชิ้น แล้วเริ่มลงมือทำจากจุดเล็กๆ ก่อน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แก้ไปทีละจุด งานแต่ละชิ้นก็จะลุลวงไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
3. ทำตามลำดับขั้น
เริ่มต้นจากการลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นก่อน เมื่อสำเร็จแล้วก็เริ่มลงมือสิ่งที่จำเป็นลำดับต่อๆ ไป ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง ถ้าทำตามนี้ได้ งานทุกสิ่งก็จะสำเร็จได้โดยง่าย
4. ทำงานแบบองค์รวม
ใช้วิธีคิดเพื่อการทำงานโดย วิธีคิดอย่างองค์รวม คือ การมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทุกสิ่งทุกอย่างมีมิติเชื่อมต่อกัน มองสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
5. ศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ
เมื่อจะลงมือทำงานหรือวางเป้าหมายต่างๆ ในการทำงาน จะต้องศึกษาข้อมูลทั้งเอกสาร ข้อมูลตัวเลข การสอบถามพูดคุย หรือข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน ประกอบเข้าด้วยกัน และจะต้องศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้ง เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และตรงตามความเป้าหมาย
6. การมีส่วนร่วม
เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น เพราะความคิดเห็นเหล่านั้นมีประโยชน์มาก จะสามารถเก็บความคิดทั้งหลายนั้น มาประมวลเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไปได้อย่างดี
7. ยึดประโยชน์ส่วนรวม
ในหลวงรัชการที่ ๙ ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “…ใครต่อใครบอกว่า ขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม อันนี้ฟังจนเบื่อ อาจรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เป็นเพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้…”
8. ประหยัด เรียบง่าย ทำให้ง่าย
ใช้หลักในการทำงานที่เรียบง่ายหรือทำให้ง่าย สามารถทำเองได้ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่ โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือทำอะไรให้ยุ่งยาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “…ให้ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกโดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติจะได้ประหยัดงบประมาณ…”
9. ขาดทุนคือกำไร
หลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรไทย “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
10. ความเพียร
การเริ่มต้นทำงาน หรือทำสิ่งใดนั้นอาจจะไม่ได้มีความพร้อม ต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่น ดังเช่นพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลาและไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ
11. เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ดำเนินไปบน “ทางสายกลาง” เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน
12. ไม่ติดตำรา
เมื่อเราจะทำการใดนั้น ควรทำงานอย่างยืดหยุ่นกับสภาพ และสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่การยึดติดอยู่กับแค่ในตำราวิชาการ
13. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจถึงธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ทรงมองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด โดยหากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ
14. ปลูกป่าในใจคน
การจะทำการใดสำเร็จต้องปลูกจิตสำนึกของคนเสียก่อน ต้องให้เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์กับสิ่งที่จะทำ
15. บริการรวมที่จุดเดียว
One Stop Service ที่ใช้ในปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้เกิน 20 ปีมาแล้ว ศูนย์ศึกษาพัฒนาหลายแห่งทั่วประเทศใช้หลักการนี้มานานหลายปีแล้ว
16. ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน
ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธ์ใจ
17. ทำงานอย่างมีความสุข
ทำงานต้องมีความสุขด้วย ถ้าเราทำอย่างไม่มีความสุข เราจะแพ้แต่ถ้าเรามี ความสุข เราจะชนะ สนุกกับการทำงานเพียงเท่านั้น ถือว่าเราชนะแล้ว หรือจะทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นก็สามารถทำได้
18. รู้ รัก สามัคคี
รู้ คือ รู้ปัญหา และรู้วิธีแก้ปัญหานั้น, รัก คือ เมื่อเรารู้ถึงปัญหา และวิธีแก้แล้ว เราต้องมีความรัก ที่จะลงมือทำ ลงมือแก้ไขปัญหานั้น, สามัคคี คือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่สามารถลงมือทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจกัน