เปิดแผนความร่วมมือ ‘อาลีบาบา – ซีพี’

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แจ็ค หม่า ประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญในธุรกิจช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างบริการธุรกรรมทางการเงินยักษ์ใหญ่จากจีน และไทย คือ แอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT Finacial) ผู้ให้บริการ อาลีเพย์ (Alipay) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการธุรกรรมทางการเงินของอาลีบาบา (Alibaba) กับ แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) บริษัทลูกของ แอสเซนด์ (Ascend)

ภายในงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ฮ่องกง นอกจากผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัทที่เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันแล้ว ประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ‘แจ็ค หม่า’ และ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็ได้บินด่วนด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวมาร่วมงานดังกล่าว

โดยปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดเผยถึงสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นของ ANT ภายใน Ascend Money ว่าอยู่ที่ 20% และมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนอีก 10% เป็น 30% ภายใน 2 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้มีการบอกมูลค่าการลงทุนในดีลนี้แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ยังระบุถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทางอาลีบาบา กรุ๊ป เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นอย่างมากในธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน และแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างประชากรจีนที่มีการใช้งานอาลีเพย์จำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นคือ ลูกค้า Alipay สามารถใช้งาน Alipay Wallet (กระเป๋าเงินออนไลน์) ในไทย ผ่านช่องการทำธุรกรรมของทาง Ascend Money ที่ปัจจุบันให้บริการผ่าน ทรู มันนี่ (True Money) ในประเทศไทยได้ทันที ขณะเดียวกันลูกค้าที่ใช้งาน True Money ก็สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบของ Alipay ได้เช่นเดียวกัน

‘เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบดังกล่าวเกิดขึ้น ลูกค้าของ True Money ก็สามารถนำบริการกระเป๋าเงินออนไลน์ของทรูไปใช้งานกับร้านค้าที่รองรับระบบการชำระเงินของ Alipay กว่า 80,000 ร้านค้าทั่วโลกได้ทันที รวมถึงร้านค้าในประเทศไทยที่ใช้บริการ True Money ก็สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าชาวจีนได้ด้วย’

ถัดมาคือในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี ข้างหน้า ทาง Ascend ที่มีโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยี ที่ ANT ใช้ มาประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจ FinTech ในประเทศไทย เพราะถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการวางรากฐานบริการธุรกรรมทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระะบบวิเคราะห์ความเสี่ยง การตรวจจับช่องโหว่ต่างๆจากการให้บริการ

ขณะเดียวกันก็จะนำความรู้ในแง่ของกลยุทธ์ในการทำตลาด การเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า รวมถึงแผนการตลาดของ ANT มาใช้กับทาง Ascend ที่จะต่อยอดการให้บริการอย่าง การสร้างรอยัลตี้ของฐานลูกค้าที่เป็นสมาชิก ก่อนจะพัฒนาเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย การลงทุน ธุรกิจประกันต่อไป

เนื่องจากปัจจุบัน ทาง Ascend Money ก็เริ่มมีปล่อยสินเชื่อให้แก่องค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย รวมถึงคู่ค้ารายย่อยในเครือซีพีที่ต้องการเงินหมุนเวียน ในการใช้จ่ายเพื่อเป็นคู่ค้าทางธุรกิจอยู่แล้ว ก็สามารถนำฐานลูกค้าตรงนี้มาต่อยอดจากระบบของ ANT ได้เช่นเดียวกัน

‘การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของลูกค้า (Data Analytics) เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ Ascend จะได้เรียนรู้จากพฤติกรรมการจ่ายเงินของเราในปัจจุบัน ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก วิธีที่ ANT คิด และตรงกับ Ascend คือในกระบวนการสร้าง คอมเมิร์ซ ลูป (Commerce Loop)’

สร้างแนวคิดใหม่จากรูปแบบการใช้สอยของลูกค้า

เนื่องจากปัจจุบัน การทำตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะแยกส่วนกันระหว่างการสร้างความเชื่อมั่น (Awareness) ผ่านการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ต่อมาคือการดึงความสนใจลูกค้า (Interest) ด้วยการออกโปรโมชันต่างๆ และสุดท้ายคือการทำรอยัลตี้โปรแกรม (Royalty Program) เพื่อตอบแทนลูกค้าที่เป็นสมาชิก

‘จริงๆแล้วทั้ง 3 ส่วนนี้ควรผสมเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการที่ให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าใหม่ๆผ่านแอป ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เจาะจงตัวบุคคล เพื่อสร้างความสนใจ ขณะที่ร้านค้าก็สามารถออกโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลได้ รวมถึงการสร้างระบบสมาชิกเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านแอป’

จากแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อสร้างคอมเมิร์ซลูป ที่จะเปลี่ยนวิธีที่คนใช้ในการทำอีคอมเมิร์ซ เพียงแต่ว่าในการทำรูปแบบดังกล่าวต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือผู้ให้บริการต้องพร้อม และตลาดก็ต้องพร้อมรับ เพราะถ้าทำเร็วเกินไป ผู้บริโภคไม่ใช้ ไม่สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า บริการก็จะไม่เกิด

‘ธุรกิจนี้ต้องการความเชื่อมั่นสูง ดังนั้นจึงเติบโตช้าในช่วงแรก แต่เมื่อลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เข้าถึงเริ่มมีความมั่นใจในการใช้งาน ก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยใช้ปรับตัวหันมาใช้งาน และจะเติบโตแบบต่อเนื่องต่อไป เพราะถือเป็นบริการที่สะดวกเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทำให้ลูกค้าค่อนข้างคิดหนัก กลัวว่าถ้าง่ายเกินไปจะทำให้เงินหาย’

ตอนนี้บริการทางการเงินยังอยู่ในรูปแบบของเวอร์ชัน 1.0 อยู่ คือเป็นบริการเฉพาะในแต่ละภาคส่วน แต่ในอนาคตเมื่อปรับเป็นเวอร์ชัน 2.0 ที่นำพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ามาวิเคราะห์ในการนำเสนอ ลูกค้าก็จะเห็นถึงมูลค่าเพิ่มที่ได้รับ และจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอลภายใต้แนวคิด ‘FinLife’

1_cp

Alipay ได้อะไร?

ส่วนในมุมของ ANT ก็จะมีการนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจการเงิน กับกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินจากธนาคาร (Unbank) ที่ Ascend มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากตลาดหลักของ Ascend อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา

‘ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนประชากรที่เข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินเพียง 60% เท่านั้น ในขณะที่อีก 40% ไม่มีบัญชีธนาคาร ทำให้เงินสดยังเป็นช่องทางหลักในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการเจาะตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติม’

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่วางไว้ให้ Ascend Money ต้องทำในการครองตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการเพิ่มจำนวนจุดรับบริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็น 5 แสนจุดภายในปี 2560 จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วราว 6 หมื่นจุด โดยแบ่งเป็นในประเทศประมาณ 2 หมื่นจุด และในต่างประเทศประมาณ 4 หมื่นจุด

‘การเพิ่มจุดบริการจะเน้นเพิ่มในประเทศที่ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการจากธนาคารได้ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ประชากรไม่มีบัญชีธนาคาร ดังนั้นเป้าหมายในการขยายตัวเกือบ 10 เท่าจึงไม่น่าเป็นปัญหา’

ขณะเดียวกันในแง่ของจำนวนฐานลูกค้าที่ใช้งานก็ต้องเพิ่มขึ้น 10 เท่าด้วยเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันบริการ True Money มีลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานในระบบราว 20 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ใช้งานเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ประมาณ 4 ล้านราย ซึ่งมีลูกค้าที่ใช้งานประจำราว 7 แสนราย ก็ต้องเพิ่มลูกค้าที่ใช้งานประจำเป็น 7 ล้านราย ภายใน 1 ปีครึ่ง

ที่ผ่านมา Ascend Money มีมูลค่าเงินที่ผ่านระบบราว 7.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 30% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในระดับนี้ต่อไป โดยปัจจัยที่ทำให้เติบโตมาจากการที่มีจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการ เบื้องต้นได้เตรียมที่จะเพิ่มงบลงทุนในปีหน้าอีกเท่าตัวเป็น 2 พันล้านบาท จากที่ใช้ไปในปีนี้ราว 1 พันล้านบาท

เมื่อมองถึงภาพรวมแล้ว สิ่งที่ ANT ได้แน่ๆคือจำนวนฐานลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Ascend Money ที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้ Alipay มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มถึง 2 พันล้านรายใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีลูกค้าใช้งานอยู่ราว 450 ล้ายราย

ก้าวต่อไปของ Alipay

ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโส บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป เล่าให้ฟังถึง ความท้ายทายในการทำธุรกิจของ ANT ว่า มี 3 สิ่งหลักๆด้วยกัน คือเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินดิจิตอล ที่ผู้ใช้งานจะไม่ได้สัมผัสกับเงินสด ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องมีความมั่นใจในแง่ของระบบความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ

ต่อมาคือเรื่องของการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานเงินสดในหลายๆภูมิภาค ที่ยังใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยเป็นรูปแบบหลักอยู่ รวมถึงการเสริมช่องทางในการนำเงินสดเข้าสู่ระบบเงินดิจิตอลที่ต้องทำได้ง่าย และสะดวก สุดท้ายคือการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิตอล เพื่อให้ผู้ใช้มีแรงจูงใจในการที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงินสดเป็นเงินดิจิตอล

ดังนั้น แผนธุรกิจของ ANT คือการหาพาร์ทเนอร์ที่เข้าใจในตลาดของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นแผนการณ์สำคัญที่จะทำให้บริการ Alipay เป็นที่รู้จักในระดับโลก ด้วยการให้พาร์ทเนอร์ในแต่ละพื้นที่ สร้างรูปแบบการใช้งานธุรกรรมการเงินดิจิตอลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ขึ้นมา ด้วยการสนับสนุนในแง่ของเทคโนโลยี และความรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ

เมื่อเห็นถึงรูปแบบการทำธุรกิจดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ ANT หรือ อาลีบาบา ทำคือการสร้างธุรกิจให้แก่ผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ เปรียบเสมือนการแบ่งกันเติบโต เพื่อสร้างความสะดวกในการให้แก่ผู้ใช้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปคือ Ascend ที่เป็นบริษัทภายใต้เครือของซีพี จะนำรูปแบบดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจในไทยอย่างไรต่อไป

อ่านต่อ >> http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000110155