รับสายขายเพลง

ไม่ต้องแปลกใจถ้าโทรไปใช้บริการจากคอลเซ็นเตอร์ของโอปะเรเตอร์มือถือแล้วจะได้ยินเสียงพนักงานรับสายร้องเพลงให้ฟัง แถมยังพูดคุยสนุกสนานไม่ต่างจากดีเจบนคลื่นวิทยุ เพราะนี่คือบริการจากพนักงาน Call Center ของเอไอเอสที่ให้กับลูกค้าที่โทรมาขอใช้บริการโหลดเพลงรอสาย

“บางครั้งลูกค้าที่อยากดาวน์โหลดเพลง แต่รู้แค่ชื่อนักร้อง หรือจำเนื้อไม่ได้ รู้แค่ว่าเป็นเพลงประกอบละครเรื่องไหน พนักงานก็จะร้องให้ฟัง ลูกค้าเองก็สะดวกมากขึ้น ยิ่งพนักงานบางคนมีเทคนิคในการพูดคุย ความนิยมโหลดเพลงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น” สุรวัตร ชินวัตร ผู้บริหารดูแลเอไอเอส คอลเซ็นเตอร์ บอกเล่าถึงที่มา ทำให้เอไอเอสต้องเพิ่มพนักงานที่ให้บริการโหลดเพลงรอสายถึง 100 คน

นอกจากจีนแล้ว ผู้บริโภคชาวไทยก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่นิยมโหลดเพลงรอสายไว้ในเครื่องมือถือ จนทำรายได้ให้กับผู้ให้บริการรายนี้ได้ถึงเดือนละ 20 ล้านบาท จากลูกค้าที่ขอใช้บริการ 5 ล้านราย และยังเป็นบริการเสริมที่มียอดนิยมสูงสุดในเวลานี้

ด้วยรูปแบบการให้บริการที่ต้องรู้จักเพลงเป็นอย่างดี และมีลีลาที่เป็นกันเอง พนักงานบางคนถึงกับมี “แฟนคลับ” มานิยมชมชอบไม่ต่างจากดีเจคลื่นวิทยุ ผู้บริหาร Call Center ของเอไอเอส จึงได้ไอเดียเปิดบริการเป็นเรื่องเป็นราว ผ่านเลขหมาย 1175 กด * ที่เปิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะ

พนักงาน Call Center ในส่วนบริการนี้ ซึ่งมีประมาณ 70 คน ได้ใช้ชื่อตำแหน่งใหม่ว่า CJ ย่อมาจาก Call Center Jockey พวกเขาเหล่านี้นอกจากจะต้องรู้จักเพลงเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีลีลาการพูดคุยกับลูกค้าเป็นกันเอง เป็นภาษาเดียวกับลูกค้าวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่นิยมบริการนี้มากที่สุด

“พนักงานที่เป็น CJ จะไม่เหมือนคอลเซ็นเตอร์ปกติ เขาต้องมีวิธีการพูดโดยไม่ใช่ภาษาที่เป็นทางการ ต้องเป็นภาษาสนุกสนาน แทนที่จะใช้คุณกับผม ก็เปลี่ยนมาใช้คำแทนตัวว่านายกับเรา ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนเป็นเพื่อน อย่างลูกค้าบางคนโทรมาบอกแฟนขอเลิก CJ ก็ต้องรู้ว่าอารมณ์ไหน เพื่อเลือกเพลงให้เหมาะกับช่วงอารมณ์ของลูกค้า”

ทุกวันนี้ CJ แต่ละคนมียอดเฉลี่ยการโหลดเพลงรอสาย 180 เพลงต่อวัน เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่มียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 120 เพลงต่อวัน ยิ่งถ้าเป็น CJ ตัวแม่ หรือที่ฮิตมากๆ ซึ่งมีประมาณ 10 กว่าคน จะทำยอดเฉลี่ยได้ถึง 250 เพลงต่อวัน

เอไอเอสจะมีรายได้ที่มาจากค่าบริการรายเดือนที่เก็บจากลูกค้าในอัตรา 35 บาท และทุกครั้งที่โหลดเพลง ลูกจะเสียค่าใช้จ่ายราคาเพลงละ 9-25 บาท ขึ้นอยู่กับความนิยม โดยจะแบ่งให้ค่ายเพลงตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้

ลูกค้าแต่ละรายจะมีพฤติกรรมโหลดเพลงต่างกัน มีตั้งแต่นานๆ ครั้ง จนถึงสูงสุดเดือนละ 50 ครั้ง แต่ละครั้งที่โทรจะมียอดโหลดเพลงเฉลี่ยประมาณ 1.5 เพลง

ความนิยมของผู้ใช้บริการ บวกกับแรงเชียร์ของ CJ เหล่านี้ ผลต่อยอดโหลดเพลงรอสายที่เพิ่มขึ้น บทบาทของ CJ จึงไม่แพ้ดีเจวิทยุในยุคอดีต ยิ่งในยุคที่ค่ายเพลงต้องผจญกับปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน บริการดาวน์โหลดเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงเป็นความหวังใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลง

“ทุกวันนี้ ค่ายเพลงเดินสายนำศิลปินนักร้องทำกิจกรรมร่วมกับ CJ ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่โปรโมตอัลบั้มใหม่ให้กับดีเจวิทยุ หรือทีวี อย่าง ดาแอนโดฟิน หรือ มาช่า ก็เคยมาทำกิจกรรม เพราะ CJ เหล่านี้เขาสามารถเชียร์เพลงอะไรก็ได้”

ไม่น่าแปลกที่ชาร์ตเพลงฮิตของผู้ฟังจะเปลี่ยนจากแผงขายซีดี หรือรายการวิทยุ มาเป็นเสียงเพลงรอสาย

บริการดาวน์โหลดเสียงเพลงรอสาย

เอไอเอส
ค่ารายเดือน 35 บาท
ราคาต่อเพลง9-25 บาท
ลูกค้า 1 เลขหมายมีเพลงรอสายได้สูงสุด 8-10 เพลง

ทรู
ค่ารายเดือน – รายเดือน 35
ราคาต่อเพลง (ฟรี-20 บาท) ซื้อทรูมิวสิคซิม(ดาวน์โหลดเพลงไม่อั้น)
ลูกค้า 1 เลขหมายมีเพลงรอสายได้สูงสุด 10 เพลง

ดีแทค
ค่ารายเดือน 35 บาท
ราคาต่อเพลง 20 บาท
ลูกค้า 1 เลขหมายมีเพลงรอสายได้สูงสุด 9 เพลง