สร้างทักษะแรงงานไทย สู่เส้นทางแรงงานยุค AEC

การเปิดตลาด AEC ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและบุคคลเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากความเจริญทางเศรษฐกิจที่คืบคลานเข้ามา  BIG Impact ต่อตลาดแรงงาน คือโอกาสอันมหาศาลจากการที่ตลาดแรงงานจะขยายตัวจาก 60 ล้านคนเป็น 600 ล้านคน  เรียกได้ว่า  โอกาสในการเป็นแรงงานระดับAsean จะสูงขึ้นถึง 10 เท่า แต่สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันสูงขึ้นและสภาพสังคมที่มีวัฒนธรรมต่างๆ หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และควรจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี

ศักยภาพและความสามารถเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว คนทำงานจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าตนเองเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพ เมื่อเข้าสู่AEC การแข่งขันที่มีค่อนข้างสูง ทำให้หลาย ๆ คนจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้มากขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นการสร้างความมั่นคงในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าคุณมีความรู้ความสามารถเพียงใด

ทั้งนี้หลายคนคงต้องการแสวงหาความก้าวหน้าเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  และหากสบโอกาส  ก็อาจจะได้ไปไกลทำงานยังต่างประเทศ  ซึ่งจะนำมาสู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพ  โอกาสทางสังคม  รวมไปถึงรายได้และสวัสดิการที่ดีมากขึ้น  หากมองในมุมกลับกัน  เราก็ควรมีการพัฒนาตนเองและพร้อมตั้งรับมนุษย์เงินเดือนจากเพื่อนบ้านที่จะเข้ามาทำงานบ้านเราเช่นเดียวกัน การเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะในการยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง บทบาทหน้าที่ที่หลากหลายสู่การผสมผสานทักษะของคนทำงานจะทำให้ก้าวแรกสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนสายพันธุ์ AEC แมนพาวเวอร์ขอแนะวิธีสร้างทักษะมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ดังนี้

ด้านทักษะหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง 5 ด้าน

  1. ความพร้อมทางภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน
  2. ความชำนาญในทักษะเฉพาะด้านฝีมือแรงงานและการใช้เครื่องจักร
  3. ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดความคล่องตัวโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่
  4. ความรู้ความสามารถทางธุรกิจ  มีความเข้าใจธุรกิจและสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
  5. คุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องมีความรู้เชิงเทคนิคและประสบการณ์ในสายอาชีพ

ด้านทักษะรองที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต 5 ด้าน

  1. ความมีระเบียบวินัยที่ต้องพัฒนาและบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐาน
  2. การปรับตัวต่อองค์กรลูกผสมทั้งงาน สังคมและวัฒนธรรม
  3. การรักษามนุษย์สัมพันธ์อันดีเพื่อให้สามารถทำงานได้กับกลุ่มคนที่แตกต่างและหลากหลาย
  4. ความยืดหยุ่นต่อระบบและระเบียบท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
  5. ความเป็นมืออาชีพที่ต้องฝึกฝนและปรับใช้ให้เข้ากับทุกสถานการณ์

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่รอเวลาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ยิ่งเรามีความพร้อมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น นับวันโลกของเราจะยังเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ต่างชาติเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศของเรา หากเราไม่พัฒนาตนเองไปพร้อมๆกับโลกยุคใหม่ การดำรงชีวิตในอนาคตก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป สุดท้าย  เราควรต้องบูรณาการความรู้ ความสามารถ  รวมถึงการสร้างจิตสำนึกเพื่อใช้ในการบริหารจัดการตนเองจากมนุษย์เงินเดือนสายพันธุ์ AEC สู่ครอบครัว AEC และสังคม AEC ต่อไปให้ประสบความสำเร็จก้าวไกลไปพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางอาเซียน ความสำเร็จคือผลรวมความพยายามเล็กๆที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน