8 ปีทองของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไอทีอเมริกันภายใต้ยุคสมัยของบารัค โอบามากำลังจะผ่านไปสู่มือของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งล่าสุด นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าโลกไอทีในรัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 จะไม่เลวร้ายอย่างที่หลายคนกลัว ขณะที่บางเสียงมั่นใจว่ายุคมืดของไอทีอเมริกันกำลังจะเกิดขึ้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไอทีหวั่นใจในทรัมป์ คือภาพลักษณ์การเท่าทันโลกไอทีที่ต่างจากโอบามาโดยสิ้นเชิงของทรัมป์ ที่ผ่านมา โอบามาคือประธานาธิบดีคนแรกที่แต่งตั้ง “chief technology officer” หรือประธานฝ่ายเทคโนโลยีสำหรับประเทศ แถมโอบามายังถูกยกให้เป็นประธานาธิบดีที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากที่สุดในประวิติศาสตร์
โอบามาเทเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีของบริษัทขนาดเล็ก ขณะเดียวกันก็มีนโยบายพัฒนาการศึกษา อัดฉีดงานวิจัย รวมถึงการเอื้อประโยชน์เพื่อหนุนให้สหรัฐฯมีภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจไอที ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับทั้งฮิลลารี คลินตันและทรัมป์ ที่กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีเพียงเล็กน้อยมากระหว่างหาเสียง
แม้จะใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่คนไอทียังจำได้แม่นว่าทรัมป์คือผู้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันคว่ำบาตรแอปเปิล (Apple) เพื่อแก้แค้นที่แอปเปิลปฏิเสธไม่ยอมช่วยหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯแฮกไอโฟนของผู้ก่อการร้าย จุดนี้แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่เข้าใจความสำคัญของการรักษาสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้สินค้าไอที แถมยังแปลสิ่งที่แอปเปิลทำเป็นความเห็นแก่ตัว
นอกจากนี้ ทรัมป์ในวัย 70 ปีเคยใช้คำว่า “the cyber” เมื่อพูดถึงภัยโจมตีไซเบอร์บนเวทีหาเสียงครั้งหนึ่ง คำนี้ถูกชาวไอทีนำไปเสียดสีต่อเนื่องบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเป็นคำที่ให้อารมณ์เหมือนผู้เฒ่าผู้แก่เอ่ยเรียก “ไอ้เจ้าไซเบอร์” โดยระหว่างการปราศัยครั้งนั้น ทรัมป์แสดงวิสัยทัศน์ว่ากลุ่มแฮกเกอร์ที่จ้องเล่นงานระบบคอมพิวเตอร์ของทรัมป์เอง รวมถึงระบบของพรรครีพับลิกัน (RNC) และพรรคเดโมแครต (DNC) อาจมาจากประเทศใดก็ได้ หรืออาจเป็น “เจ้าอ้วนน้ำหนัก 400 ปอนด์” ก็ได้
ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ดูเหมือนว่าคนในอุตสาหกรรมไอทีสหรัฐฯที่มีบทบาทในซิลิกอนวัลเลย์ (Silicon Valley) นั้นรู้ตัวอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีนับจากนี้ โดยเมื่อกรกฏาคมที่ผ่านมา ผู้นำบริษัทไอทีกว่า 150 ชีวิตซึ่งมีรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิลอย่างสตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak), ผู้ร่วมก่อตั้งบริการ Reddit อย่างอเล็กซิส โอฮาเนียน (Alexis Ohanian), ผู้ร่วมก่อตั้งสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia อย่างจิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) และวินต์ เซิร์ฟ (Vint Cerf) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อเตือนให้ประชาชนรับรู้ว่า การเลือกทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯอาจจะนำหายนะมาสู่วงการนวัตกรรม โดยผู้บริหารในบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบางราย วิจารณ์ทรัมป์ว่ามีนโยบายขัดขวางการลงทุนโครงข่ายมากกว่าการสนับสนุน
โลกไอทีร้องไห้?
เรื่องใหญ่ที่คนไอทีอเมริกันและโลกกังวลกันประกอบด้วย 6 ประเด็น ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเนื้อหาช่วงหาเสียงของทรัมป์ และแนวคิดที่ทรัมป์เคยแสดงไว้จนทำให้คนไอทีมองทรัมป์ในแง่ลบสุดขีด เรียกว่าแค่นึกภาพก็อยากร้องไห้แล้ว แม้จะยังไม่มีประเด็นไหนเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นทางการ
ประเด็นแรกคือความเป็นกลางของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Net neutrality) เรื่องนี้เคยเป็นเรื่องใหญ่เมื่อครั้งการหาเสียงสมัยปี 2008 ซึ่งรัฐบาลโอบามาคือผู้มีบทบาทหลักในการควบคุมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ให้ทำตามแนวคิด Net neutrality ด้วยการให้บริการทราฟฟิกเพื่อเข้าถึงทุกเว็บไซต์อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีสิทธิ์ปิดกั้นหรือใช้เทคนิกทำให้บริการหรือแอปพลิเคชันใดทำงานล่าช้าลง
ทรัมป์ต่อต้านแนวคิดนี้ โดยมองว่าความเป็นกลางนี้ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม จุดนี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าในยุคสมัยของทรัมป์ สหรัฐฯอาจมีกฎหมายใหม่ที่ทำให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างบริการพิเศษ เพิ่มความเร็วให้กับผู้ให้บริการออนไลน์บางราย ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ลูกค้าได้รับความเร็วในการใช้บริการมากกว่าเดิม งานนี้มีความเสี่ยงที่เว็บไซต์เล็กซึ่งไม่ได้จ่ายเงินอาจต้องนั่งตบยุงเพราะเน็ตช้าทำให้คนเข้าน้อย
ประเด็นที่ 2 คือบรอดแบนด์ในสหรัฐฯอาจไม่คึกคัก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือทรัมป์มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการของเอทีแอนด์ที (AT&T) ที่พร้อมเทเงิน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐซื้อบริษัทบันเทิงใหญ่อย่างไทม์วอร์เนอร์ (Time Warner) โดยระบุชัดเจนว่าจะไม่อนุมัติการซื้อขายกิจการเพราะดีลนี้เป็นการรวบรวมอำนาจมหาศาลไปอยู่ในมือคนไม่กี่คน แม้ว่าดีลนี้จะทำให้สหรัฐฯมีพัฒนาการก้าวกระโดดในยุค 5G ก็ตาม
ประเด็นที่ 3 คือเรื่องความปลอดภัยและการเข้ารหัสข้อมูล ถึงวันนี้ ทรัมป์ยังไม่มีนโยบายจริงจังเพื่อรับมือเรื่อง Cybersecurity หรือการรักษาความปลอดภัยของโลกไซเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมา หลายองค์กรของสหรัฐฯถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ อินเทอร์เน็ตในบางรัฐถูกตัดขาด ยังมีระบบอีเมลที่ถูกแฮก ทั้งหมดนี้คนไอทีมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีความชัดเจนในนโยบายของทรัมป์เลย
ประเด็นที่ 4 คือการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และ STEM หรือที่ย่อมาจาก Science Technology Engineering and Mathematics Education จุดนี้ผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์นโยบายของทรัมป์ สรุปแล้วว่ารัฐบาลในช่วง 4 ปีข้างหน้าอาจถูกตัดงบประมาณจนทำให้โครงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับอัดฉีดเท่าที่ควร
ประเด็นนี้ยังครอบคลุมถึงการเติบโตของพลังงานทางเลือก เป็นเรื่องตลกไม่น้อยเมื่อทรัมป์พยายามหาเสียงจากประชาชนในอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยบอกว่าจะสร้างนโยบายพลังงานที่สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในประเทศมากขึ้น และจะมีมาตรการบีบให้บริษัทอเมริกันลดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่สร้างใหม่ได้ เนื่องจากมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนเติบโต
นี่เองที่ทำให้ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ถูกจับตามากขึ้น นโยบายที่ไม่สนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนนี้อาจมาในรูปการปรับลดเงินลดหย่อนภาษี (Investment Tax Credit) เหลือ 10% จากปัจจุบัน 30% จุดนี้มีการประเมินว่าความต้องการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ของชาวอเมริกันอาจลดลงถึง 60%
ประเด็นที่ 5 คือทรัมป์ต่อต้านการออกวีซ่าแบบ H-1B ซึ่งออกให้สำหรับวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่จะเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ การต่อต้านนี้อาจทำให้บริษัทไอทีสหรัฐฯต้องมองหาพนักงานที่เกิดภายในสหรัฐฯ เองแทน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากประเทศไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาป้อนตลาดแรงงานได้อย่างเพียงพอ
ประเด็นวีซ่านี้เป็นที่หวั่นใจกันมาก ชนะเลิศเหนือการไม่มีนโยบายสนับสนุน NASA ของทรัมป์ รวมถึงการไม่เห็นความสำคัญของงานวิจัย และการสนับสนุนการจดสิทธิบัตร
ประเด็นสุดท้ายคือภาษี ประเด็นนี้สำคัญที่สุดเพราะทรัมป์มีแผนลดภาษีนิติบุคคลลงเพื่อกระตุ้นให้บริษัทนำเงินกลับมาลงทุนในสหรัฐฯอีกครั้ง
ย้อนไปเมื่อปี 2004 รัฐบาลสหรัฐฯเปิดไฟเขียวให้บริษัทอเมริกันลงทุนในต่างประเทศบนความหวังให้บริษัทเหล่านี้นำกำไรจากต่างประเทศกลับมาจ้างงานคนอเมริกันให้มากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นเช่นนั้น ความมั่งคั่งถูกกักตุนไว้ที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเท่านั้น โครงสร้างนี้เองที่ทรัมป์ระบุว่าจะใช้กลไกภาษีเป็นตัวบีบยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนสร้างโรงงานในต่างประเทศ ให้กลับมาแบ่งปันความร่ำรวยให้คนอเมริกัน
มหาเศรษฐีทรัมป์ยังระบุว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขนานใหญ่ถึง 45% จุดนี้อาจเป็นไปได้ว่า จะมีการรณรงค์ให้ชาวจีนเลิกซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกา รวมถึง “ไอโฟน” สมาร์ทโฟนยี่ห้อดังด้วย
การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนนั้น รัฐบาลสมัยนายโอบามาก็เคยทำ และก็ได้รับการตอบโต้จากจีนไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นเป็นสงครามที่สองประเทศต่างเสียหายทั้งคู่ โดยกรณีของบริษัทที่จ้างประเทศอื่นอย่างจีนผลิตชิ้นส่วนให้ อย่างแอปเปิล มีการศึกษาว่าถ้าแอปเปิ้ลผลิตไอโฟนโดยใช้วัสดุและพนักงานจากในอเมริกาเองแล้ว ต้นทุนต่อเครื่องจะสูงขึ้นอีกประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
น้ำกระเพื่อมแล้ว
แม้จะยังไม่สาบานตนรับตำแหน่ง แต่วันนี้การได้รับชัยชนะของทรัมป์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วบนโลกไอที
หากไม่นับรวมจดหมายจากเหล่าซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีอเมริกัน ที่ขอให้พนักงานทุกคนทั้งชาวอเมริกันและต่างชาติมั่นใจในบริษัทแม้ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง รวมถึงจดหมายเปิดผนึกอื่น ๆ ที่ขอให้ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะเปลี่ยนแปลงระบบวีซ่าตามที่เคยหาเสียงไว้ ขณะนี้ความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นแล้วกับกูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก (Facebook) เพราะชัยชนะของทรัมป์
นักวิเคราะห์และสื่อบางส่วนป้ายความผิดให้เฟซบุ๊ก โดยมองว่าเจ้าพ่อเครือข่ายสังคมมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะ เพราะเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวปลอมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ข่าวปลอมอย่างโป๊บฟรานซิสให้การรับรองทรัมป์ หรือมูลนิธิของฮิลลารีบริจาคเงินล้านให้กลุ่มติดอาวุธ รวมถึงข่าวฮิลลารีซื้อบ้านราคา 200 ล้านเหรียญในมัลดีฟส์ ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวปลอมที่ปรากฏบนเฟซบุ๊ก จนชาวอเมริกันหลงเชื่อและกระตุ้นให้คนไปลงคะแนนเลือกทรัมป์
แม้จะปฏิเสธเสียงแข็งว่าข่าวบนเฟซบุ๊กไม่มีอิทธิพลถึงเพียงนั้น แต่มีข่าวว่าเฟซบุ๊กกำลังปรับปรุงระบบครั้งใหญ่ รวมพลพนักงานมากกว่า 10 คนเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ไม่เฉพาะเฟซบุ๊ก กูเกิลก็มีปัญหาข่าวปลอมเช่นกัน เพราะข่าวที่ติดในอันดับยอดนิยม Top-Ranking News ของกูเกิล จากการเสิร์ชหาด้วยคำว่า “Final election results” นั้นเป็นข่าวปลอมจากเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือกูเกิลประกาศจำกัดการนำเสนอโฆษณาบนเพจที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือบอก แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เฟซบุ๊กประกาศงดให้บริการโฆษณาบนเว็บไซต์ข่าวลวงเช่นกัน
นี่เป็นเพียงความเคลื่อนไหวระลอกแรก คลื่นสึนามิจะซัดมาในรูปแบบใดช่วง 4 ปีนับจากนี้ยังต้องรอดู
ที่มา : http://manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115081