ซิสโก้ ชี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการมาของฟินเทค ธนาคารต้องเร่งปรับตัวสร้างบริการดิจิตอลเพื่อช่วงชิงมูลค่าในตลาด ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงปิดกิจการ เผยการเติบโตของการใช้งานดิจิตอลแบงกิ้งของแต่ละธนาคารจะเพิ่มเป็น 10% ในปี 2561 จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ 4.5% ขณะที่ตัวเลขทั่วโลกระบุมูลค่าตลาดบริการดิจิตอลสูงถึง 405.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับมีบริการด้านการเงินเพียง 29%
ลูกค้าไทยใช้ดิจิตอล แบงกิ้งเพิ่มจาก 4.5% เป็น 10%
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธนาคารเป็น 1 ใน 4 ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการมาของดิจิตอล โดยอันดับ 1 ได้แก่ ธุรกิจไอที 2 ธุรกิจสื่อ 3 ธุรกิจค้าปลีก และธนาคาร
ธนาคารที่ให้บริการลูกค้ารายย่อยต้องปรับตัวสู่ดิจิตอลให้ได้ ไม่เช่นนั้น อาจจะเสี่ยงต่อการเลิกกิจการ ซึ่งปัจจุบัน ไอดีซี ได้ระบุถึงเปอร์เซ็นต์การใช้งานดิจิตอลแบงกิ้งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ในปี 2558 ลูกค้าของแต่ละธนาคารมีการใช้บริการดิจิตอล แบงกิ้งที่ 4.5% และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ขณะที่ในประเทศไทยก็เชื่อว่าจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่คาดว่าภายในปี 2561 สัดส่วนการใช้งานดิจิตอล แบงก์กิ้งในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.5% ได้ไม่ยาก
แบงก์ต้องปฏิรูปตัวเอง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญมาจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่แต่เดิมกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองให้กระจายไปสู่ชนบทอย่างเท่าเทียมกัน การมาของสตาร์ทอัปในกลุ่มฟินเทคที่จะมากระตุ้นให้เกิดการใช้งาน ซึ่งธนาคาร และสถาบันการเงินในประเทศไทยไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่กลับมองหาทางร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเพื่อต่อยอดในการสร้างแพลตฟอร์มให้กับสตาร์ทอัป
“ผลการสำรวจ และรายงานของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารแสดงให้เห็นว่า จำนวนการทำธุรกรรมดิจิตอลกับธนาคารในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าใน 5 ปีถัดไป ความท้าทายที่เกิดขึ้นทันที
สำหรับธนาคารในวันนี้ คือ การทรานส์ฟอร์มด้านดิจิตอล (Digital Transformation) และการทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร
ในขณะที่ธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยเริ่มมีการพัฒนากลยุทธ์ดิจิตอล และนำโซลูชั่นดิจิตอลมาปรับใช้ ซึ่งการทรานส์ฟอร์มด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีก็ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะแทนที่องค์กรจะมองว่า ภัยคุกคามเป็นภาระ องค์กรควรมองว่า ความปลอดภัยเป็นสินทรัพย์ที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นของลูกค้า เพื่อสร้างผลผลิตในระยะยาว ความล่าช้าในการริเริ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้ธนาคารมีมูลค่าความเสี่ยงมากขึ้น และอาจไม่สามารถอยู่ในระบบธุรกิจได้” วัตสัน กล่าว
ธนาคารปรับตัวช้า มีแค่ 27% เท่านั้นที่ปฏิรูปธุรกิจ
ขณะที่ เจมส์ ครองค์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม การบริการด้านการเงิน ซิสโก้ เปิดเผยถึงผลการศึกษาในปี 2558 ของศูนย์ปฏิรูปธุรกิจดิจิตอลทั่วโลก (Global Center for Digital Business Transformation หรือ DBT Center) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง IMD Business School และซิสโก้ ว่า ผลการสำรวจทั่วโลกพบว่า ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยชั้นนำ 4 จาก 10 แห่งจะถูกแซงหน้าโดยบริษัทที่ให้บริการด้านการเงินดิจิตอลในอีก 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม มีธนาคารเพียง 27% เท่านั้น ที่ดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการปฏิรูปธุรกิจของตนเอง ขณะมูลค่าตลาดที่ธนาคารจะมีโอกาสในการสร้างรายได้มีอยู่ถึง 14 ล้านล้านบาท (405.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่กลับพบว่า มีบริการด้านการเงินคิดเป็น 29% ของโอกาสดังกล่าว
โดยตัวอย่างการใช้งานโซลูชั่นดิจิตอลที่ว่า นี้สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอ การปฏิรูปบุคลากร การชำระเงินผ่านอุปกรณ์โมบาย พนักงานธนาคารแบบเสมือนจริง การให้คำปรึกษาโดยอ้างอิงการวิเคราะห์ข้อมูล การให้บริการโฮสติ้ง และแพลตฟอร์มที่พร้อมสร้าง Social Network เองแบบง่ายๆ (White-label service) โฆษณาที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน เป็นต้น
ไซเบอร์ซีเคียวริตีก็ยังคงเป็นอุปสรรค
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนทางไซเบอร์ซีเคียวริตีก็ยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอลในธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อย เพราะถึงแม้ว่าการปฏิรูประบบดิจิตอลจะก่อให้เกิดโอกาสมากมาย และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่ธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยยังคงดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิตอลอย่างเชื่องช้า
โดยผลการศึกษาของซิสโก้ ที่มีชื่อว่า “ไซเบอร์ซีเคียวริตีช่วยกระตุ้นการเติบโต” (Cybersecurity as a Growth Advantage) เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเงิน และสายงานธุรกิจทั่วโลก พบว่า 71% ของผู้บริหารเห็นพ้องต้องกันว่า ความเสี่ยง และภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอลภายในองค์กร
นอกจากนี้ 39% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ตนเองได้ระงับโครงการสำคัญ เนื่องจากข้อกังวลใจดังกล่าว และ 60% ยอมรับว่าองค์กรของตนลังเลที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ และบริการดิจิตอล เนื่องจากความเสี่ยงที่ตรวจพบ สำหรับโครงการดิจิตอลที่ถูกชะลอ ได้แก่ การให้บริการผ่านหลายช่องทาง การบริหารสินทรัพย์และการถ่ายโอนสินทรัพย์ บริการธนาคารและการชำระเงินผ่านอุปกรณ์โมบาย การให้บริการแบบ Self-service และการให้บริการแบบเวอร์ชวล
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115713