TPARK เดินหน้าขยายโลจิสติกส์พาร์คต่อเนื่อง เปิดตัวโครงการ TPARK ลำพูน ตั้งเป้าพัฒนาคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ พื้นที่ให้เช่ารวม 97,860 ตารางเมตร บนพื้นที่ 140 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2561 หวังรองรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัสดุก่อสร้าง และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่กำลังบูมในพื้นที่ภาคเหนือ ย้ำมั่นใจพื้นที่ลำพูนมีศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์สูง และดึงดูดเม็ดเงินจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทไทคอน ผู้นำด้านการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้เพื่อให้เช่ารายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า “กลุ่มไทคอน ได้เล็งเห็นสัญญาณการขยายตัวในเชิงบวกของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคเหนือมาเป็นระยะ เนื่องจากปัจจุบันภาคเหนือมีความสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยวัดจากดัชนีชี้วัดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของสินค้าและบริการ (Gross Regional Products หรือ GRP) ของภาคเหนือที่มีการเติบโตมาโดยตลอด สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจอุปโภคบริโภค ค้าส่งและค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub-regional Economic Cooperation : GMS-EC) ได้แก่ ประเทศกัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภาคเหนือมีความน่าสนใจในการลงทุน และเหมาะในการจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า ดังนั้น กลุ่มไทคอนจึงได้เริ่มทำการศึกษาศักยภาพของทำเลยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนจนตัดสินใจซื้อที่ดิน 140 ไร่ ในจังหวัดลำพูน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการโลจิสติกส์พาร์ค TPARK ลำพูน ในปี 2557 เนื่องจากเป็นทำเลศักยภาพที่สามารถรองรับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 1 และ 2 รวมถึงเป็นถนนสายหลักในการคมนาคมและกระจายสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วครอบคลุมจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางภาคเหนือได้อย่างมีศักยภาพ ตลอดจนยังสะดวกต่อการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ ลาว และตอนใต้ของประเทศจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มไทคอนยังมีแผนการขยายการลงทุนด้านโรงงานและคลังสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรมทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นอีก หากการตอบรับของลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้านโลจิสติกส์เป็นไปด้วยดี และมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าหากพิจารณาจากปัจจัยบวกในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างเต็มที่ของภาครัฐ และความร่วมมือในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็เห็นสัญญาณการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำพูนแห่งนี้แล้ว จึงมั่นใจว่า TPARK ลำพูนแห่งนี้จะเติบโตตามแผนการลงทุนของกลุ่มไทคอนอย่างแน่นอน”
ด้านนายแทน จิตะพันธ์กุล ผู้จัดการทั่วไป TPARK หรือ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด กล่าวว่า “โครงการ TPARK ลำพูน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการบนพื้นที่ 140 ไร่ และตั้งเป้าจะสร้างคลังสินค้าพื้นที่รวม 97,860 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2561 โดยจะมีคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ ขนาดตั้งแต่ 840 – 2,291 ตารางเมตร โดยมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โมเดิร์นเทรด สินค้าวัสดุก่อสร้าง และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่กำลังบูมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าเริ่มดำเนินงานภายในคลังสินค้าในโครงการ TPARK ลำพูน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีลูกค้าหลายรายให้ความสนใจเข้าชมโครงการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงการแห่งนี้อยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคเหนือ รองรับการผลิตสินค้าของโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์
สำหรับจุดเด่นของโครงการ TPARK ลำพูน คือ ทำเลยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนทางหลวงไฮท์เวย์หมายเลข 11 สายเชียงใหม่–ลำปาง ตั้งอยู่ห่างจากถนนวงแหวนรอบ 3 ของจังหวัดเชียงใหม่เพียง 10 กิโลเมตร ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 1 และ 2 และ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ (ลำพูน) รวมถึงโรงงานในบริเวณใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านี้ ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้โครงการ TPARK ลำพูน เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนรองรับกิจกรรมของอุตสาหกรรมในภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นประการที่สอง คือ คลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ หรือ Ready Built Warehouses (RBWs) ซึ่งเป็นการพัฒนาคลังสินค้าล่วงหน้าไว้รองรับความต้องการของลูกค้า บริการนี้ถือเป็นจุดเด่นให้กับ TPARK โดยลูกค้าสามารถเลือกคลังสินค้าคุณภาพสูงที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน และเข้าดำเนินงานได้ทันที อีกทั้ง คลังสินค้าได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งานเป็นหลัก และเน้นที่คุณภาพของการก่อสร้างอาคารให้ได้มาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำเป็นภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำการโครงการเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างใกล้ชิด
“การขยายธุรกิจคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังขยายตัวไปยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว TPARK ยังคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการให้บริการด้านคลังสินค้าที่มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ไปสู่ระดับมาตรฐานสากลที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ เช่นเดียวกับมาตรฐานคุณภาพคลังสินค้าและการให้บริการระดับ World Class ของ TPARK ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง” นายแทน กล่าวสรุป
เกี่ยวกับ TPARK
TPARK หรือ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ปัจจุบัน มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 19,500 ล้านบาท (ณ วันที่ 14 มี.ค. 59) เป็นบริษัทในเครือ TICON หรือ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยบริษัท TPARK เป็นบริษัทแห่งแรกของไทย ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Parks) และคลังสินค้าคุณภาพสูงสำหรับเช่า ทั้งประเภทคลังสินค้าพร้อมใช้ (Ready Built Warehouses: RBW) เพื่อให้ผู้เช่าดำเนินกิจการได้ทันทีและคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า (Built to Suit: BTS) นอกจากนี้ ภายในโครงการของ TPARK ยังได้ออกแบบและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น ด้วยมาตรฐานระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์
ปัจจุบัน TPARK มีโครงการตั้งอยู่บนทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ทั้งสิ้น 33 โครงการ และมีพื้นที่คลังสินค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมกว่า 1.4 ล้านตารางเมตร โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ดำเนินธุรกิจประเภทค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น