สำหรับยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ บางครั้งแล้ว การเจาะตลาดแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือพื้นที่ทุรกันดารอาจเป็นเรื่องง่ายกว่าการเจาะเข้าไปในประเทศจีนที่มีประชากรกว่า 2 พันล้านคนก็เป็นได้ โดยสิ่งที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ไอทีต่างหวั่นเกรง คือ มาตรการการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดของทางการจีนนั่นเอง แต่อาจไมใช่สำหรับเฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียชื่อดัง ที่ตอนนี้มีข่าวลือว่า บริษัทกำลังพัฒนาระบบคัดกรองข้อมูลที่จะเผยแพร่เพื่อเอาใจทางการจีน และเพื่อให้เฟซบุ๊ก สามารถเข้าไปบุกแดนมังกรได้อย่างสะดวกโยธินมากขึ้น
ผู้ที่ออกมาจุดกระแสครั้งนี้ คือ สื่ออย่างนิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างว่า มีแหล่งข่าวทั้งอดีตพนักงาน และพนักงานปัจจุบันของเฟซบุ๊ก เผยว่า เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์พิเศษบางอย่างอยู่เป็นการภายใน
นิวยอร์กไทม์ ได้ตั้งคำถามถึงเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์พิเศษ และเฟซบุ๊ก ตอบกลับมาแต่เพียงว่า อยู่ระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนให้มากขึ้น แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี สำหรับซีอีโอเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็มีความพยายามในการฝึกพูดภาษาจีนแมนดาริน อย่างมาก และเขาก็ได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมาแล้วด้วย
โดยปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานแล้วประมาณ 1.8 พันล้านคน และกำลังหาทางเพิ่มตัวเลขนี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับใช้เชื่อมต่อผู้คนจากทั่วโลกให้เข้าถึงกัน อย่างไรก็ดี การเข้าถึงพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญของบางทวีป อาจง่ายกว่าการเจาะตลาดจีน ซึ่งมีความลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เช่น การใช้งานเฟซบุ๊ก ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา จะเข้าใช้งานต้องเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย VPN (Virtual Private Network) เท่านั้น
แต่ถ้าหากเฟซบุ๊ก จะบุกประเทศจีนจริงๆ สิ่งหนึ่งที่อาจเพิ่มเข้ามา คือ การให้ Third Party ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานของจีน หรือบริษัทของจีน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเฟซบุ๊กด้วย
โดยรายงานจากบีบีซี กล่าวถึงความเป็นไปได้นี้ว่า “ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีการลบคอนเทนต์ที่เผยแพร่อยู่บนระบบตามคำร้องขอของรัฐบาลอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ซอฟต์แวร์ที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นจะต่างออกไป ซึ่งอาจเป็นการอนุญาตให้ Third Party อย่างบริษัทของจีนเข้ามาทำงานร่วมกับเฟซบุ๊ก เพื่อปกป้องข้อมูลบางอย่างไม่ให้ถูกเผยแพร่ออกไปได้นั่นเอง”
อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กไม่ใช่บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์รายแรกที่ต้องการเข้ามาเปิดตลาดในจีน เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายบริษัท เช่น กูเกิล (Google) LinkedIn ฯลฯ แต่ตอนนี้ กูเกิลได้ถอนตัว และหันไปหาฮ่องกง แทนแล้วเรียบร้อย โดยให้เหตุผลว่า มาจากการเซ็นเซอร์ผลการเสิร์ชของรัฐบาลจีนนั่นเอง
ส่วน LinkedIn ก็มีการเซนเซอร์คอนเทนต์บางส่วนเพื่อเอาใจทางการจีนเช่นกัน
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000117041