จับตาอนาคต ‘ซัมซุง’ เลิกขายพีซี-แยก 2 บริษัท

โบราณว่าวิกฤติมาโอกาสเกิด พิษไข้ ‘โน้ต 7’ ที่ทำร้ายซัมซุงมาระยะหนึ่งแล้วทำให้เจ้าพ่ออิเล็กทรอนิกส์สัญชาติกิมจิตัดสินใจลุกขึ้นมาผ่าตัดตัวเอง ประกาศปรับโครงสร้างตามคำแนะนำของบริษัทจัดการความเสี่ยงและแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น โดยอนาคตที่กำลังรอซัมซุงอยู่คือการแยกบริษัทออกเป็น 2 เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร ขณะเดียวกันก็อาจจะ ‘ตัดเนื้อร้าย’ ยกเลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทิ้งไป ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี

แม้จะยังไม่มีการประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวการตัดสินใจในเบื้องต้นครั้งนี้ของซัมซุงได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากซัมซุงเป็นบริษัทใหญ่ที่ทำเงินสะพัดมหาศาล คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของเกาหลีใต้ทั้งประเทศ

สำหรับธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซี สื่ออย่างไอบีที (International Business Times) รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า ซัมซุงกำลังเจรจากับเลอโนโว (Lenovo Group) ของจีน เพื่อขายทรัพย์สินในธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วยราคาประมาณ 1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 3.02 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่าซัมซุงสามารถทำเงินหรือสูญเงินจากธุรกิจพีซีเท่าใดในแต่ละไตรมาส สิ่งที่รับรู้กันคือซัมซุงหยุดจำหน่ายคอมพิวเตอร์พีซีในตลาดยุโรปช่วงปี 2014 เนื่องจากทนแรงแข่งขันกับเอชพี (HP) และเลอโนโว (Lenovo) ไม่ไหว นอกจากนี้ แม้จะยังทำตลาดในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย แต่ชื่อของซัมซุงก็ไม่ค่อยปรากฏบน 5 อันดับต้นของตารางที่บริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) หรือการ์ทเนอร์ (Gartner) เคยสำรวจ

ปัจจุบัน แบรนด์คอมพิวเตอร์วางตักที่ถูกจัดอันดับ Best Laptop Brands แห่งปี 2016 แบบเรียงลำดับ 1 ถึง 10 ได้แก่ แอปเปิล อัสซุส เดลล์ เอชพี เลอโนโว เอเซอร์ ไมโครซอฟท์ แล้วจึงเป็นซัมซุงที่ชนะโตชิบา และเอ็มเอสไอ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของซัมซุงในตลาดพีซีคือการออกแบบสินค้าใหม่ชื่อ ‘แกแล็กซี่ แท็บโปร เอส’ (Galaxy TabPro) ในฐานะคอมพิวเตอร์พกพา Windows 10 แบบทูอินวันซึ่งได้รับรางวัล Best of CES เมื่อครั้งนำไปแสดงในงานมหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แม้จะไม่มีใครวิเคราะห์ว่าเลอโนโวจะซื้อธุรกิจพีซีจากซัมซุงหรือไม่ แต่อย่างน้อยเลอโนโวนั้นมีสลักหลังเป็นผู้ที่หาจุดยืนในวงการพีซีได้เพราะการซื้อกิจการพีซีจากไอบีเอ็ม (IBM) ในปี 2005 จนทำให้ลูกค้ากลุ่มองค์กรธุรกิจพากันซื้อสินค้ากลุ่ม ThinkPads จากเลอโนโวนับแต่นั้นมา

วันนี้ เลอโนโวคือผู้ค้าคอมพิวเตอร์พีซีอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 20.9% รองลงมาคือเอชพีที่ 20.4%

%e0%b8%9c%e0%b8%a5

*** แยกเป็น 2 บริษัท

ข่าวลือเรื่องการขายธุรกิจพีซีของซัมซุงนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อซัมซุงยอมรับว่ากำลังพิจารณาปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ โดยเป็นการพิจารณาตามคำแนะนำของอีเลียตแมนเนจเมนต์ (Elliott Management) กองทุนความเสี่ยงสูงจากอเมริกันที่ถือหุ้นในซัมซุงราว 0.6%

สำนักข่าวโซลอิโคโนมิก (Seoul Economic Daily) รายงานไว้เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า Elliott ไม่เพียงเรียกร้องให้บริษัทเจ้าพ่อสินค้าไอทีสัญชาติเกาหลีใต้แยกบริษัทออกเป็น 2 แต่ยังต้องการให้ซัมซุงจ่ายปันผลด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นแก่ผู้ถือหุ้นด้วย โดยแถลงการณ์ของซัมซุง ระบุว่าบริษัทจะเพิ่มเงินจ่ายปันผลอีก 30% จากปีก่อน รวมอยู่ที่ราว 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,000 ล้านบาท)

แม้โครงสร้างใหม่จะทำให้ซัมซุงมี 2 บริษัทที่สามารถจัดการงานได้คล่องตัว โดยบริษัทหนึ่งสามารถจัดการกิจการดั้งเดิม ขณะที่อีกบริษัทจะสามารถลุยงานปฏิบัติการได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้เอื้อต่อการเติบโตที่เร็วกว่า แต่โครงสร้างใหม่ก็ถูกมองว่าเกิดขึ้นเพราะ 2 เหตุผล คือ เพื่อปรับโครงสร้างสับเปลี่ยนสายบริหาร และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น

ประเด็นแรกนั้นน่าสนใจ เพราะการแยกบริษัทเพื่อปรับโครงสร้างบริหารในซัมซุง ถูกมองว่าเป็นผลจากแรงกดดันของนักลงทุนที่ต้องการให้ปรับระบบบริหารจัดการซัมซุงเสียใหม่ หลังจากบริษัทพบปัญหากำไรลดฮวบ เพราะการเรียกคืน กาแลคซี่ โน้ต 7 (Note 7) โดยนักลงทุนวิจารณ์ว่า ครอบครัว และคนสนิทของผู้ก่อตั้งซัมซุง ซึ่งถือหุ้นส่วนน้อย กลับมีอิทธิพลในการบริหาร และตัดสินใจมาก

ที่ผ่านมา ซัมซุงเป็นบริษัทที่สืบทอดสายงานบริหารในครอบครัว ความจริงข้อนี้ยังไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน ซัมซุง จึงปรับโครงสร้างเพื่อให้รองประธานซัมซุง ‘ลี เจ-ยอง’ (Lee Jae-yong) บุตรชายของประธานลี คุน-ฮี (Lee Kun-hee) และบุตรสาว ลี บูจิน (Lee Boo-jin) และลี โซ-ฮุน (Lee Seo-hyun) มีอำนาจในการบริหารบนพื้นที่ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ข่าวนี้ทำให้หลายคนนึกถึงกูเกิล (Google) ที่ประกาศปรับโครงสร้างบริษัทด้วยการผุดบริษัทใหม่ชื่อ ‘อัลฟาเบ็ต’ (Alphabet) เมื่อปีที่แล้ว โดยดำเนินการอิสระแยกจากกูเกิล โดยบริษัทแม่อย่างกูเกิลลงมือเก็บธุรกิจที่สร้างชื่อมาอย่างเสิร์ชเอนจิ้น แอปพลิเคชั่นต่างๆ บริการยูทูป และแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ เอาไว้เอง ส่วนธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจสมาร์ทโฮมที่มาจากการควบรวมกิจการของ Nest, ธุรกิจโดรน และงานด้านการวิจัย และการลงทุน จะถูกย้ายไปดำเนินการภายใต้บริษัทใหม่ Alphabet แทน

*** เรื่องธรรมดา?

ต้องยอมรับว่าบริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายรายลงมือแยกบริษัทออกเป็น 2 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2014 เจ้าพ่อบริการออนไลน์ ‘อีเบย์’ (eBay) ประกาศแยกบริษัทเพย์พาล (PayPal) ออกไปเมื่อกันยายนปี 2014 ขณะที่เอชพี (HP) ประกาศแบ่งครึ่งบริษัทในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน

กรณีของเอชพี การแยกธุรกิจของบริษัทออกเป็นสองเกิดขึ้นเพื่อพลิกฟื้นบริษัท ให้สามารถเดินหน้าไปที่เป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้น ครั้งนั้นเอชพีแยกบริษัทแรกออกมาเป็นชื่อ ‘ฮิวเล็ตต์ แพกการ์ดเอนเตอร์ไพรซ์’ (Hewlett-Packard Enterprise) รับผิดชอบธุรกิจ เซิร์ฟเวอร์ ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์เครือข่าย และงานบริการลูกค้า และอีกบริษัทคือ ‘เอชพี อิงค์’ (HP Inc) รับผิดชอบธุรกิจพีซีและเครื่องพิมพ์ ทั้ง 2 บริษัทมีซีอีโอคนละคน

เช่นเดียวกับ eBay การแบ่งบริษัทออกเป็นสองคือ eBay และ PayPal นั้นจะทำให้มีซีอีโอ 2 คน ครั้งนั้น eBay ให้เหตุผลของการแยกบริษัทว่าเป็นเพราะธรรมชาติของธุรกิจ eBay และ PayPal นั้นแตกต่างกัน เมื่อสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป การแยกบริษัทจึงเป็นทางออกที่ดี

ไม่ว่าซัมซุงจะมีเหตุผลอย่างไร การแยกบริษัทไม่เพียงทำให้แผนกงานของบริษัทนั้นมีการเติบโตรวดเร็ว แต่รู้กันดีว่าการแตกบริษัทจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยกว่าในกรณีที่มีการขาดทุนหรือเหตุไม่คาดฝัน ซึ่ง Note 7 คือสัญญาณบอกเหตุได้ดีว่า หากซัมซุงแยกบริษัทออกไป ผู้ถือหุ้นซัมซุงจะไม่ได้รับผลกระทบมากมายอย่างที่เป็นอยู่

สำหรับวิกฤติ Note 7 ที่ทำให้ซัมซุงต้องหยุดจำหน่ายอย่างเป็นทางการนั้น ทำให้ซัมซุงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2016 ว่ากำไรในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์มือถือลดลงถึง 96% เหลือ 87.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,160 ล้านบาท เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปีของซัมซุง

ตัวเลขนี้ทำให้ผลประกอบการโดยรวมในไตรมาสนี้ของซัมซุงหล่นลงมาอยู่ที่ 5.20 ล้านล้านวอน หรือ 4.5 พันล้านเหรียญ ลดลง 2.19 ล้านล้านวอน ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาวะนี้ทำให้นักลงทุนบาดเจ็บถ้วนหน้า ซึ่งไม่แน่ พิษไข้นี้อาจไม่ทำร้ายทุกคนหากมีการป้องกันไว้ก่อนล่วงหน้า

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000120150