แบงก์กรุงเทพบนเส้นทางวิบากทีวีดิจิทัล

นอกจากบรรดาผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อลดลง เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 3 ปี ส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล ที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งงบโฆษณา จนทำให้บางช่องต้องยุติให้บริการไป ส่วนบางช่องก็ต้องควานหาผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่ออัดฉีดเงินเข้ามา เช่น กรณีของค่ายอมรินทร์ที่ได้ เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาร่วมหุ้น และช่อง ONE ที่ได้เครือปราสาททองโอสถ เข้ามาถือหุ้น

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการออกค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ซึ่งในจำนวน 3 สถาบันการเงินที่ปล่อยแบงก์การันตีให้กับทีวีดิจิทัล ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา คิดเป็นมูลค่า 31,580 ล้านบาท

แน่นอนว่าการถือกำเนิดของทีวีดิจิทัลที่ไม่เพียงแต่เป็นโอกาส แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้สถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพมองเห็นโอกาสจากสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่ จนเป็นที่มาของการออกแบงก์การันตีให้กับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 14 ราย จากจำนวน 24 ราย รวมมูลค่า 21,600 ล้านบาท 

ไทยทีวีเจ๊ติ๋มวิบากแรกแบงก์กรุงเทพ

แต่เมื่อเส้นทางของทีวีดิจิทัลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อบางช่องต้องประสบปัญหารายได้ อย่างกรณีของ บริษัท ไทยทีวี ของค่ายทีวีพูล ที่ชนะประมูลมาได้ 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และช่องโลก้า ด้วยเงินประมูล 1,976 ล้านบาท แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าประมูลงวดที่ 2 จนต้องขอเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องไปแล้ว ภาระหนี้ดังกล่าวต้องตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ออกหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 1,634.40 ล้านบาทไปให้กับไทยทีวี

ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คฟ้อง 2,500 ล้านบาท

ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ เมื่อฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย ยื่นเรื่องต่อศาลที่ฮ่องกง และไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ เรียกค่าเสียหายมูลค่า 2,500 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย กรณีที่ไม่จ่ายแบงก์การันตีค้ำประกัน ค่าลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัทซีทีเอช ที่ได้เลิกกิจการไปแล้วแต่ไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์

word_icon

เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี ซึ่งการผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง

word_icon2 นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาพเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าว

แบงก์กรุงเทพยันไม่จ่าย ระบุฟ็อกซ์ผิดสัญญา

ทางด้าน คณิต สีห์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “ธนาคารกรุงเทพ” ปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพทำให้บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีทีเอช” ไว้ โดย ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์คกรุ๊ป เอเชีย หรือ “ฟ็อกซ์” เป็นผู้รับประโยชน์ในฐานะคู่สัญญากับซีทีเอช

ขอชี้แจงว่า ธนาคารกรุงเทพได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันซีทีเอช ให้ไว้กับฟ็อกซ์จริง โดยมีเงื่อนไขว่า หากซีทีเอชผิดสัญญาที่ซีทีเอช ทำไว้กับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพจึงจะจ่ายเงินให้ฟ็อกซ์ ซึ่งสัญญาที่ซีทีเอชทำกับฟ็อกซ์ ธนาคารกรุงเทพมิได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจึงไม่ใช่คู่สัญญากับฟ็อกซ์โดยตรง ฟ็อกซ์เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพทำให้ไว้ ทั้งนี้ ซีทีเอชได้ยืนยันกับธนาคารกรุงเทพว่า ฟ็อกซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

เนื่องจากขณะนี้ฟ็อกซ์ได้ยื่นฟ้องซีทีเอช และธนาคารกรุงเทพ ต่อศาลชั้นต้นที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพจึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การให้ข้อเท็จจริง หรือความเห็นที่มีลักษณะเป็นการชี้นำแก่ศาล อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล และเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณีที่ฟ็อกซ์ฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “จีเอ็มเอ็ม” และธนาคารกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าต่างประเทศกลาง ข้อเท็จจริงก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของซีทีเอช

คดีความการฟ้องร้อง คงต้องใช้เวลาไปอีกพักใหญ่ ส่วนแบงก์กรุงเทพจะต้องจ่ายเงิน 2,500 ล้านบาทหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกันต่อ รวมทั้งแบงก์กรุงเทพต้องลุ้นด้วยว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่แบงก์ออกแบงก์การันตีไปให้ ต้องประสบกับปัญหาเหมือนอย่างที่เกิดมาก่อนหน้านี้

info_tv