สถานการณ์ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า โลกของเรากำลังมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษก็เพิ่มความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเห็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยมลพิษในรถยนต์เข้ามาใช้มากขึ้น แต่จะมีนวัตกรรมเพื่อท้องถนนใดบ้างที่จะเข้ามารับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมนี้
ศาสตราจารย์ จอห์น รี้ด ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางมะตอยของเชลล์ กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีของยางมะตอย เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลกของเชลล์ที่บังกาลอร์ มีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าวิจัยลึกถึงระดับโมเลกุล เพื่อให้ยางมะตอยมีคุณสมบัติในการการสร้างถนนที่นอกจากจะแข็งแรงทนทานมากขึ้น และใช้งานได้ยาวนานขึ้นแล้ว ยังจะช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย”
“การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาของเรานั้น มีความมุ่งมั่นเพื่อพลิกโฉมพื้นผิวถนนปกติให้กลายเป็นพื้นผิวแบบอัจฉริยะเพื่ออนาคต เทคโนโลยีบางอย่างเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการพัฒนากว่าทศวรรษก่อนที่จะถูกนำออกมาสู่ตลาด แต่ก็มีที่เราสามารถนำออกมาใช้งานได้แล้ว เช่น เชลล์ บิทูเฟรช Bitufresh ผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาให้เป็นมากกว่าการกลบกลิ่นยางมะตอยด้วยการปนกลิ่นอื่นๆ เพราะ Bitufresh สามารถขจัดกลิ่นของยางมะตอยออกไปโดยใช้หลักการโครงสร้างทางเคมีโมเลกุล โดยสารประกอบใน Bitufresh จะเข้าไปจับตัวกับอนุภาค “mercaptans” (ตัวปล่อยกลิ่นยางมะตอย) ทำให้ตัวปล่อยกลิ่นมีน้ำหนักและความหนาแน่นมากขึ้นและจมลงสู่ด้านล่างจนไม่สามารถปล่อยกลิ่นออกมาได้” ศาสตราจารย์จอห์น รี้ด กล่าว
ศาสตราจารย์ จอห์นและทีมของเขา ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนถนนหนทางในโลกใบนี้ให้กลายเป็นพื้นผิวที่สามารถส่องสว่างได้ในความมืด สามารถชาร์จพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในขณะที่เราขับรถอยู่ และสามารถป้องกันการปล่อยมลพิษได้
ถนนอัจฉริยะในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีลักษณะอย่างไร?
ถนนเรืองแสง: ธุรกิจยางมะตอย บ.เชลล์ ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพ (การเรืองแสง หรือ ฟอสฟอเรสเซนซ์) ของพื้นผิวทางเท้า ในการทำให้เกิดแสงไฟโดยรอบและแสงแจ้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่ต้องเจอกับสภาพถนนที่เปลี่ยนไปหรือมีอันตราย ทั้งยังได้ร่วมมือกับผู้จัดหาวัสดุเรืองแสง (ฟอสฟอเรสเซนซ์) และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ในการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาสัดส่วนของยางมะตอยแบบผสมนี้
ถนนแหล่งกำเนิดไฟฟ้า: เชลล์กำลังทำงานร่วมกับเพฟเจน(Pavegen) บริษัทด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาวัสดุปูพื้นอัจฉริยะที่สามารถสร้างพลังงานได้จากการเคลื่อนไหวของคน และยังมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถจ่ายพลังงานกระแสไฟฟ้าให้กับยานพาหนะได้ นอกจากนี้เชลล์ยังมีแนวคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีนี้สามารถแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีหน้าที่กำกับดูแลหากถนนเกิดความเสียหาย เมื่อถนนเกิดการชำรุด แรงดันจากยานพาหนะจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนถึงความเสียหายที่จะตามมาได้
ถนนกรองอากาศ: อีกหนึ่งการนวัตกรรมที่ไม่ไกลเกินความจริง คือ พื้นผิวถนนที่สามารถกักเก็บสสารที่เป็นอันตรายได้ ยกตัวอย่างเช่น ไนโตรเจนออกไซด์ หรือ มลพิษในอากาศ โดยเชลล์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถดูดซึมฝุ่นละอองแบบ PM101เช่น ควัน เขม่า ละออง และสสารอื่นๆ ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซที่มาจากยานพาหนะ
1Particulate matter 10 (PM10) คือ ส่วนประกอบหลักในมลพิษที่คุกคามทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเรา มลพิษPM10 ประกอบด้วยของเหลวและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ล่องลอยในอากาศ สิ่งที่น่ากังวัล คือ อนุภาคที่มีขนาดเล็กนั้นเมื่อถูกสูดเข้าไปจะสามารถเข้าไปยังส่วนลึกที่สุดของปอดได้ อนุภาคเหล่านี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 10 ไมครอน หรือประมาณ 1 ใน 7ของความหนาของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ PM10(ข้อมูลจาก California Environmental Protection Agency Air Resources Board)