เงินไม่สะพัด คนไทย 80% คุมใช้จ่ายไตรมาส 4 งดเที่ยว ตปท. – ซื้อรถ

Kantar TNS ร่วมกับ Marketbuzzz ชี้ผลคนไทย 80% ควบคุมการใช้จ่ายในไตรมาส 4 ในขณะที่ผู้บริโภค 71% มีมุมมองเชิงบวกแม้เศรษฐกิจถดถอย กลุ่มมิลเลนเนียม 18-24 ปี ไม่ลดใช้จ่ายแต่หารายได้มากขึ้น แนะแบรนด์ต้องมุ่งช่วยเหลือสังคม

กันตาร์ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย (Kantar TNS) ร่วมกับมาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) ร่วมกันเผยผลสำรวจผู้บริโภคคนไทย จำนวน 1,000 คน พบว่า มีทัศนคติด้านบวกสำหรับอนาคตของประเทศ แม้ว่าดัชนีทางธุรกิจต่างๆ จะชะลอตัวลงในอนาคต ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559

ในภาพรวมประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะบอบบางจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่จากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในภาวะปัจจุบันอาจจะต้องมีการกระตุ้นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวไทยยังคงมีทัศนคติเชิงบวกแม้ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้

3 เรื่องที่คนไทยกังวล

การศึกษาของ Kantar TNS ประเทศไทย และ Marketbuzzz ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คนไทยเป็นห่วงและกังวลมากที่สุด คือ ราคาของสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำ อยู่ที่ 51% รองลงมาคือความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ อยู่ที่ 42% และอันดับสามคือ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศไทย อยู่ที่ 40%

80% คุมค่าใช้จ่าย

ในส่วนของการจับจ่ายใช้สอย คนไทยส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดย 80% บอกว่าจะควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และ 77% บอกว่าจะซื้อสินค้าเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ร. แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Marketbuzzz บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นว่าดีหรือไม่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหลักของ GDP ของประเทศสำหรับพฤติกรรมในการใช้จ่ายนั้น การศึกษานี้พบว่า อาหารและเครื่องดื่ม ของแห้ง และโทรศัพท์มือถือ เป็นสิ่งที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด

3 หมวดสินค้า ที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย

  1. การเดินทางไปต่างประเทศ (64% บอกว่าจะลดการใช้จ่ายลง หรือไม่มีแผนที่จะใช้จ่าย)
  2. การลงทุนใน LTF/RMF (60% บอกว่าจะลดการใช้จ่ายลง หรือไม่มีแผนที่จะใช้จ่าย)
  3. รถยนต์ใหม่ (52% บอกว่าจะลดการใช้จ่ายลง หรือไม่มีแผนที่จะใช้จ่าย)

กลุ่มมิลเลียนเนียม 18-24 ปี ยังเป็นความหวัง

ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รัดเข็มขัดมากขึ้น แต่กลุ่มมิลเลนเนียม (Millennials อายุ 18 – 24 ปี) เป็นกลุ่มเดียวที่จะหารายได้เพิ่มเติม โดยทำงานพิเศษหรืองานพาร์ตไทม์ เพราะไม่ต้องการลดการใช้จ่ายลง แต่จะแก้ไขด้วยการหารายได้เพิ่มเติมแทน งานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของสมาคมการตลาด (TMRS) ในปี 2559 ซึ่งพบว่า กลุ่ม Millennials ชอบความเสี่ยง และรักในการทำธุรกิจส่วนตัว โดยมีมุมมองว่า จะกำหนดอนาคตด้วยตัวเอง และใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ

คนไทยคิดบวก เชื่ออนาคตจะดีขึ้น

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 71% มองว่า อนาคตจะดีขึ้นหรือเหมือนเดิม แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงและกลุ่มอายุน้อย จะเข้าใจว่าการเปลี่ยนจะเกิดขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะกระทบกับพวกเขาอย่างไร ในขณะที่กลุ่มสูงอายุเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ไม่ค่อยกังวลกับผลกระทบที่จะตามมา

ดร. อาภาภัทร บุญรอด ประธานกรรมการบริหาร Kantar Insights ประเทศไทย เสริมว่า คนไทยมักจะฟื้นตัวจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมุมมองในเชิงบวก ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อาจจะยังไม่ดีมาก แต่คนไทยก็ยังคิดบวกเนื่องด้วยยังมีความหวังกับอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า สิ่งที่เราพบที่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์ และยังไม่เข้าใจกับผลกระทบต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมองโลกในแง่ดีก็ตาม

ฝากอนาคตกับ “ท่องเที่ยว

ปัจจัยที่ผู้บริโภคมองว่าดีขึ้นในอนาคต คือ การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ (46%) ธุรกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย (44%) และภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ (41%)

แนะแบรนด์ต้องเน้นช่วยเหลือสังคม

การวิจัยในครั้งนี้ ได้ศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภค เกี่ยวกับบริษัท และแบรนด์ต่างๆ ในช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคมองว่าบริษัทควรจะช่วยเหลือสังคม และสนับสนุนค่านิยมที่ดี เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความมั่นคงความปลอดภัยในสังคมและสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริฯ ต่างๆ

ในส่วนของการโฆษณา ผู้บริโภค 58% คิดว่าโฆษณาเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (หรือ CSR) และโฆษณาภาพลักษณ์องค์กร (หรือ Corporate Ad) ควรมีมากขึ้น ในขณะที่ 42% บอกว่าให้มีการโฆษณาได้ตามปกติ   

word_icon

ในขณะที่บริษัทต่างๆ สามารถออกโฆษณาได้ตามปกติ และผู้บริโภคก็เริ่มใช้ชีวิตเหมือนเดิม แบรนด์ที่มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมจะมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภค โดยรวมแล้วผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้นให้แบรนด์รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสังคม ผู้บริโภคต้องการเห็นบริษัทต่างๆ คืนสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นผลมาจากแบรนด์นั้นๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากแค่ไหน

word_icon2

ดร. อาภาภัทร กล่าว

ในขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่บอบบาง คนไทยมองไปในอนาคตด้วยความหวังและทัศนคติเชิงบวก ซึ่งน่าจะทำให้เกิดพลังความกระตือรือร้นมากขึ้นเพื่อการก้าวเข้าสู่ปี 2560