พิษ COVID-19 คนใช้จ่ายน้อย “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” รับธุรกิจบัตรเครดิตปีนี้หดตัว 35-50%

Photo : Shutterstock

ผลกระทบ COVID-19 ทุบยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตวูบ 9.4 หมื่นล้าน คาดทั้งปีติดลบ 35-50% ธุรกิจการบิน ท่องเที่ยวเเละโรงเเรม ระส่ำหนักยอดหาย 100% มองไตรมาส 4 ยังฟื้นยาก “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” คลอด 3 มาตรการช่วยลูกค้า พักหนี้-ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 12% สกัด NPL พุ่ง

ท่ามกลางการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยที่เริ่่มรุนเเรงขึ้น จนทางการต้องออกมาตรการ “เคอร์ฟิว” จำกัดเวลาออกจากเคหะสถาน พร้อมสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ถ้วนหน้า กระทบการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน สะท้อนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลงอย่างหนัก

เศรษฐกิจซบยาว COVID-19 ทำคนใช้จ่ายน้อย 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาลงไปมาก
ผู้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในเเง่ของรายได้

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเคตดิตของกรุงศรีคอนซูมเมอร์ลดลงราว 20% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 94,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 17% คิดเป็นราว 24,000 ล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง 30%

“หากดูสถานการณ์ในช่วงนี้ คาดว่าในไตรมาสที่ 2/2563 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะลดลงถึง 50% เมื่อไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงไป 30% ซึ่งใน 10 วันแรกของเดือนเม.ย.ยอดลดลงกว่า 50% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เเม้ว่าในไตรมาสที่ 3/2563 สถานการณ์การเเพร่ระบาดดีขึ้นก็คิดว่ายังจะลดลงราว 30% ขณะที่ปลายปีในไตรมาส 4/2563 เเม้ธุรกิจทุกอย่างจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการทั้งหมดเเต่คาดว่าคงกลับมาไม่ได้เท่าปีที่ผ่านมา”

ผู้บริหารกรุงศรีคอนซูมเมอร์ มองว่า โดยรวมยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรตลอดทั้งปี 2563 จะลดลง 35-40% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือในกรณีเลวร้ายสุดจะปรับลดลงถึง 50% จากที่เคยคาดการณ์ว่าการเติบโตของบัตรเครดิตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ทุกปี

“ใน 10 วันแรกของเดือน เม.ย. ยอดใบสมัครบัตรเครดิตใหม่ของเราลดลงกว่า 90% บรรยากาศของผู้บริโภคตอนนี้ลดความต้องการในการสมัครบัตรใหม่ลง อาจจะไม่เห็นการเติบโตของลูกค้าบัตรเครดิตใหม่ในปี 2564 คือยังมีอยู่ แต่ไม่ได้โตขึ้นเหมือนปีก่อนๆ ” 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ในปี 2562 บริษัทได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3
แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

อ่านเพิ่มเติม : ส่องอินไซต์ลูกค้า “บัตรกรุงศรี” กลยุทธ์นำ Data มา “ทำมาหากิน” ใช้ AI ทำการตลาดเเบบใหม่

เเต่ก่อนจะเกิดวิกฤต COVID-19 บริษัทเคยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2020 ว่าจะเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท เเละตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

“สภาพเศรษฐกิจต่อไปจากนี้จะไม่เหมือนเดิม คาดว่าตลาดจะหดตัวแรง ประเมินจากการที่จะมีคนตกงานจำนวนมากในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปกติแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นลูกค้าของบริษัท ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีงานทำก็จะไม่ผ่านการอนุมัติบัตรเครดิต ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ตามปกติเเล้วเมื่อเข้าสู่ตลาดเเรงงานพอมีเงินเดือนก็ต้องการสมัครบัตรเครดิต ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะชะลอตัวไป รวมถึงกลุ่มลูกค้าเดิมที่ต้องการสมัครบัตรเพิ่มเติมด้วย” 

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงศรีฯ ลดลง จากการระบาดของ COVID-19 ช่วงไตรมาส 1 ได้เเก่

1 ) กลุ่มสายกายบินเเละการท่องเที่ยว หายไป 100%
2 ) กลุ่มโรงแรม หายไป 80%
3) กลุ่มที่เกี่ยวกับกีฬาและฟิตเนส หายไป 80%
4) ธุรกิจโรงหนัง หายไป 100%
5) กลุ่มห้างสรรพสินค้า หายไป 60%
6) ธุรกิจร้านอาหาร หายไป 70%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร “เติบโต” ขึ้นคือ กลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ โต 40% กลุ่มสื่อสารเเละอินเทอร์เน็ต โต 36% ร้านขายยา โต 30% ซูเปอร์มาร์เก็ต โต 20% เเละกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล โต 10%

กำเงินสด-ลดค่าใช้จ่าย-ตัดงบการตลาด 

เมื่อถามถึงกลยุทธ์การบริการธุรกิจให้ฝ่าฟันวิกฤต COVID-19 ไปให้ได้ ฐากรบอกว่า “บริษัทต้องกำเงินสดไว้มากๆ และลดค่าใช้จ่ายลง ช่วงนี้ทำเเค่นี้ก่อนเลย ในช่วงที่ไม่มีรายได้เข้ามามากนักแต่รายจ่ายยังมีอยู่
เราไม่ได้ทำการโปรโมทมากนักเพราะต้องตัดงบการตลาด ก็เลือกทำตลาดออนไลน์ให้ได้ผลเฉพาะจุด อย่างการทำโปรโมตในฟู้ดเดลิเวอรี่ ส่วนการจัดการก็จะมุ่งเน้นการดูเเลคุณภาพหนี้เป็นหลัก”

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มสูงมาก ซึ่งสิ้นปี 2562 NPL ของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.05% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.4% โดยล่าสุดตอนนี้ NPL บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6-1.7% สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นมาที่ 3.4%

“หากไม่ออกมาตรการมาช่วยเหลือ NPL บัตรเครดิตจะสูงกว่า 3% และสินเชื่อบุคคลสูงกว่า 6%”

เตรียมเงิน 5 หมื่นล้าน ออก 3 มาตรการช่วยลูกหนี้ 

เพื่อเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า บริษัทจึงเปิดตัวโครงการ “เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์” โดยออก 3 มาตรการพิเศษ ดังนี้

มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน (ลูกค้าได้สิทธิ์ทุกคนโดยอัตโนมัติ)
-ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
-ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน 
ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนง เป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 14 เมษายน 2563 ถึง 12 มิถุนายน 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นเพียง 12% (ลูกค้าต้องลงทะเบียน) สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

-ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน

-ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เหลือ 22%
และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%

มาตรการที่ 3 นี้ เฉพาะลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือนมีนาคม 2563
ทั้งนี้ ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อฯ ให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ

“สำหรับมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษนี้ เชื่อว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 800,000-1.2 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท”

ลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 นี้ โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ออกมาใหม่ในช่วง 2 เดือนของการพักหนี้ บริษัทได้สำรองเงินสดไว้จ่ายให้กับร้านค้าและคู่ค้า 50,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยหายไป 30%” ฐากรระบุ

อ่านเพิ่มเติม : รวมมิตร 14 ธนาคาร “พักหนี้” ทั้งต้นทั้งดอก 6 เดือน ช่วย SMEs-รายย่อย ฝ่ามรสุม COVID-19