อย่างที่หลายคนรู้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ ถือเป็นปีที่ ฟื้นตัวช้า และต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาหนี้เสีย ทำให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ก็คือ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่ง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็ถือเป็นผู้เล่นหลักของตลาด ก็ต้องสู้ยิบตา เพื่อสร้างการเติบโตท่ามกลางปัจจัยลบที่มี
ปีนี้ยังเอาอยู่ เพราะบริหารความเสี่ยงดี
สำหรับภาพรวม 10 เดือนของ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ อธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เล่าให้ฟังว่า ยังโตกว่าตลาด โดยมียอด บัญชีใหม่ 496,000 บัญชี +6% ขณะที่ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ที่ 317,000 ล้านบาท +8% ซึ่งถือว่าเติบโตได้ เท่าตัว เมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดที่เติบโต +4% ในส่วนของ สินเชื่อใหม่ อยู่ที่ 78,000 ล้านบาท +4% ด้าน ยอดสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 139,000 ล้านบาท -1%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2567 กรุงศรี คอนซูมเมอร์จะมียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 600,000 บัญชี (+7%), ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท (+8%), ยอดสินเชื่อใหม่ 96,000 ล้านบาท (+5%) และยอดสินเชื่อคงค้าง 150,000 ล้านบาท (+1%)
“การปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ถือว่าค่อนข้างเยอะ แต่เรายังมั่นใจว่าสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บัตรเครดิต อยู่ 1.3% ส่วนสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.5% ซึ่งน้อยกว่าภาพรวมตลาดเกือบครึ่ง ถือว่าเรายังเอาอยู่”
เชื่อปีหน้าหนักสุดนับตั้งแต่ทำงานมา 20 ปี
ปีนี้ที่ว่าลำบาก แต่ปีหน้า อธิศ เชื่อว่า จะลำบากขึ้น และถือว่าเป็น ปีที่มีความท้าทายอันดับต้น ๆ นับตั้งแต่ทำงานมากว่า 20 ปี เพราะด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นสัญญาณบวก นอกจากนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้เครดิตเงินคืนสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรก (2568) ต้อง คืนดอกเบี้ย 0.5% ให้ลูกค้า และครึ่งปีหลัง คืนอีก 0.25% ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อ กำไรบริษัท
ดังนั้น ปีหน้าบริษัทวางเป้าอย่างน้อย คงที่รายได้และกำไร เพราะต้องยอมรับว่า ความสามารถในการทำรายได้และกำไรไม่เท่าเดิม
“รัฐบาลต้องการลดหนี้ครัวเรือน ซึ่งก็มีผลลบกับธุรกิจเรา เพราะธุรกิจเราคือ Lending อย่างหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ก็ทำให้เราต้องคิดเยอะก่อนอนุมัติ ดังนั้น ปีนี้ที่ท้าทาย ปีหน้ายิ่งท้าทาย เพราะหนี้สูญคงไม่ดีกว่าปีนี้ แต่มีเรื่องการคืนดอกเบี้ย ที่จะยิ่งกดดันธุรกิจสินเชื่อ”
ขอกลับมาโตด้วยบัตรกรุงศรี
สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจบัตรเครดิตในปีหน้า อธิศ มองว่าถึงเวลา เติบโตด้วย Core product ซึ่งก็คือ บัตรเครดิตกรุงศรี โดยจะ ปรับภาพ ปรับสิทธิประโยชน์ ให้ตรงใจลูกค้าในปัจจุบัน เพื่อดันเป็น บัตรหลักของผู้ใช้ จากที่ผ่านมาการเติบโตส่วนใหญ่เกิดจากผลิตภัณฑ์ใหม่
“ที่ผ่านมาเราเติบโตจากผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ปีหน้าเราจะไม่ใช้กลยุทธ์นี้ จะกลับมาดูผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งเราต้องทำให้ลูกค้ารัก และใช้บัตรเราเรื่อย ๆ และเมื่อเรามีผลิตภัณฑ์ที่ดี ภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าไว้วางใจ ลูกค้าใหม่ก็จะเข้ามาเอง ดังนั้น การปรับโฉมใหม่จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ปีหน้า”
หนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์จะให้ความสำคัญก็คือ ร้านอาหาร โดยต้องการรีเคลมการเป็น King of dining โดยจะมีสิทธิพิเศษด้านร้านอาหาร อีกส่วนหนึ่งก็คือ การผ่อนชำระ ที่จะเพิ่มหมวดหมู่ใหม่ ๆ ตามเทรนด์ อาทิ Solar roof, สัตว์เลี้ยง เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับบัตรกรุงศรี
รักษาความสำคัญกับ Japan Ecosystem และ พันธมิตร
อีกกลยุทธ์ที่เป็นจุดแข็งของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็คือ Japan Ecosystem และ พันธมิตร โดยกรุงศรีฯ ยังคงเป็น Top of mind ที่ลูกค้าคิดถึงเมื่อ ท่องเที่ยวญี่ปุ่น ด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภายใต้แคมเปญ เรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรี รวมถึงบริการ ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน โดยกรุงศรีตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 30% เป็น 3,250 ล้านบาท ภายในปี 2025
ในฝั่งพันธมิตร บัตรเครดิต Co-Brand ทางกรุงศรี คอนซูเมอร์จะมีการต่อยอดทางธุรกิจกับพันธมิตรเรื่อย ๆ โดยล่าสุด ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลในการให้บริการ Central The1 ต่อไปอีก 8 ปี รวมเป็นกว่า 30 ปี ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในกลุ่มบัตร Co-Brand
ต้องเริ่มกลับมาด้วยสินเชื่อ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงศรี คอนซูมเมอร์เติบโตในฝั่งบัตรเครดิต แต่ฝั่งของ สินเชื่อ จะเติบโตได้น้อยกว่า ซึ่งส่งผลให้ ผลกำไรและศักยภาพในการสร้างรายได้ไม่สูง ดังนั้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ต้องการ เติบโตในฝั่งสินเชื่อบุคคลมากกว่าที่เป็น อย่างไรก็ตาม การจะเติบโตในฝั่งสินเชื่ออาจไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ เพราะปีหน้ายังไม่ใช่จังหวะที่ดีในการรุกสินเชื่อบุคคล
“เราอยากจะเติบโตฝั่งสินเชื่อบุคคล แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพราะต้องดูสภาพแวดล้อมของตลาด”
ทำกำไรยาก ต้องลีนกว่านี้
อธิศ ทิ้งท้ายว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในวันนี้ไม่ใช่ธุรกิจที่คาดหวังผลกำไรได้ ถ้า คาดหวังกำไรสูง ผู้เล่นที่จะอยู่ได้ ต้องมีสเกล ควบคุมความเสี่ยงเก่ง และหลังบ้านต้อง ลีน ดังนั้น จะเห็นว่า ธุรกิจบัตรเครดิตไม่มีผู้เล่นใหม่เข้ามา เหลือแต่ผู้เล่นหน้าเดิม ๆ
ดังนั้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็ต้องหันกลับมาดูองค์กรว่าส่วนไหนขององค์กรที่ต้องลีน และต้องบาลานซ์ระหว่างลูกค้ากลุ่ม Hight, Middle และ Low เพื่อบาลานซ์รายได้ที่เข้ามา เพราะการได้ลูกค้ากลุ่ม Hight ไม่ได้แปลว่ารายได้จะดี เพราะกลุ่มนี้ใช้เยอะจริง แต่จ่ายตรง
“ถ้ามันเป็นธุรกิจที่มีโอาสสร้างผลกำไรได้ขนาดนั้น ทำไมไม่มีใครเข้ามา จะเห็นว่าไม่มีใครอยากออกบัตรเครดิต ดังนั้น ที่อยู่ได้คือเติบโตจากยุคที่พยุงธุรกิจได้ และจะอยู่ได้ต้องมีสเกล และคอนโทรลความเสี่ยงที่เก่งมาก และอีกสิ่งที่จำเป็นคือ เป็นผู้เล่นที่ลีน ดังนั้น ถ้าจะหวังรายได้เยอะ ๆ จากการทำธุรกิจมันยาก”