ไหนๆ ยึดหัวหาดย่านราชประสงค์ และตั้งใจปลุกปั้นย่านนี้เป็นแลนด์มาร์กด้านธุรกิจการค้า ท่องเที่ยว ช้อปปิ้งมาแล้ว กลุ่มเกษรจึงนำ 4 โครงการของกลุ่มเกษร ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้าเกษร เกษรทาวเวอร์ อัมรินทร์ พลาซ่า และอัมรินทร์ ทาวเวอร์ มาผนึกรวมกัน รวมเนื้อที่ 180,000 ตารางเมตร ปั้นให้เป็นโปรเจกต์ใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “เกษร วิลเลจ” ซึ่งมีรูปตัว G เป็นสัญลักษณ์ ชูคอนเซ็ปต์ ไลฟ์สไตล์เออร์เบิลวิลเลจ
โครงการเกษร วิลเลจ คือ การนำเอาศูนย์การค้าเดิมและอาคารสำนักงานมาสร้างให้เป็นคอมมูนิตี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ในการช้อปปิ้ง ใช้ชีวิต ท่องเที่ยว และทำงาน
ในเบื้องต้นใช้งบเบื้องต้น 3,470 ล้านบาท ทั้งสร้างอาคารใหม่ รีโนเวตศูนย์ฯ เดิม ออกแบบตกแต่งทั้งภายในและภายนอก ขยายพื้นที่รีเทล เพิ่มความหลากหลายของร้านค้า ไม่เน้นลักชัวรี่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าใหม่ ที่เป็นฐานกว้างขึ้น ซึ่งจะทยอยเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่เดือนมีนาเป็นต้นไป
ส่วนของพื้นที่รีเทล จะขยายเพิ่ม 3 เท่า จาก 17,000 ตารางเมตร เป็น 47,000 ตารางเมตร จะมีร้านค้า และร้านอาหารใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม โดยจะเชื่อมต่อพื้นที่ศูนย์การค้าเกษร เข้าสู่อาคารเกษรทาวเวอร์ สำนักงานแห่งใหม่ ซึ่งใช้งบลงทุน 3,000 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน เวลานี้ปิดการขายไปได้แล้ว 50% จากนั้นจะเริ่มเฟส 2 คือ การปรับปรุงศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า ในปี 2562-2563
บนชั้น 19-20 ของอาคารเกษรทาวเวอร์ จะนำพื้นที่ 3 พันตารางเมตร ทำเป็นสวนลอยฟ้ากลางแจ้ง หรือ Greenery Sky Garden และ Gaysorn Crystal Box ห้องประชุมและสัมมนาลอยฟ้า และ Gaysorn Urban Retreat จะเป็นโซนสุขภาพและความงาม ซึ่งจะมีแบรนด์ไทยอย่าง ปัญญ์ปุริ เวลเนสรีทรีตมาลงทุน โดยจะเปิดใช้บริการในเดือนกันยายน 2560
อีกจุดสำคัญ ที่จะเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง คือ การสร้าง “สกายวอล์ก” ทางเดินลอยฟ้า เชื่อมต่อระหว่างอาคาร หรือราชประสงค์วอล์ก และเกษรวอล์ก ที่เชื่อมต่อประตูน้ำมาที่ราชประสงค์ และอัมรินทร์พลาซ่า คาดว่าจะเปิดเดือนกันยายน 2560
ชาญ ศรีวิกรม์ ประธานกลุ่มเกษร พร็อพเพอร์ตี้ มองว่า ภาพรวมของการทำศูนย์การค้าลักชัวรี่ในยุคนี้ อยู่ในช่วงที่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว เติบโตมาบนตลาดออนไลน์ (E-Commerce) เพิ่มขึ้น ทำให้การทำตลาดรีเทลต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น
เกษรวิลเลจ เป็นโมเดลหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ฯ เพื่อสัมผัสประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ศูนย์การค้าได้เตรียมไว้ใหม่ในอนาคตทั้งในเรื่องของอาหาร ช้อปปิ้งไลฟ์สไตล์ รีทรีตแอนด์ทรีตเมนต์ (สปา) รวมทั้งการนำกลยุทธ์ Workplace Strategy เข้ามาผสมผสานภายใต้คอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์รวม Work Live Play Glow
ภายหลังจากเปิดตัว เกษร วิลเลจแล้ว ทราฟฟิกของย่านราชประสงค์จะเพิ่มขึ้น 450,000 คนต่อวัน จากเดิม 300,000 คนต่อวัน ในขณะที่ทราฟฟิกของศูนย์การค้าเกษร วิลเลจจะเพิ่ม 10,000 คนต่อวัน เป็น 30,000 คนต่อวัน โดยเป็นผลมาจากการขยายกลุ่มเป้าหมายของ เกษร วิลเลจ จากกลุ่มเดิมที่โฟกัสอยู่เพียง luxury จะเพิ่มขึ้นทุกมิติในแนวกว้าง หมายถึงครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์เชิงลึก มีความเป็นกันเอง (friend) ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
โดยสรุปแล้ว การลุกขึ้นมาปรับกลยุทธ์ของกลุ่มเกษรในครั้งนี้ เพื่อต้องการตอบโจทย์ใหญ่ของการทำศูนย์การค้าในยุคที่การช้อปออนไลน์มีอิทธิพลสูงมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างแม็กเน็ตต่างๆ เพื่อมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า
การนำโครงการทั้งหมดของเกษรมาผนึกรวมกันแทนที่จะต่างคนต่างทำ นอกจากสร้างพลังในการดึงดูดลูกค้าจากการเพิ่มบรรยากาศภายในภายนอก เพิ่มความหลากหลายร้านค้า และกิจกรรมการตลาด โดยมี “สกายวอล์ก” เป็นจุดเชื่อมต่อซึ่งไม่ใช่แค่เชื่อมเฉพาะศูนย์การค้าในโครงการเท่านั้น แต่ยังเชื่อมไปถึงประตูน้ำเพื่อลูกค้าเดินมาย่านราชประสงค์ได้ง่ายขึ้น
ด้วยคอนเซ็ปต์เหล่านี้ จะทำให้กลุ่มเกษรไม่ต้องจำกัดอยู่กับความเป็นลักชัวรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขยายไปสู่ลูกค้าทั่วไป เพื่อมาเพิ่มทราฟฟิกให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการผลักดันราชประสงค์ให้เป็น “ย่านการค้า” ที่จะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในอนาคต ที่มีกำหนดเสร็จปี 2563