TMA ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวโครงการ Thailand Corporate Excellence Awardsเชิดชูองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการในสาขาต่างๆ หวังให้เป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ พร้อมจัดเวทีประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในวันที่ 23 ก.พ. ศกนี้ คาดหวังผู้เข้าร่วมงานนี้ 400 ท่าน
นายวิสิฐ ตันติสุนทร ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า กลุ่มบริหารการตลาดของ TMA ที่ได้เล็งเห็นว่าภาคธุรกิจคือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และการเรียนรู้จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จถือเป็นกุญแจสำคัญที่เราจะพัฒนาให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมระดับนานาชาติ จึงริเริ่มโครงการ Thailand Corporate Excellence Awards ขึ้นในปี 2544
โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา TMA และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันจัดโครงการ Thailand Corporate Excellence Awards มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฟ้นหาองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ และมีความเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำแนวทางมาพัฒนาบริหารจัดการองค์กรของตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย
ประเด็นที่สำคัญของโครงการนี้ คือ เมื่อปี 2550 TMA และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards ถือเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งต่อ TMA สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ และองค์กรที่ได้รับรางวัล ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศ
ในส่วนของขั้นตอนการคัดเลือกนั้น นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร ประธานคณะอนุกรรมการโครงการฯ กล่าวว่า ในปีนี้ทางคณะทำงานโครงการฯได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2559 โดยผู้ตอบแบบสำรวจนี้จะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มีรายได้สูงสุด 1,000 องค์กรในประเทศไทย โดยทางคณะทำงานได้พัฒนารูปแบบการสำรวจให้มีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น และได้เพิ่มการสำรวจในส่วนของคุณลักษณะพื้นฐาน(Attributes) เพื่อเจาะลึกพื้นฐานหลายๆ ด้านของแต่ละองค์กรที่มีความเป็นเลิศว่าต้องมีคุณลักษณะอย่างไร และคุณลักษณะใดเป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญมากที่สุด
สำหรับประเภทของรางวัลพระราชทาน จะแบ่งออกเป็น 9 สาขารางวัล ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร ความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน ความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความเป็นเลิศด้านผู้นำ ความเป็นเลิศด้านการตลาด ความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน/ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานสำหรับองค์กรที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ TMA ยังได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการคัดเลือกองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ โดยแต่ละธนาคารจะคัดเลือก SMEs ที่ประกอบธุรกิจการผลิต การบริการ หรือการค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่ง SMEs จะส่งเอกสารคุณสมบัติและแนวทางการบริหารจัดการองค์กรให้กับคณะกรรมการได้พิจารณา จากนั้นหาก SMEs ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นผ่านเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการจะเข้าเยี่ยมชมและพิจารณาให้รางวัลตามระดับความเป็นเลิศ ทั้งนี้ TMA ยังทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลองค์กรSMEs ที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ เช่นกัน
ทางด้าน รศ.ดร.อดิทธิ์ เชี่ยวสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านนิสิตเก่าสัมพันธ์หัวหน้าหน่วยวิรัชกิจและการประกันคุณภาพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ นี้มาโดยตลอด กล่าวเสริมว่า ด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life – Long Learning) ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ สอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เราจึงร่วมมือกับทาง TMA คิดหาวิธีการและกระบวนในการคัดเลือกองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการที่ดีที่สุด และมีความเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ ได้
ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เราได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ประธาน ประธานกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการ ซีอีโอ ผู้อำนวยการฝ่าย ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับในภาคธุรกิจ ซึ่งแบบสอบถามนี้ เป็นแบบสอมถามที่ผู้ตอบสามารถให้ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง และยังมีการสัมภาษณ์เพื่อติดตามผล การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก หลังจากนั้น เราจะนำข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นมาประมวลผล และนำเสนอรายชื่อองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละสาขารางวัล
นายธรรมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้ เราได้มีการพัฒนาแบบสำรวจความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อมูลความคิดเห็นและข้อมูลการบริหารจัดการในด้านต่างๆ เพื่อนำข้อมูลนี้มาถอดรหัสเป็นองค์ความรู้ และเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจ ผนวกกับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ จนออกมาเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ นอกจากนี้เรายังได้มีการเผยแพร่เป็นกรณีศึกษาในรายงานสรุปที่เราได้จัดทำขึ้นทุกๆ ปี และจะมีการวิเคราะห์ในเชิงลึกออกมาเป็นคุณลักษณะความเป็นเลิศ โดยเราจะนำองค์ความรู้นี้มาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ต่อไป นายธรรมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับงานพิธีประกาศผลรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2016 และพิธีประกาศผลรางวัล SMEs Excellence Awards 2016คณะกรรมการได้เตรียมการต้อนรับผู้มีเกียรติและผู้บริหารองค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อในแต่ละสาขารางวัล เพื่อร่วมกันเชิดชูและแสดงความยินดีกับทุกๆ องค์กร โดยคาดหวังจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 400 ท่าน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ โรงแรม สยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ