ระวัง ! 9 อาชีพ ที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ AI

หากเอ่ยถึงอาชีพ “นักแสดง นักจิตวิทยา คุณครู นักดนตรี นักข่าว” อาชีพเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ยังปลอดภัยในยุคแห่งการ Disruption โดย Artificial Intelligence หรือ AI แต่ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยออกมาว่า ความคิดนั้น อาจไม่ถูกต้องอีกต่อไปเสียแล้ว

โดยมีรายงานจากสถาบันแมคคินซีย์ โกลบอล (Mckinsey Global Institute) ประมาณการว่า งานกว่าครึ่งที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติภายในปี ค.ศ. 2055 ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อยุคนั้นมาถึง มนุษย์อาจยังไม่พร้อมสำหรับการถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ และหลายคนที่ไม่ได้เตรียมตัวก็จะไม่สามารถหางานใหม่ไปทำได้

แต่หากมองในความเป็นจริง ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีในอดีตก็เพื่อเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

แต่ที่ผ่านมา ความสามารถของเครื่องจักรนั้นคือการทำงาน ทำงาน และทำงาน มันไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ดีนัก งานส่วนใหญ่ที่เครื่องจักรในอดีตทำได้คืองานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะมากนัก บ้างก็เป็นงานที่เน้นผลิตในปริมาณมาก ๆ ต้องแข่งกับเวลา ซึ่งอาชีพอย่างนักบำบัด คนทำงานเพื่อสังคม ครู ผู้จัดการ อาจารย์พิเศษ จึงไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

แต่สถานการณ์ในปี ค.ศ. 2017 นั้นเปลี่ยนไปแล้ว เพราะปีนี้ AI มีความก้าวหน้าไปถึงขั้นอัจฉริยะ การประมวลผลด้านภาษาของ AI ก็ก้าวหน้ามากถึงมากที่สุด อาชีพที่เคยมองว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถขึ้นมาเป็นคู่เทียบของมนุษย์นั้นจึงไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสิบปีก่อน ความสามารถของระบบนำทางให้ตัวรถขับหลบสิ่งกีดขวางนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กำลังสร้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนี้ได้ทำให้ปัญหาด้านระบบนำทางในอดีตกลายเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ไปเลยทีเดียว

ซึ่งลักษณะของงานที่คอมพิวเตอร์สามารถทำแทนในปัจจุบันได้แก่

1. ผู้บริหารระดับกลาง

ผู้บริหารระดับกลางเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันดับหนึ่ง หลังจากที่เคยถูกมองว่า จำเป็นต้องมี เพราะต้องรับคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงมาถ่ายทอดสู่พนักงานระดับปฏิบัติการ แต่ในเดือนที่ผ่านมา บริษัทเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ Bridgewater Associate ได้ออกมาประกาศว่าจะพัฒนา PriOS Project ซึ่งเป็นอัลกอริธึมมาใช้ในด้านการบริหารงาน และการตัดสินใจต่อปัญหาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการจ้างงาน และการไล่พนักงานออกด้วย โดยคาดว่าจะนำมาใช้งานจริงได้ไม่เกิน 5 ปีนี้ ซึ่งนั่นอาจทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีผู้บริหารระดับกลางหมดไป

2. นักกฎหมาย

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ DoNotPay ปัญญาประดิษฐ์ด้านกฎหมาย ผลงานของ Joshua Browder เด็กหนุ่มอัจฉริยะวัย 20 ปีที่จะมาช่วยประหยัดเงินในการจ้างทนายให้กับผู้ใช้งานได้ โดยที่มาของ DoNotPay นั้น เกิดจากการที่ Browder ถูกเรียกเก็บค่าปรับอย่างไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานท้องถิ่นของเมือง ถึง 30 ใบในเดือนเดียว เขาจึงพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันเสียเลย โดยให้ผู้ประสบปัญหามากรอกแบบสอบถาม แล้วให้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ว่า คนคนนั้นทำผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์แล้วว่าคนคนนั้นไม่ผิด มันจะร่างจดหมายโต้แย้งให้กับลูกความของมันโดยอัตโนมัติ

โดยหลังจากเปิดทดลองให้บริการฟรี 21 เดือน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ Browder เผยว่า DoNotPay มีส่วนร่วมในเคส 250,000 เคส และเป็นเคสที่ชนะคดีถึง 160,000 เคส คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรืออาจเทียบได้ว่า สถิติชนะคดีของแชตบอตตัวนี้ สูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

3. นักข่าว

อาชีพนักข่าวก็มี AI bot ที่ถูกสร้างขึ้นมาทำงานแทนแล้วเช่นกัน โดยบริษัทชื่อ Narrative Science และ Automated Insights ได้พัฒนาอัลกอริธึมสำหรับเขียนข่าวกีฬา และข่าวธุรกิจขึ้นมาใช้แล้ว แถมมีลูกค้าเป็นสื่อสำนักดังอย่างเช่น ฟอร์บส์ (Forbes) และ The Associate Press อีกด้วย ซึ่งในเดือนมิถุนายนเมื่อปี 2015 ผู้ก่อตั้ง Narrative Science อย่าง Kris Hammond ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ประมาณ 90% ของอาชีพนักข่าวจะถูกแทนที่ด้วย AI ส่วนผู้ได้รับรางวัลพูลิตเชอร์ก็อาจเป็น AI ด้วยก็เป็นได้

4. นักจิตวิทยา

ในอนาคต ไม่ยากเลยที่จะมี Social Robot สำหรับใช้สอนเด็กออทิสติก หรือหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงที่มาคอยอยู่เคียงข้างคนสูงอายุ ที่ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม นอกจากนี้ หน่วยงานด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาก็มีการใช้ นักบำบัดแบบเวอร์ชวลในการสกรีนทหารที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานว่าป่วยด้วยโรค PTSD หรือไม่แล้วเช่นกัน

(หมายเหตุ : PTSD เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นหลังจากประสบเหตุการณ์ที่น่ากลัวและร้ายแรงจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

เหตุการณ์ที่ทำให้เกิด PTSD ไม่ใช่เหตุร้ายทั่วๆไป เช่น หกล้ม รถเฉี่ยวกัน หรือลืมของไว้บนรถแท็กซี่ แต่จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวและร้ายแรงมากจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เข่น สึนามิ น้ำป่า ดินถล่มทับบ้าน พายุพัดบ้านพัง เกิดเหตุวินาศกรรม สงคราม จลาจล โดนปล้นหรือข่มขืน โดยที่ผู้ที่ป่วยเป็น PTSD อาจเป็นผู้ประสบเหตุเองโดยตรงหรือเพียงแค่ได้เห็นเหตุการณ์หรือได้รับรู้เรื่องราวจากข่าวหรือคำบอกเล่าของผู้อื่นก็ได้ แต่จะต้องมีปฏิกริยาเป็นความตื่นกลัวและรู้สึกว่าตนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

ฟอร์ด อีกหนึ่งบริษัทที่มีการลงทุนใน AI อย่างหนักในช่วง 2 – 3 ปีมานี้

5. ครู

ด้วยซอฟต์แวร์เช่น McGraw-Hill Connect และ Aplia ที่ช่วยบรรดาคุณครูบริหารจัดการการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนได้นับร้อยนับพันคนในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีการใช้หุ่นยนต์สอนนักเรียนฝึกพูดภาษาอังกฤษแล้วด้วย

6. นักแสดง

ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ทำให้เราได้เห็นนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้วอย่าง Peter Cushing และอีกหลายคนกลับมามีชีวิตโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ได้ใหม่ แถมยังสมจริงมากอีกด้วย นั่นจึงทำให้ในอนาคต อาชีพนักแสดง อาจกลายเป็นอาชีพที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีแทนแล้วนั่นเอง

7. นักเขียน

อย่าประมาท AI ว่าจะเขียนหนังสือไม่ได้ เพราะ AI อย่าง Watson จากค่ายไอบีเอ็มได้ตีพิมพ์หนังสือตำราอาหารของตัวเองออกมาแล้วในปี 2015

8. บริการรับส่งสิ่งของ

การใช้หุ่นยนต์คอยให้บริการรับส่งสิ่งของเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยขึ้น เช่น โรงแรม Aloft มีการทดลองนำหุ่นยนต์ชื่อ Botlr มาให้บริการจัดส่งผ้าขนหนูและของใช้ในห้องน้ำไปให้ลูกค้าถึงหน้าห้อง ที่สำคัญ หุ่นยนต์ตัวนี้ไม่ต้องการทิปแต่อย่างใด ขอเพียงทวีตถึงมันบ้างก็พอแล้ว หรือสตาร์ทอัปอย่าง Starship Technology ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ส่งของออกวิ่งให้บริการแล้วเช่นกัน

9.คนขับรถ

ในกรณีนี้อาจต้องยกเคสของอูเบอร์ (Uber) กับลิฟต์ (Lyft) สองผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ในสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะทั้งสองบริษัทต่างออกมาเปิดเผยถึงแผนในอนาคตของบริษัทแบบไม่ปิดบังว่า มีแผนจะพัฒนารถอัตโนมัติออกมาใช้งาน โดยตอนนี้อยู่ขั้นทดสอบแล้ว (แน่นอนว่ามีคนขับแท็กซี่ออกมาประท้วงมากมาย) เหลือแค่รอให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน ก็อาจให้บริการได้ ซึ่งอาจเป็นช่วงปี ค.ศ. 2020 ที่หลายคนรอคอย

จะเห็นได้ว่า ชื่ออาชีพที่หลาย ๆ คนคิดว่ายังปลอดภัยนั้น เริ่มถูกบรรจุเข้าไปในฐานข้อมูลของอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะถูก AI เข้ามาแทนที่มากขึ้นทุกที แม้กระทั่งงานที่ต้องใช้ศิลปะสูง เช่น ครู หรือนักแสดง

ดังนั้น การเตรียมตัวให้อยู่รอดในโลกแห่งการทำงานในยุค AI ครองเมือง จึงควรเริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้ ด้วยการมองหาทักษะใหม่ ๆ ที่ทำให้เราโดดเด่นเหนือ AI หรือสามารถอยู่ในบทบาทที่ได้รับสิทธิในการควบคุม AI ได้ ไม่ใช่รอจนวันนั้นมาถึงแล้วถูก AI ควบคุมแทนเสียเอง

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000017064