ส่องแผนรับมือสังคมสูงวัยใน “เยอรมนี” หันมาใช้ “หุ่นยนต์” ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น

หุ่นยนต์
(Photo: Shutterstock)
“เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยสูงที่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้ต้องเริ่มนำ “หุ่นยนต์” เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่าคนเยอรมัน “ไม่หวั่น” กับการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน และภาคธุรกิจมองว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยในลักษณะ “ไฮบริด” มากกว่าทดแทนคนได้ 100%

เมื่อไตรมาส 4 ปี 2022 สำนักงานสถิติรัฐบาลกลางเยอรมนี พบว่ามีแรงงานในระบบอยู่ 45.9 ล้านคน แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขคนมีงานทำจะสูงที่สุดที่เคยมีมา แต่หอการค้าเยอรมนีก็ยังพบว่า บริษัทเยอรมันกว่าครึ่งหนึ่งยังหาแรงงานทักษะเข้ามาทำงานได้ยากมาก

“โอลาฟ ชอลซ์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 เคยประกาศแผน “Daring More Progress” ไว้แก้ปัญหานี้ โดยเป็นแผนที่จะมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานในโลกธุรกิจให้มากขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของเยอรมนีนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในยุโรป ทำให้ทางออกของปัญหาก็จะเหมือนกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ คือ ต้องนำหุ่นยนต์และการสร้างระบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนแรงงานและทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เก็บถาดอาหาร เครื่องชำระเงินด้วยตนเองในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้พูดคุยในการทำงาน ทุกอย่างจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี

 

คนเยอรมันไม่หวั่น “หุ่นยนต์” แย่งงาน

แล้วการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ทำให้แรงงานเยอรมันกังวลมากแค่ไหน?

มีผลการศึกษาจาก Gallup เมื่อปี 2018 พบว่าคนเยอรมัน 37% เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้น 62% มองว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเพียง 1% ที่คิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้การทำงานยิ่งแย่ลง

คนเยอรมัน 6% มองว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้โอกาสการตกงานน้อยลง ในทางตรงข้าม คนเยอรมัน 10% คิดว่าเทคโนโลยีจะส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงตกงานมากขึ้น ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คิดว่าการใช้เทคโนโลยีจะ ‘ไม่มีผลอะไร’ ต่อความเสี่ยงตกงาน เห็นได้ว่าคนเยอรมันไม่ได้หวั่นกลัวเท่าไหร่นักว่า “หุ่นยนต์” จะมาแย่งงานทำ

ความจริงแล้วเยอรมนีเริ่มการใช้หุ่นยนต์มาไม่น้อยแล้ว โดยสต็อกหุ่นยนต์ที่มีในสหภาพยุโรปนั้นประมาณครึ่งหนึ่งนำมาใช้งานอยู่ในเยอรมนีนี่เอง และส่วนใหญ่ถูกใช้งานในภาคอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน (ข้อมูลจากรายงานโดย คณะกรรมาธิการยุโรป)

 

นำมาใช้แบบ “ไฮบริด” ไม่ได้แย่งงานคนโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ภาพการทำงานในอนาคตคงไม่ใช่การปล่อยงานให้หุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลทำแบบ 100% เพราะหลายสายงาน ‘ลูกค้า’ ไม่มั่นใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น

“ไม่มีใครยอมปล่อยให้หุ่นยนต์ตัวเดียวดูแลคุณย่าแน่นอน” นอร์มา สเตลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์จาก German Bionic กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องมือถ่วงน้ำหนักให้กับแรงงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาบาดเจ็บจากการทำงาน

สเตลเลอร์กล่าวว่า ภาคบริการดูแลผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาช่วยงาน เพราะปัจจุบันแรงงานคนในภาคธุรกิจนี้ขาดแคลนอย่างมาก

“เราจะเชื่อมสะพานที่ขาดหายด้วยการนำหุ่นยนต์มาใช้งานร่วมกับมนุษย์ แนวคิดของเราคือมนุษย์จะยังได้ใช้ทักษะของคนในด้านอารมณ์ความรู้สึกเพื่อดูแลผู้สูงวัย” สเตลเลอร์กล่าว

การใช้งานที่ยังต้องมีทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ทำงานร่วมกัน เป็นเพราะฝั่งผู้รับบริการหรือลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจในหุ่นยนต์ โดยผลการสำรวจของ Gallup ถามความเห็นจากคนเยอรมัน 1,000 คน พบว่า คนส่วนใหญ่ 70% รู้สึกยังไม่ปลอดภัยที่จะนั่งในรถยนต์ไร้คนขับ

Amazon หุ่นยนต์เดินได้

ขณะที่ “คากรี เปลิแวน” ซีอีโอบริษัทให้บริการหุ่นยนต์ Robot4Work มองว่า การใช้หุ่นยนต์ทำงานจะทำให้มนุษย์มีเวลาไปทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าได้

ที่สำคัญคือ หุ่นยนต์จะถูกใช้ทดแทนในตำแหน่งที่ใช้แรงกายหนัก ทำให้พนักงานที่อายุมากหน่อยยังสามารถทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีระบุว่า ชาวเยอรมันอายุ 55-64 ปีที่ยังทำงานอยู่นั้นมีสัดส่วนถึง 71% ในปี 2021 และประเทศนี้กำลังจะเริ่มขยับอายุรับเงินเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี ในเร็วๆ นี้ ทำให้อายุคนทำงานโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

“ในท้ายที่สุดแล้ว การนำหุ่นยนต์มาใช้งานในที่ทำงานคือการเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้มนุษย์ ไม่ใช่มาแทนที่มนุษย์” เปลิแวนกล่าว

Source