แบรนด์ฝาแฝด “ซุปเปอร์ริช” รวยทะลุฟ้า มากับเทรนด์เที่ยว

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ (นอกธนาคาร) มีความคึกคักเป็นอย่างมาก มีผู้เล่นรายใหม่ และมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพราะด้วยคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น บางประเทศไม่ต้องมีวีซ่า ทำให้ไปเที่ยวง่าย และมีการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับแบรนด์ที่แลกเงินต่างประเทศนอกธนาคารจะให้เรตราคาที่ดีกว่า ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะใช้บริการ

ทำให้เห็นการเติบโตแบบ 2 หลักมาโดยตลอด ในปี 2559 ที่ผ่านมาตลาดแลกเงินต่างประเทศมีมูลค่าถึง 420,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26% จากปี 2558 ที่มีมูลค่า 333,000 ล้านบาท เพราะมีผู้เล่นใหม่ในตลาด และผู้บริโภคใช้บริการมากขึ้น

ในปัจจุบันทั้งตลาดมีผู้เล่นรวมๆ กว่า 1,900 ราย มีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ 50% เป็นผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยที่มีสาขาเดียวเปิดที่ต่างจังหวัด ในปีที่แล้วมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น 6% ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

จุดยุทธศาสตร์ที่คนนึกถึงที่แลกเงินแห่งแรกก็คือย่านประตูน้ำ ราชดำริ ที่จะมีแบรนด์แลกเงินเรียงกันเป็นคูหา เปิดข้างกันบ้าง ตรงข้ามกันบ้าง โดยทุกรายต่างใช้แบรนด์ซุปเปอร์ริชเดียวกัน จนกลายเป็นแบรนด์ฝาแฝด 3 ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันต่างกันที่สีและเจ้าของ มีทั้งสีเขียว สีส้ม สีฟ้า ถึงแม้ว่าแต่ก่อนจะมีความสัมพันธ์ต่อกันแต่ปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว

กลยุทธ์สร้างแบรนด์สีเขียว

สำหรับ ซุปเปอร์ริช สีเขียว หรือชื่อเต็มคือ ซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์ เป็นหนึ่งในแบรนด์แฝดสาม ที่ถือว่ามีการทำตลาดอย่างหนักในช่วงหลายปีมานี้ จากธุรกิจครอบครัวของรุ่นพ่อที่ดำเนินมากว่า 50 ปี แรกเริ่มมีสาขาที่ราชดำริ เป็นเอาต์เล็ตแห่งแรกสำหรับการแลกเงิน ตอนนี้ได้ทายาทเจนเนอเรชั่น 2 ขึ้นมาบริหารได้หลายปีแล้ว โดย 2 พี่น้องที่มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเจนธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุลดูแลเรื่องพัฒนาองค์กร บุคคลากร ส่วนแพมสิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุลดูแลด้านพัฒนาธุรกิจ และการตลาด

ต้องบอกว่าจุดเด่นที่ซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์ใช้สร้างความแตกต่างก็คือ ให้เรตราคาที่ดีที่สุด และเรตเหมือนกันทุกสาขา ทำให้มีฐานลูกค้ามากขึ้นทั้งคนไทย และต่างประเทศ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือในช่วงปี 2557-2558 ซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์ ภายใต้การนำทัพของเจน 2 ได้รุดขยายสาขาอย่างหนักหน่วง เปิดถึง 9 สาขา ทำให้มีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดมาตลาด 2-3 ปี ในปี 2559 มีการเปิดขาขาใหม่ 4 สาขา ทำให้มีการเติบโต 76% มีรายได้รวม 77,000 ล้านบาท สัดส่วนกำไรโต 21% มีส่วนแบ่งตลาด 25%

ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล

ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาองค์กร บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าตลาดแลกเงินต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนไทยเที่ยวมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูงเช่นกัน แม้จุดเด่นจะมีเรตที่ดีที่สุด แต่ธุรกิจนี้ต้องไม่ใช่แค่การขายอย่างเดียวเท่านั้น ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วย ต้องมีการอบรมพนักงานในเรื่องการบริการ ต้องขยายสาขาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นด้วย นอกจากจะแข่งขันกันที่ราคาแล้ว การเข้าถึงลูกค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมด 14 สาขา สำหรับแผนในปีนี้ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 3 สาขา ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ส่วนอีก 2 ที่ยังศึกษาพื้นที่อยู่พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าได้มากขึ้น ได้รีโนเวตที่สาขาสยามพารากอนและดิเอ็มโพเรียมไปแล้ว

ทำเลในการเปิดสาขาของซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์ เน้นที่ห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า ต่างจากซุปเปอร์ริชสีส้ม ที่จะเน้นทำเลตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล

สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกั มองว่าที่เน้นขยายตามห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าเนื่องจากเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคนี้ที่ไปดูหนัง ทานข้าว ช้อปปิ้งที่ห้าง รวมถึงทำธุระอื่นๆ เป็นพฤติกรรมเป็นแบบ One Stop ทำธุระให้จบในที่เดียว อีกทั้งยังช่วยยกระดับแบรนด์ได้ด้วย” 

ลงทุนเทคโนโลยี ให้บริการเร็วขึ้น

ด้วยจุดเด่นที่ให้เรตราคาดี ทำให้ลูกค้าเข้าคิวยาว ส่วนลูกค้าไม่อยากรอจึงไปใช้บริการแบรนด์อื่น จึงเตรียมลงทุนเรื่องพัฒนาระบบการทำงาน ใช้เทคโนโลยี รวมถึงการอบรมพนักงานเพื่อลดเวลาของกระบวนการทำงาน

การที่เรตราคาถูกทำให้กำไรเราน้อย จึงต้องเน้นเรื่องของจำนวนให้มากที่สุดก็จะทำกำไรได้ จึงต้องมีการลงทุนพัฒนาการทำงานเพื่อลดช่วงเวลาในการทำธุรกรรม ให้ลูกค้าได้เงินได้เร็วที่สุดธณัทร์ษรินกล่าว

ในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ปรับหน้าเว็บเพื่อใช้งานได้ง่ายขึ้น และมี LINE@ สำหรับจองแลกเงิน เพื่อไปรับตามสาขาต่างๆ ช่วยให้ลูกค้าสะดวกขึ้น

ความท้าทายของแม่ทัพเจน 2

การที่ทั้งคู่ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่เจนเนอเรชั่นที่ 2 ย่อมมีความท้าทายเกิดขึ้นทั้งในด้านธุรกิจ และบุคลากร ที่ต้องสร้างการยอมรับจากคนอื่นด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่รุ่นพ่อสร้างมากับมือ

ธณัทร์ษริน บอกว่า ความท้าทายที่สุดของเธอก็คือการผสมผสานการบริหารธุรกิจแบบเถ้าแก่ กับแบบมืออาชีพ หมายความว่าธุรกิจครอบครัวแบบเก่า กับธุรกิจแบบยุคใหม่ ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันเป็นความ้ทาทายที่สุด รวมถึงการบริหารคนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เพราะเข้ามาในช่วงที่ธุรกิจโตแล้วไม่ได้เริ่มต้นมาจากศูนย์ ต้องทำให้บุคลากรยอมรับ ยุคนี้การศึกษา หรือเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ทำให้โตได้ ต้องผสมกันไป เรื่องคนสำคัญที่สุด

ส่วนทางด้านของสิตามนินท์บอกว่าธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยากที่การบริหารคน มีคนหลายเจนอยู่รวมกัน ทำอย่างไรให้เขายอมรับ บางคนก็เติบโตมากับเขา อุ้มมาตั้งแต่เด็กๆ รวมไปถึงการผสมผสานทั้งในเรื่องประสบการณ์ การบริหารแบบโมเดิร์น และต้องมีครีเอทีฟ จึงจะทำให้ธุรกิจเติบโต