ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคของมือถืออย่างเต็มตัวเข้าไปแล้ว มือถือเข้ามามีอิทธิพลต่อทุกๆ ไลฟ์สไตล์ มีข้อมูลเปิดเผยว่า 8 ใน 10 ของคนไทยทั้งที่อาศัยอยู่ในเมือง และชนบทมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง มีจำนวนโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรไปแล้ว 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในงานผ่านสมาร์ทโฟน คนไทยใช้เวลาบนมือถือเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน
เมื่อดูตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยที่ใช้งานผ่านมือถือตอนนี้มี 44 ล้านรายต่อเดือน หรือคิดเป็น 98% ของผู้ใช้งานแอคทีฟทั้งหมด โดยมีผู้ใช้ต่อวันจำนวน 31 ล้านราย เป็นใช้งานผ่านมือถือจำนวน 30 ล้านรายต่อวัน
จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย เผยข้อมูลว่า “คนไทยในยุคนี้ไม่ใช่แค่ใช้มือถือในการสื่อสาร เล่นโซเชียลมีเดียอย่างเดียว แต่ใช้ในการทำธุรกิจ ขายของบนโลกออนไลน์ และซื้อของออนไลน์ด้วยเช่นกัน มีข้อมูลจากเฟซบุ๊กเผยว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยมากกว่า 74% มีการเชื่อมต่อกับเพจธุรกิจ SME อย่างน้อย 1 เพจ“
มีข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงเทศกาล เป็นอีกช่วงที่มีการใช้งานเฟซบุ๊กสูงขึ้นทั้งด้านการโพสต์คอนเทนต์ และการซื้อของและมาจากมือถือเป็นหลัก เทศกาลสงกรานต์เป็นตัวอย่างของเทศกาลที่เฟซบุ๊กได้หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาในการในผู้ประกอบการใช้ช่วงเวลาของเทศกาลนี้ให้เป็นประโยชน์ ความสำคัญก็คือมีการเติบโตด้านการใช้งานพอๆ กับช่วงเทศกาลปีใหม่เดือนธันวาคม
คนไทยทำอะไรบนเฟซบุ๊กช่วงสงกรานต์
เฟซบุ๊กได้เผยข้อมูลว่า 95% ของโพสต์บนเฟซบุ๊กมาจากมือถือในช่วงสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2559) และเทรนด์ของวิดีโอที่มาแรง คนไทยโพสต์วิดีโอเพิ่มขึ้น 74% โพสต์รูปภาพเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงวันสงกรานต์ (13-15 เมษายน 2559)
ส่วนคอนเทนต์ที่คนไทยพูดคุยมากที่สุดในช่วงสงกรานต์ก็คือ 22% การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี, 19% ครอบครัว, 17% อาหารและเครื่องดื่ม, 8% การดูแลตัวเอง และ 8% เรื่องบ้าน
ในส่วนของพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนไทยต่อเทศกาล มือถือก็มีบทบาทเยอะเช่นกัน ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในการค้นหาสินค้า หาข้อมูล หารีวิว รวมถึงตัดสินใจซื้อ ข้อมูลจากวีซ่าเผยว่า 70% ของคนไทยค้นหาข้อมูลสินค้าลนสมาร์โฟน และ 1 ใน 2 ของคนไทยซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนเช่นกันกลายเป็นว่าการทำตลาดบนมือถือสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะปิดการขายของลูกค้า
แบรนด์ต้องขายของอย่างไรช่วงสงกรานต์
เฟซบุ๊กได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสถิติในการซื้อของออนไลน์ของคนไทย พบว่าการซื้อของออนไลน์ช่วงสงกรานต์ สูงเกือบเทียบเท่าช่วงเดือนธันวาคมที่เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ เท่ากับว่า 2 เทศกาลนี้เป็นช่วงสำคัญในการขายที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
แต่จะขายของอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค ไม่สามารถขายเมื่อไหร่ก็ขายได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน
ความน่าสนใจก็คือผู้บริโภคจะซื้อสินค้าในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันสงกรานต์ มากกว่าช่วงสงกรานต์เฉลี่ย 28% ในช่วงสงกรานต์จะช้อปน้อย แต่ใช้เฟซบู๊กในการลงคอนเทนต์เฉลิมฉลอง และการช้อปปิ้งจะกลับมาอีกครั้งหลังสงกรานต์ มีการช้อปมากกว่าช่วงสงกรานต์ 36%
จอห์นให้คำแนะนำว่าแบรนด์ต้องจับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้ ใช้ประโยชน์จาก 3 ช่วงเวลาสำคัญ ก่อนสงกรานต์ วันสงกรานต์ และหลังสงกรานต์ แต่ละช่วงมีความสำคัญต่างกัน 1. ก่อนสงกรานต์ที่มีการซื้อเยอะต้องสร้างทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นการซื้อ ต้องปิดการขายให้ได้ ทำโอกาสตรงนี้ให้ลูกค้าซื้อ 2. พอเข้าถึงช่วงสงกรานต์ผู้บริโภคจะใช้จ่ายไปกับการเที่ยว หรือฉลองกับครอบครัว ทำให้ไม่สนใจซื้อของ แต่มีการใช้เฟซบุ๊กเยอะอยู่ แบรนด์ต้องทำคอนเทนต์ที่อิงไปกับกระแสช่วงสงกรานต์เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์กับเขา และ 3. ช่วงหลังสงกรานต์ต้องลงโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้อีกครั้งกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่าย
“ชิลินโด–เทสโก้ โลตัส” แชร์ประสบการณ์ สร้างแคมเปญบนเฟซบุ๊ก
2 แบรนด์ได้แชร์ประสบการ์ที่ได้ทำแคมเปญผ่านเฟซบุ๊ก ซิลินโด หรือ Chilindo เว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์อีกหนึ่งรูปแบบของอีคอมเมิร์ซได้เริ่มเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยผ่านเฟซบุ๊กโดยเฉพาะ
คาสปาร์ โบ เจนเซ่น ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชิลินโด บอกว่า “การทำตลาดในยุคนี้อย่าไปสรุปว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะเวิร์ค ต้องลองหลายรูปแบบ ต้องติดตามผมเพื่อประบให้เข้ากับตลาด ยุคนี้ลูกค้ามีความต้องการต่างกัน ต้องปรับให้เข้ากันด้วย สิ่งที่โดดเด่นจากการทำตลาดบนเฟซบุ๊ก เพราะมองว่าสามารถวัดผลได้ทันที สามารถปรับคอนเทนต์ตามแต่ละบุคคลได้ ทำให้ลองผิดลองถูก
จากการทำตลาดของชิลินโดบนเฟซบุ๊กภายในเวลา 3 เดือนชิลินโดสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า 35.7 ล้านคน เพิ่มยอดสมัครสมาชิกใหม่ได้ 865,300 ราย มียอดการสั่งซื้อสินค้ากว่า 896,600 รายการ ถือเป็นอีคอมเมิร์ซอีกรายที่มีการเติบโตสูง
สำหรับเทสโก้ โลตัสได้โปรโมตเทคโนโลยี iBeacon ตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้แล้วเพื่อใช้ในการเชื่อมระหว่างออนไลน์กับในสโตร์สามารถเพิ่มยอดขายได้ เทสโก้ได้เลือกใช้การโปรโมตให้ผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านทางเฟศบุ๊กเช่นกัน เป็นแคมเปญวิดีโอเพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจถึงเทคโนโลยีนี้ เพื่อกระตุ้นไปถึงการดาวน์โหลดแอปลงมือถือ
ภาคิณ ศรีบุศย์ดี หัวหน้าฝ่ายดิจิตอล เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “การทำแคมเปญใดๆ บนออนไลน์ หรือออฟไลน์จะต้องดูจุดประสงค์เป็นหลัก การมีโฆษณาหลายรูปแบบ ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแอปได้อย่างชัดเจนอีกด้วย อย่าง iBeacon เราต้องการสร้างการรับรู้ว่ารืออะไร มีสิทธิประโยชน์อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าดาวน์โหลด เลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก“
แคมเปญดังกล่าว ทำให้เทสโก้ โลตัสมีผลลัพธ์ความสำเร็จดังนี้ ได้รับคะแนนความต้องการซื้อ เพิ่มขึ้น 5 จุด ได้รับคะแนนการจดจำโฆษณา เพิ่มขึ้น 6 จุด มีค่าใช้จ่ายต่อการติดตั้งแอปพลิเคชั่นลดลง 16% เมื่อโฆษณาติดตั้งแอปบนมือถือ (Mobile App Install ads) เล่นไปพร้อมๆ กับโฆษณาวิดีโอ และมียอดการติดตั้งแอปสูงถึง 22,000 ครั้งใน 1 เดือน