อาจกล่าวได้ว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเคราะห์หามยามร้ายของกูเกิล (Google) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอลวัลเลย์เลยทีเดียว กับการถูกบอยคอตโดยบริษัทโฆษณาชั้นนำจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกรณีการเผยแพร่โฆษณาของบริษัทเหล่านั้น ในคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในอีกฟากหนึ่ง กูเกิล ก็ถูกกลุ่ม LGBT ต่อต้าน และแสดงความโกรธแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เนื่องจากกลุ่ม LGBT มองว่า กูเกิลมีการเซนเซอร์ข้อมูลมากเกินไป
ความต้องการที่ไม่ลงรอยกันจากทั้งฝั่งผู้โฆษณา และฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของกูเกิล กำลังเดินทางมาถึงจุดแตกหัก และผู้ที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากทั้งสองฝ่ายก็คือ ตัวกลางอย่างกูเกิล รวมถึงยูทูบ (YouTube) โดยสิ่งที่กระทบกับฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์นั้น เป็นฟีเจอร์ที่ชื่อ Restricted Mode ของยูทูบ ซึ่งจะกลั่นกรองเนื้อหาของคลิปได้ว่า เหมาะสมที่จะเผยแพร่ให้เด็กดูหรือไม่ โดย Restricted Mode นี้ได้ตัดสินว่า คอนเทนต์จากกลุ่มเพศที่สามจำนวนมากไม่ผ่านการพิจารณา ทั้งที่บางคลิปอาจไม่มีความรุนแรงอยู่ภายในเลย เพียงแต่ผู้นำเสนอเป็นกลุ่มเพศที่สามเท่านั้น ผลก็คือ มีการซ่อนคลิปเหล่านั้น ไม่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ และนำไปสู่ความโกรธแค้นดังกล่าวนั่นเอง
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงมาจากขนาดของแพลตฟอร์มที่ใหญ่เกินกว่าที่กูเกิลจะควบคุมไหว โดยทุกวันนี้แพลตฟอร์มอย่างยูทูบ มีคนอัปโหลดข้อมูลขนาด 300 ชั่วโมงขึ้นมาบนระบบทุกๆ 5 นาที ซึ่งหากจะว่าจ้างพนักงานมานั่งดูคอนเทนต์เหล่านี้ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดว่า 8 ชั่วโมงต่อวันแล้วล่ะก็ ต่อให้ใช้พนักงาน 5,000 คนก็ยังไม่พอ
อย่างไรก็ดี ตอนนี้กูเกิลน่าจะรู้คำตอบแล้วว่า การส่งให้อัลกอริธึมจัดการก็ไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมที่สุด เพราะอัลกอริธึมจะสแกนจากไตเติลของวิดีโอ และจากชื่อผู้สร้าง ซึ่งในส่วนนี้ฝ่ายผู้ผลิคคอนเทนต์ต้องระบุถึงรายละเอียดของตัวเองไว้ด้วย ดังนั้น เมื่ออัลกอริธึมวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ผลิตคอนเทนต์มาจากกลุ่ม LGBT จึงมีการแบนคอนเทนต์เหล่านั้น ออกจากระบบไปในที่สุด
ที่สำคัญ ปัญหานี้บางทีคำขอโทษจากปากผู้บริหารกูเกิล อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็เป็นได้
สำหรับปัญหาของกูเกิลในขณะนี้เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้เผชิญมาก่อนหน้านี้เช่นกัน โดยเฟซบุ๊ก ได้มีการอนุญาตให้ผู้ใช้งานรีพอร์ตเพจ หรือโพสต์ที่ไม่เหมาะสมเข้ามา และเมื่อได้รับรีพอร์ตก็มีการเข้าไปลบโพสต์ของผู้ใช้งานบางราย ปิดเพจของนักข่าวบางคน ฯลฯ ทั้งๆ ที่จริงๆ อาจไม่ใช่โพสต์ หรือเพจที่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่งผลให้บริษัทเองต้องออกมาชี้แจง และยอมรับผิดในหลายกรณี
ส่วนทางแก้ปัญหาของทั้งสองบริษัทก็น่าจะไปในแนวทางเดียวกัน คือ พัฒนา AI ขึ้นมาช่วยรับมือกับปัญหานี้ และหวังว่าจะมันจะเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ของทั้งฝั่งนักโฆษณา และผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ลงตัวมากขึ้น
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000029081