กูเกิล เผย 4 แนวทางนำพาประเทศไทยสู่ยุคดิจิตอล ด้วยการส่งเสริมการศึกษา เพิ่มคอนเทนต์ ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงธุรกิจออนไลน์ และเพิ่มโอกาสในการใช้งาน พร้อมเปิดพื้นที่สำนักงานเพิ่มเติมอีก 50%
Google ประเทศไทย ขยายพื้นที่สำนักงานเพิ่มอีก 50% เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจในประเทศไทย 4 กลุ่มหลัก การศึกษา (Education) คุณภาพของคอนเทนต์ (Content) ช่วยส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี/สตาร์ทอัพ (SMEs/Startups) และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของผู้ใช้ (User/Access) รองรับกับผู้ใช้ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก สตาร์ทอัพและผู้ใช้ทั่วไป
“จากการขยาย 4 ธุรกิจหลัก เพื่อช่วยส่งเสริมภาพรวมของประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอล ขณะเดียวกันกูเกิลมีพันธมิตรเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จึงขยายสำนักงานเพื่อรองรับพันธมิตรที่เข้ามาเทรนนิ่ง หรือทำกิจกรรมร่วมกันในอนาคต” เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทยกับ 4 เป้าหมายธุรกิจในช่วง 12 – 14 เดือนข้างหน้า
1. Education
ช่วงปีที่ผ่านมา กูเกิลมีการจัดงาน Google Ignite Google Developer Experts/Google Developer Group เพื่อช่วยพัฒนาผู้เชี่ยวชาญออกสู่ตลาด และจะมีการจัดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ด้วยการเพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับ Digital Marketing Camp
โดยได้เริ่มเปิดตัวในปี 2557 นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทดิจิทัล เอเยนซี่ ที่เป็นพันธมิตรกับ
กูเกิลมีกว่า 100 ตำแหน่ง สิ่งที่ได้จากโปรแกรมนี้ช่วยสร้างระบบนิเวศบนโลกออนไลน์ ทางกูเกิลเองก็ได้ผลพลอยได้จากการศึกษาโฆษณาของกูเกิล
นอกจากนั้นมีโปรแกรม Google Developer Experts และ Google Developer Groups ที่สอนเรื่องการใช้โปรแกรม แอนดรอยด์ หรือการพัฒนาเว็บไซต์ ตอนนี้ประเทศไทยมี Google Developer Experts ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ 11 คน มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. Content
ในส่วนของคอนเทนต์ กูเกิล มียูทิวบ์ ที่ปัจจุบันมียอดผู้เข้าชมในแต่ละวันมากกว่า 1 พันล้านชั่วโมง ทำให้กูเกิลมีการทำงานกับผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดผลงานในแต่ละปี การนำผู้ผลิตคอนเทนต์มาพบกับเหล่าพันธมิตรให้เกิดการลงทุน
ประเทศไทยมีการชมยูทิวบ์ติดท็อป 10 ของทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของพฤติกรรมการดูวิดีโอคอนเทนต์ และการเติบโตของโลคอลคอนเทนต์
ยูทิวบ์ได้มีการทำงานร่วมกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือผู้ผลิตคอนเทนต์มากขึ้น ทั้งที่เป็นผู้ผลิตทั่วไปและสถานีโทรทัศน์ หรือค่ายเพลง ในปี 2559 ได้มี Pop-up Space เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครีเอเตอร์ได้ผลิตผลงาน ล่าสุดได้จัดงาน YouTube Summit ที่เป็นงานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน รวมผู้ผลิตผลงานไว้ในงานเดียว
ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของช่อง Gold Button หรือช่องที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคนบนยูทิวบ์ จากปีก่อนมี 19 ช่อง ตอนนี้มี 51 ช่อง เห็นได้ว่าตลาดครีเอเตอร์ในไทยเติบโต มีคอนเทนต์ที่แปลก คนยังสนใจอยู่ ยูทิวบ์จึงมีการลงทุนในเรื่องคอนเทนต์มากขึ้น
และในปีที่ผ่านมามีการอัพเดตยูทิวบ์ถึง 160 ครั้ง ทั้งในเวอร์ชั่นแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ เพื่อให้มีการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยตลอด
3. SME & Start up
ส่วนในกลุ่มขององค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จากเดิมที่เน้นการนำธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่โลกออนไลน์ ก็เริ่มมีการจัดอบรมให้ความรู้ จัดงานประกวดไอเดียสตาร์ทอัพ เลือกตัวแทนไปเข้าร่วมเพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง กูเกิลมีโครงการ Launchpad Accelerator เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 2011 บ่มเพาะสตาร์ทอัพ 25 ประเทศ เปิดให้ไทยได้สมัครเป็นครั้งแรกแล้ว มีสตาร์ทอัพไทย 2 ราย Wongnai และ Skootar ได้เข้าร่วมโปรแกรมนี้ในระดับโกลบอล
4. Users
ในส่วนของผู้ใช้ ที่ผ่านพัฒนาบริการให้รองรับภาษาไทย และพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำบริการอย่างคำสั่งเสียง แผนที่ภายในอาคาร มาให้บริการแก่คนไทย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
กูเกิลได้พัฒนาให้มีการค้นหาที่ฉลาดขึ้น ค้นหาด้วยเสียงและมีการแปลภาษาด้วยระบบ Neural Machine จะแปลเป็นประโยคมากขึ้น แทนที่จะแปลเป็นส่วนๆ เพื่อให้ตรงความหมายมากขึ้น ส่วนกูเกิลแมป ปัจจุบันมีแผนที่ครอบคลุมพื้นที่ 90% ของทั้งประเทศ ขยายไปยัง Indoor Street View เป็นมุมมองในอาคาร ที่ออกมาแล้ว 6 เดือน เริ่มต้นจากในห้างสรรพสินค้าก่อน
อีกกลยุทธ์หนึ่งคือกูเกิลต้องการผลักดันให้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ยังได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์โอเปอเรเตอร์ดีแทค และเอไอเอสในการออกซิมโทรศัพท์ที่สามารถดูยูทิวบ์ได้ในราคาถูก ไม่ต้องมีแพ็กเกจแพง
ขยายพื้นที่ Cafe
Google เพิ่มโซนทำงานใหม่ เรียกโซนนี้ว่า Cafe อยู่บนชั้น 16 อาคารปาร์คเวนเจอร์ เพื่อจุดนัดพบให้คนของกูเกิลได้พบปะกับลูกค้าทั้งองค์กร และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ มีห้องประชุมที่ใหญ่ขึ้น และมีโซนคาเฟ่เพื่อเป็นมุมแฮงเอาต์
การออกแบบของโซนใหม่สำนักงานจะมี 3 ธีมหลัก เน้นเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ 1. Mass transit หรือ BTS ตกแต่งใช้ขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส และมีป้ายบอกสถานี เหตุผลเพราะต้องการสื่อถึงการเชื่อมต่อการเดินทาง เหมือนกับ
กูเกิลที่เป็นสื่อที่เชื่อมต่อการสื่อสารของผู้บริโภค 2. Cafe เป็นจุดแฮงเอาต์ที่มีกาแฟ อาหาร เป็นการเอาบรรยากาศคาเฟ่ร้านกาแฟ เพื่อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์ และ 3. Park เติมพื้นที่สีเขียวให้สำนักงาน มีการตกแต่งด้วยต้นไม้ เพื่อสร้างบรรยากาศเหมือนสวนสาธารณะ