ปอร์เช่ ปรับโฟกัสไกลกว่าแรงม้าและหันมาสนใจงานบริการมากขึ้น อย่างเช่น การค้นหาที่จอดรถใกล้ที่สุด ข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์เพื่อแจ้งเตือนคนขับ โดยมีเป้าหมายคือผลักดันให้บริการดิจิตอลสร้างรายได้อย่างน้อย 10% ของรายได้รวมต่อปี รองรับความเป็นไปได้ที่ยอดขายรถอาจหดตัวลง และทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลโมบิลิตี้ชั้นนำในเซ็กเมนต์รถหรู
ปีที่แล้ว ปอร์เช่ก่อตั้งธุรกิจใหม่ในชื่อว่า “ปอร์เช่ ดิจิตอล” ในเมืองลุดวิดส์บวร์ก เยอรมนี โดยมุ่งที่การระบุและประเมินแนวโน้มใหม่ๆ ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างบริการดิจิตอลสำหรับรถสปอร์ต 911, คูเป้ 4 ประตู พานาเมรา และเอสยูวี คาเยนน์
ปอร์เช่ยังเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสำหรับนักพัฒนาในเบอร์ลิน และเข้าซื้อหุ้นกองทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน อี.เวนเจอร์ส และผู้ให้บริการที่จอดรถ อีโวปาร์ค
ปัจจุบัน บริษัทรถหรูจากเมืองเบียร์แห่งนี้นำเสนอแอปพลิเคชันเคลื่อนที่ “ปอร์เช่ คอนเน็กต์” ที่มีฟังก์ชันการนำทาง ข้อมูลสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ และการติดตามรถจากระยะไกล
ในงานแถลงข่าวที่สตุตการ์ตช่วงกลางเดือนนี้ ลุตซ์ มิชเก้ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของปอร์เช่ บอกว่า ที่ผ่านมาการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจะทุ่มไปที่การพัฒนารถเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปปอร์เช่จะลงทุนปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาบริการดิจิตอล เช่น ซอฟต์แวร์นำทางคนขับไปยังที่จอดรถที่ยังว่างอยู่
มิชเก้มองว่า การพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ในโลกดิจิตอลจะช่วยให้ปอร์เช่รักษาการเติบโตไว้ได้ ด้วยการสร้างรายได้ชดเชยแนวโน้มยอดขายรถชะลอตัวในภาวะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับสู่เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งรวมถึงการขับขี่อัตโนมัติ และกระแสการแชร์รถใช้ (car-sharing) และรถร่วมโดยสาร (ride-hailing) ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของปอร์เช่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อโฟล์คสวาเกน บริษัทแม่ที่ยังคงต้องสะสางปัญหาต่างๆ จากเรื่องอื้อฉาวการโกงค่าไอเสียเครื่องยนต์ดีเซล และต้องขวนขวายหาเงินลงทุนรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุตสาหกรรม
ปีที่ผ่านมา ทั้งรายได้ กำไร และยอดขายของปอร์เช่พุ่งขึ้นทำลายสถิติ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 17.4% ของยอดขาย
สำหรับปีนี้ ปอร์เช่ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโฟล์คสวาเกนที่ทำรายได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากออดี้ คาดว่า ยอดขายและรายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนกำไรจากการดำเนินงานน่าจะสูสีกับปีที่แล้วเนื่องจากบริษัทต้องกันเงินไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นอยู่กับว่า อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่ผันผวน
ทางด้านโอลิเวอร์ บลูม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) เผยว่า เดือนนี้ ปอร์เช่เพิ่งเปิดตัวพานาเมราเวอร์ชันสเตชันแวกอน พร้อมทั้ง GT3 หรือ 911 สไตล์รถแข่ง และยังกำลังพิจารณาผลิตคาเยนน์เวอร์ชันคูเป้ ส่วนโครงการพัฒนารถสปอร์ตไฟฟ้าเต็มรูปแบบรุ่นแรกกำลังเดินหน้าเต็มสูบตามแผนเปิดตัวในปี 2019
บลูมยังแจกแจงว่า ปอร์เช่เล็งลดต้นทุนการผลิตลง 15% เพื่อปันเงินไปอัดฉีดโครงการรถไฟฟ้าและบริการดิจิตอล และคาดว่า การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเบนท์ลีย์และบูกัตติ บริษัทรถหรูร่วมค่ายโฟล์คสวาเกน จะทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนได้ถึงปีละ 107 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยขณะนี้โรงงานของปอร์เช่ในไลป์ซิก เยอรมนี กำลังเตรียมสร้างแชสซีสำหรับเบนท์ลีย์ คอนติเนนตัล ซึ่งจะสามารถรองรับการผลิตรถอื่นๆ อีกหลายรุ่น
สำหรับปอร์เช่ ดิจิตอลในลุดวิกส์บวร์กปัจจุบันว่าจ้างพนักงาน 100 คน และจะเพิ่มเป็น 500 คนในอนาคต เนื่องจากบริษัทกำลังเตรียมผุดธุรกิจในเอเชีย อิสราเอล และซิลิคอนแวลลีย์ เพื่อเติมเต็มแผนการผลักดันตัวเองขึ้นเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลโมบิลิตี้ชั้นนำในเซ็กเมนต์รถหรู
ซีเอฟโอของปอร์เช่ตั้งเป้าว่า บริษัทจะเป็นผู้ให้บริการทั้งแพล็ตฟอร์มและโมบิลิตี้ เพื่อกรุยทางปอร์เช่ข้ามผ่านพรมแดนของอุตสาหกรรมยานยนต์
ปอร์เช่มีแผนปรับปรุงประสบการณ์ค้าปลีกเป็นระบบดิจิตอลทั้งออนไลน์และในโชว์รูม โดยบริการมากมายที่วางแผนไว้อาจต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าจำนวนมาก ทว่า ต้องไม่ละเมิดอธิปไตยทางข้อมูลของเจ้าของ
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมงบวิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจบริการดิจิตอล10% รวมทั้งคาดว่า จะลงทุนในบริษัทก่อตั้งใหม่อนาคตไกล หรือร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้ธุรกิจนี้สร้างรายได้อย่างน้อย 10% ของรายได้รวมต่อปีในระยะกลาง ทั้งนี้ เดือนมกราคมที่ผ่านมา มิชเก้เคยประเมินไว้ว่า ปอร์เช่ ดิจิตอลจะทำยอดขายได้ถึง 30% ของยอดขายรวมของปอร์เช่ภายใน 7 ปี
http://manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9600000033917