ไทยพาณิชย์ปรับทัพครั้งใหญ่ “ความสำเร็จอาจจะไม่ได้มาจากวิธีการเดิม ๆ อีกต่อไป”

ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับทัพใหม่ ขยับปรับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้บริหารระดับสูง 7 คน เพื่อผนึกกำลังดูแลลูกค้า หวังสร้างความได้เปรียบในการให้บริการลูกค้า รองรับการเพิ่มบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ไฮไลต์ในการปรับองค์กร

  • เพื่อสร้างความได้เปรียบในการให้บริการลูกค้า
  • ผู้บริหารทั้ง 7 คน เติบโตมาจากสายงานที่สร้างความสำเร็จให้แก่ธนาคารมาแล้ว การนำประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางมาถ่ายทอดข้ามสายงาน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่
  • สนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของลูกค้ามากขึ้น 
  • ตั้ง SCB Academy
อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (มหาชน)

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (มหาชน) กล่าวว่า การหมุนเวียนผู้บริหารระดับสูงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ SCB Transformation ที่เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรในยุค New Normal ซึ่งจากนี้ไปความสำเร็จอาจจะไม่ได้มาจากวิธีการเดิม ๆ อีกต่อไป

ธนาคารไทยพาณิชย์ก่อตั้งมากว่า 110 ปี ได้ผ่านมาทั้งช่วงที่ดี ๆ และช่วงเวลาที่ลำบาก ดังนั้นการปรับตัวและการสร้างความยืดหยุ่นต่อปัจจัยต่าง ๆ มีความจำเป็นต่อการทำธุรกิจธนาคารเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในบางเรื่องอาจจะดีอยู่แล้ว แต่ขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก็ต้องนำมาพัฒนาเข้าด้วยกันเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากนี้ไปธนาคารจะลงทุนในเทคโนโลยีในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

การหมุนเวียนผู้บริหารระดับสูงนี้ก็เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่ลูกค้า เพราะผู้บริหารทั้ง 7 คนเติบโตมาจากสายงานที่สร้างความสำเร็จให้แก่ธนาคารมาแล้วทั้งนั้น จึงเป็นการดีที่จะได้นำประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางมาถ่ายทอดข้ามสายงาน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

นอกจากนี้แล้ว การหมุนเวียนหน้าที่ความรับผิดชอบในครั้งนี้จะเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งของธนาคาร โดยเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่พนักงาน และเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกคนพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมก้าวสู่ความรับผิดชอบใหม่ที่มีความท้าทายยิ่งขึ้นในธุรกิจด้านอื่น ๆ ของธนาคาร

การหมุนเวียนจะเกิดขึ้นในทุกระดับ และเป็นการสร้างความเติบโตให้แก่พนักงานด้วยการเปิดโอกาสให้ทำงานในหน้าที่ใหม่ ซึ่งธนาคารถือว่าการพัฒนาบุคลากรไม่ว่าจะด้วยวิธีการเข้าหลักสูตรอบรม หรือการหมุนเวียนงานเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะเป็นสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร ถึงแม้การลงทุนในเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่พนักงานทุกคนเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จบนเส้นทางของการเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด”

ผู้บริหารที่หมุนเวียนหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer ประสบการณ์การดูแลเครือข่ายสาขาทั่วประเทศของธนาคารมา 8 ปี จึงมีความเข้าใจพนักงานเป็นอย่างดี เพราะตลอดระยะเวลาที่ดูแลเครือข่ายต้องรับผิดชอบพนักงานสาขาทั่วประเทศ ทั่วทุกภาค จึงมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของพนักงานส่วนใหญ่ของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการเข้ามาดูแลคนไทยพาณิชย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ในฐานะ Chief People Officer จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ให้งานด้านบุคลากรที่มีเป็นหัวใจขององค์กร มีความแข็งแกร่งและสร้างพนักงานให้เติบโตไปพร้อมกับธนาคาร

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ งานลูกค้าบุคคลและเครือข่ายสาขา สำหรับงานลูกค้าบุคคลและเครือข่ายสาขา ได้มอบหมายให้นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รับผิดชอบ โดยนำความได้เปรียบเชิงลึกในการเข้าใจลูกค้าทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มายกระดับการบริการที่สาขาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าทั้งในด้านบริการและด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้าที่มาใช้บริการ

นางพิกุล ศรีมหันต์ ดูแลธุรกิจ SME จากความสำเร็จของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ นางพิกุล ศรีมหันต์ ได้สร้างมาตลอด 9 ปี และสร้างส่วนแบ่งการตลาดให้ธนาคารฯ อย่างก้าวกระโดด ความท้าทายใหม่ของคุณพิกุลคือธุรกิจ SME ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก ธนาคารมองเห็นว่าการให้วงสินเชื่อแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนา SME ไทยให้โตไปพร้อมกับ Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยจะเน้นการสร้างคุณค่าของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการให้ความรู้ และพัฒนาศักยภาพที่จำเป็น ร่วมกับภาครัฐอย่างมีระบบ เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแรงด้วยการสนับสนุนให้ก้าวสู่ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินกำลัง เพื่อสร้างช่องทางเป็นมาร์เก็ตเพลสให้ทุกคนเข้าถึง รวมทั้งสร้างวงจร Supply Chain ที่สมบูรณ์บนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายได้ทำธุรกรรมอย่างสะดวกและเบ็ดเสร็จ

นางสาวจามรี เกษตระกูล บริหารความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็นงานทัพหลังคัดกรองการให้สินเชื่อ เปลี่ยนมารับผิดชอบธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ด้วยประสบการณ์ด้านการอนุมัติสินเชื่อ จะสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาเสริมพนักงานสินเชื่อฯ ในการให้คำแนะนำการขอสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และสานต่อความสัมพันธ์ของพันธมิตรในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้แน่นแฟ้นต่อไป

นายวศิน ไสยวรรณ กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และสถาบัน นอกจากกลุ่มลูกค้าบุคคลแล้ว ธนาคารฯ มุ่งเน้นการให้บริการอย่างครบวงจรแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้นายวศิน ไสยวรรณ มาดูแลกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และสถาบัน ทั้งนี้ประสบการณ์ด้านตลาดเงินและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีธุรกิจในต่างประเทศ และรายรับรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ

นางภิมลภา สันติโชค ตลาดเงิน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีมากในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และสถาบัน จะเปลี่ยนมารับผิดชอบด้านตลาดเงิน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสร้างรายได้และลดต้นทุนให้แก่ลูกค้า รวมทั้งจะผลักดันบริการทางเงินให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อก้าวไปสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

นายวรวัจน์ สุวคนธ์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบ SCB Academy คนแรก ที่พร้อมสนับสนุนให้พนักงานทุกคนก้าวสู่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้นด้วยความรอบรู้และรู้รอบในธุรกิจธนาคาร ที่จะเป็นมูลค่าเพิ่มติดตัวพนักงานตลอดไป หลักสูตรการเรียนรู้ที่จะได้รับการพัฒนาขึ้น นอกจากความรู้ในธุรกิจธนาคารแล้ว ยังมีหลักสูตรที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย

อาทิตย์ ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ซึ่งธนาคารฯ มีความตั้งใจจริงในการดูแลพนักงานทุกคนให้มีความสุขในการทำงาน ต้องการให้พนักงานพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างสม่ำเสมอ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในสายงาน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของธนาคารต่อไปในอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ”SCB Academy” ที่ธนาคารฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมให้กับพนักงาน

ที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนให้กับนักการธนาคาร เพราะมีกระบวนการและระบบงานที่ชัดเจน วันนี้ไทยพาณิชย์ยังคงเป็นต้นแบบในการสร้างนักการธนาคารที่มีคุณภาพ ดังนั้นการตั้ง SCB Academy เป็นการตอกย้ำจุดแข็งในการสนับสนุนพนักงานให้เข้าถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจการเงินการธนาคารที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่สะดวก และเสริมทักษะพนักงานอย่างชัดเจน

แต่งตั้ง 8 รองผู้จัดการอาวุโส

ธนาคารฯ ได้แต่งตั้ง 8 รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส (SEVP) เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ได้แก่ นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รับผิดชอบกลยุทธ์องค์กร นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ รับผิดชอบ Wealth Segment & Product และ Retail Banking & Small SME Solutions นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รับผิดชอบลูกค้าบุคคลและเครือข่ายสาขา นางพิกุล ศรีมหันต์ รับผิดชอบลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นางภิมลภา สันติโชค รับผิดชอบ Commercial Banking Solutions นายวศิน ไสยวรรณ รับผิดชอบ Multi-Corporate Segment และ Corporate Segment นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รับผิดชอบทรัพยากรบุคคล นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รับผิดชอบงานปฏิบัติการ ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไปเช่นกัน

ด้วยความที่ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ อาจจะถูกมองว่ายึดติดกับรูปแบบธุรกิจแบบเดิม ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วธนาคารมีการปรับตัวมาโดยตลอด และหลังจากการมี SCB Transformation นี้แล้ว จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเรื่องลูกค้าที่ธนาคารฯ นำเป็นตัวตั้งในการพัฒนาทุกด้าน รวมทั้งความแข็งแกร่งในเชิงธุรกิจและการรักษาผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ได้อย่างลงตัว ซึ่งได้แก่ พนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล และสังคม ล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการก้าวไปสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุดต่อไป