“สหรัฐอเมริกา” ล้ม “โลก” สะเทือน

ตลอดเดือนกันยายน 2008 โลกต้องตื่นตระหนกกับความ “เจ๊ง” ของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา จนนำมาสู่เศรษฐกิจโลกที่ใกล้ “โคม่า” เพราะภายในเวลาเพียง 16 เดือนสถาบันการเงินทั่วโลกล้มละลาย หรือถูกเทกโอเวอร์กว่า 25 แห่ง เฉพาะครึ่งเดือนหลังของกันยายน 2008 นับได้ถึงกว่า 10 แห่ง

บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งไทยและต่างชาติ ระบุถึงตัวการสำคัญของต้นเหตุแห่งความหายนะครั้งนี้ว่ามาจาก “ความโลภ” ที่นำมาซึ่งความชาญฉลาดในการคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อการเก็งกำไรในรูปแบบใหม่ๆ เพราะการลงทุนรูปแบบเดิมๆ อย่างหุ้น ทองคำ พันธบัตร ค่าเงิน น้ำมัน และอื่นๆ “ซับซ้อน” ไม่พอที่จะทำให้ “ร่ำรวย” กว่าเดิม

สินเชื่อ “ซับไพรม์” (Subprime Loan) ต่อยอดมาสู่นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Securitization) ออกดอกออกผลแปรความ “เสี่ยง” เป็นกำไร ด้วยตราสาร CDO (Collateralized Debt Obligations) CDS (Credit Default Swaps) เกี่ยวพันกันหลายรอบจนมีการคำนวณมูลค่าธุรกิจ CDS ไว้ถึง 62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นวัตกรรมเหล่านี้ คือความซับซ้อนที่นักการเงินของอเมริกาประดิษฐ์ขึ้น โดยหวังทำกำไรทั้งในสหรัฐฯ และสร้างเครือข่ายไปทั่วโลกไป แต่เพียงไม่กี่ปี เครื่องมือเหล่านี้กลับเป็นอาวุธย้อนกลับมาทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาให้ล้มละลาย กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปยังยุโรปและเอเชีย ที่ต่างมีการค้าการลงทุนเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่

ขณะนี้แม้ผลกระทบจากภายนอกประเทศในประเด็นวิกฤตสถาบันการเงินยังไม่แรงนักสำหรับประเทศไทย เมื่อเทียบกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศ แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉย แม้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่เดิมจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้การเดินนโยบายเศรษฐกิจของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างระมัดระวัง และไม่ไว้ใจกองทุนเก็งกำไร (Hedge Fund) และกู้เงินจากต่างประเทศอย่างรอบคอบ แต่เมื่อประเทศไทยกำลังเจอทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศรุมเร้า ประเทศไทยจึงอาจแย่เป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2008 ความเจ็บปวดของสหรัฐฯ ใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นเมื่อสถาบันการเงิน 2 แห่งของสหรัฐฯ ล้มลง คือ “เลแมน บราเดอร์ส” วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ซึ่งชื่อของ “เลแมนฯ” เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย เพราะเป็นผู้ถือเงินเข้ามาซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไทยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และเป็นแหล่งทุนให้โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการในไทยมานานกว่า 10 ปี จนปัจจุบันมีสินทรัพย์ในไทยกว่า 50,000 ล้านบาท และอีกแห่งคือ “บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ เอไอจี”

ปัญหาของเอไอจีสะเทือนขวัญต่อคนไทยอย่างยิ่ง เพราะเอไอจีเป็นบริษัทแม่ของเอไอเอ บริษัทประกันชีวิตและประกันภัยอันดับ 1 ของไทย ที่มีคนไทยซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพรวมกันถึง 6.1 ล้านฉบับ สิ่งที่น่ากังวลคือ เอไอเอจะสามารถจ่ายเงินคืนได้หรือไม่ หากลูกค้าพร้อมใจกันไถ่ถอนกรมธรรม์ ยิ่งเมื่อมีการประกาศตัดขายกิจการหลายส่วน และขายหุ้นในบริษัทลูกรวมทั้งในเอไอเอประเทศไทยแล้ว ยิ่งทำให้ความตื่นตระหนกรุนแรงขึ้น

ประเทศไทยยังเจอผลอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อจีอีของสหรัฐฯ เริ่มมีปัญหา จนต้องเพิ่มทุนเสริมสภาพคล่อง คำถามต่อความเชื่อมั่นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงตามมา เพราะจีอีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และสัญญาณเตือนว่าทุนต่างชาติเริ่มกลับประเทศแล้วคือ บริษัท เซทเทเลม ประเทศไทย ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยจากฝรั่งเศสเลิกกิจการในไทย ถอนทัพกลับประเทศ ทำให้พนักงานอย่างน้อย 700 คนตกงาน

เศรษฐกิจไทยซึมซับความบาดเจ็บจากวิกฤตการเงินทั่วโลก โดยต่างชาติถอนทุนกลับ เห็นได้ชัดจากตลาดหุ้นที่ต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท แม้จะมีความพยายามจากทางการของไทยในการประชุมหารือเพื่อหามาตรการรองรับ ทั้งนโยบายการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ มาตรการทางการคลัง แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปของการประชุมเท่านั้น ยังไม่มีผลทางปฏิบัติ และมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ แต่ดูเหมือนปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้มาตรการเหล่านี้ไร้ผล ภาคเอกชนส่วนใหญ่จึงมีหนทางเพียงการช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้เท่านั้น

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงมีข่าวล้มรายวัน สถาบันการเงินหลายแห่งประกาศขายสินทรัพย์และกิจการทั้งในและนอกสหรัฐฯ แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะอัดฉีดเงินเพื่ออุ้มสถาบันการเงินเหล่านั้นแล้ว 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารกลางของชาติยุโรป หลายแห่งเตรียมเงินไว้เสริมสภาพคล่องเต็มที่หากสถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องใช้ รวมทั้งใช้มาตรการทางการเงิน ลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูตลาดหุ้นและลดต้นทุนทางการเงินให้ระบบเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่ามากเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ถึงขั้นที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เกจิหุ้น นักลงทุน และเศรษฐีของสหรัฐฯ เอง ยังพูดได้อย่างเห็นภาพว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นเสมือนเข้าสู่สภาวะหัวใจล้มเหลว และร่างกายได้ล้มลงนอนกับพื้นแล้ว”

นี่คือสัญญาณที่บอกว่า หากพญาอินทรีอย่างสหรัฐฯ และมหาอำนาจยุโรปไม่สามารถเยียวยาผ่าตัดตัวเองได้เร็ว อีกไม่นานอาการบาดเจ็บจะโคม่า และระบาดมาถึงเอเชีย ทั่วโลก รวมทั้งไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่หลายประเทศพร้อมผลิต แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไม่พร้อมบริโภค ณ เวลานี้ “วิกฤตเศรษฐกิจ” จาก “แฮมเบอร์เกอร์” จึงไม่ใช่แค่ยืดเยื้อเป็น “เดือน” เท่านั้น แต่จะเรื้อรังนานเป็น “ปี และหลายปี”

นี่คือเวลาที่จำเป็นต้องเข้าใจการล้มละลายของอเมริกา เพื่อรับมือ ปรับตัว เพื่อตัวเราเองทุกคน