“แบงก์ล้ม” วิกฤตที่ยังไม่มีบทสุดท้าย

เมื่อวิกฤตซับไพรม์คายพิษ ฟองสบู่ก็แตกดังโพละ ตามมาด้วยการล้มครืนของสถาบันการเงินเก่าแก่ของอเมริกา Lehman Brothers และ Merrill Lynch รวมทั้ง AIG ยักษ์ใหญ่วงการประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ AIA ที่คนไทยรู้จักกันดี จากนั้นก็มีข่าวธนาคารหลายแห่งย่ำแย่ตามกันมาเรื่อยๆ ทำให้ตลาดทั่วโลก “ตื่นตระหนก-ขวัญผวา” ว่ากำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งใหญ่รุนแรงกว่าช่วงสงครามโลกครั้งไหนๆ

ปล่อยเงินกู้ผิด คิดจนตัวตาย ต้นตอของ “วิกฤตวาณิชธนกิจ” ครั้งนี้ไม่ได้มาจากพิษซับไพรม์สั้นๆ ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา แต่สะสมปัญหา “หนี้เน่า” เรื่อยมาหลังจากรัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปี 2001 ส่งเสริมการบริโภคกันจนอ้วนอุ้ยอ้าย และหนักหน่วงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี 2006 ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินปล่อยกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาล รวมทั้งการเก็งกำไรในตลาดทุนอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ประชาชนที่นิยมเป็นหนี้บัตรเครดิตและเงินกู้ประเภทต่างๆ ขณะที่มีจำนวนออมเงินในธนาคารเหลือน้อยมาก

ดังนั้น การตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2007 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาทรุดหนัก อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อสูงลิ่ว ถาโถมด้วยราคาน้ำมันโลกพุ่งทะยานต่อเนื่อง จนกระทั่งปัญหาสะสมหนี้ทุกภาคส่วนเหล่านี้ไม่อาจหลบซ่อนได้อีกต่อไป วาณิชธนกิจเก่าแก่อายุ 158 ปีอย่าง Lehman Brothers ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายจากการขาดทุนกว่า $60 พันล้าน ส่วน Merrill Lynch ที่ดำเนินงานมา 94 ปี ก็ขาดทุนกว่า $19.2 พันล้าน นอกจากนี้ยังมี Bear Stearns, Fannie Mae (Federal National Mortgage Association) และ Freddie Mac (Federal Home Loan Mortgage Corporation) โชคดีที่รัฐโอบอุ้มสถาบันบางส่วนไว้ทัน แต่ใครจะเชื่อว่า AIG หรือ American International Group บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็บาดเจ็บสาหัสกับเขาด้วย!

ก่อนหน้านี้ ในปี 2006 AIG เพิ่งจะมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน แต่เพียงแค่1 ปีวิกฤตซับไพรม์ทำให้ AIG ต้องยอมรับว่าประสบภาวะขาดทุนจาก “หนี้เน่า” เกือบ $20 พันล้าน จากนั้นหุ้นของ AIG เริ่มร่วงหล่นลดฮวบฮาบลงเรื่อยๆ ถึงขั้นร่วงมาอยู่ที่ $5.15 ทั้งๆ ที่อดีตในยุคเฟื่องฟูราคาสูงถึงหุ้นละ $59

นักวิเคราะห์ชั้นนำเชื่อว่าสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในอเมริกากำลังทยอย “ล้ม” ตาม เพราะต่างก็ “อุ้มหนี้” สะสมไว้จน “หลังค่อม” ล่าสุด วาโชเวีย (Wachovia ) กลุ่มสถาบันการเงินที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ก็ย่ำแย่จนต้องขายธุรกิจธนาคารให้กลุ่มซิตี้แบงก์ ทำให้ขณะนี้ตลาดทุนขวัญผวาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมใจกันเทขายหุ้นกันไม่เว้นแต่ละวัน

AIG ไม่ช่วยไม่ได้ แม้เซียนตลาดหุ้นอย่าง Warren Buffets บอกว่าเขาไม่ต้องการลงทุนในบริษัทประกันภัยเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่ AIG ก็ควรอยู่คู่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่อไป เพราะหากบริษัทนี้ต้องปิดตัวลงจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจของโลกถดถอยอย่างหนัก เนื่องจากธุรกิจของ AIG ครอบคลุมกว้างขวางหลายวงการทั้งในและนอกประเทศ ไม่เพียงแต่มีการปล่อยเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกันภัยต่างๆ ยังรวมไปถึงกองทุนน้ำมัน และ International Lease Finance Corporation (ILFC) ซึ่งเป็นธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีจำนวนพนักงานมากกว่า 3 หมื่นคน ดังนั้น AIG จะ “ล้ม” ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกลางจำเป็นต้องเข้ามาโอบอุ้ม AIG ด้วยการอนุมัติเงินช่วยเหลือ ส่งผลให้เลขาธิการกระทรวงการคลัง Henry Paulson ได้รับการยกย่องจากตลาดทุนว่าเป็น “ฮีโร่” ที่ริเริ่มและผลักดันแนวทางแก้ไขนี้ร่วมกับ Ben Bernanke ประธานของธนาคารกลาง ทั้งๆ ที่ Paulson เป็นพวกนิยมตลาดเสรี แต่งานนี้เขาก็ยอมรับว่ารัฐต้องเข้าแทรกแซงเพราะ “ตลาดตายแน่ หากรัฐไม่ยอมจัดระเบียบ” ซึ่งในห้วงยามวิกฤตขณะนี้ อเมริกาจำเป็นต้องมีกฎระเบียบด้านธุรกรรมการเงินที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยุโรปเจอศึกหนัก

อังกฤษก็เป็นอีกประเทศที่ปล่อยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์หนักหน่วง พ่วงด้วยจำนวนเงินฝากเหลือน้อยพอๆ กับอเมริกา (ดูอัตราเงินออมประเทศ G-7 เพิ่มเติม) จนได้รับผลกระทบใหญ่หลวง และเกิดปรากฏการณ์รวมตัวของธนาคารขนาดกลางและเล็กให้เห็นแล้ว

ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษยึดธนาคารแบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ (Bradford & Bingley plc. : B&B) มาเป็นของรัฐแล้ว โดยจะขายทรัพย์สินที่ดีที่สุดต่อให้กับธนาคารแซนแทนเดอร์ (Santander Bank) ของสเปน ในราคา 612 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท) หลังจากที่เพิ่งยึดธนาคารนอร์ทเทิร์น ร็อค (Northern Rock) ไปไม่นานนักก่อนหน้านี้

ประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่น่าเป็นห่วงคือ ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม ซึ่งธนาคารฟอร์ติส (Fortis Bank) ของเบลเยียม-เนเธอร์แลนด์ ที่ถือหุ้นบริษัทประกันชีวิตของไทย เช่น เมืองไทยประกันชีวิตและภัทรประกันภัยที่ควบรวมกันไปแล้ว ก็มีปัญหาสภาพคล่อง แต่รัฐเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาชั่วคราวด้วยการทำให้เป็นกึ่งธนาคารของรัฐ ภายใต้ความร่วมมือแข็งขันของประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ ซึ่งได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ที่ทั้งร่วมถือหุ้นและอัดฉีดเงินช่วยเหลือรวม 1.12 หมื่นล้านยูโร เป็นต้น

เอเชียหวัง “ไม่แย่อย่างที่คิด”

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่าวิกฤตราคาน้ำมันที่คลี่คลายแล้วทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปไม่ย่ำแย่จนเกินไป ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายช่วยต่อท่อน้ำเลี้ยงชุบชีวิตทันท่วงที เช่น ธนาคารไฮโป เรียลเอสเตท (Hypo Real Estate : HRE) ของเยอรมนี ได้รับการอัดฉีดสภาพคล่องจากกลุ่มธนาคารในประเทศ เป็นต้น

สำหรับตลาดเอเชีย Huruhiko Kuroda ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ยอมรับว่าตลาดเอเชียไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากกรณีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ล้ม ทว่าบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ทำให้มีการกระจายความเสี่ยงด้านการค้าการลงทุนไปยังพื้นที่อื่นๆ แทนที่จะกระจุกอยู่ที่ตลาดเดียวหรือตลาดอเมริกา นอกจากนี้ระบบการเงินก็อยู่ในเงื้อมมือของธนาคารมากกว่าวาณิชธนกิจ เขาจึงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะไม่ “ร้ายแรงอย่างที่คิด” และน่าจะเกิดอาการถดถอยเพียง 1 – 2% เท่านั้น

ด้านองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ก็ยืนยันเช่นกันว่าตลาดการค้าโลกยังไปได้ดี โดย Michael Finger นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ WTO กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “เพราะเศรษฐกิจโลกตกต่ำมาตั้งแต่ 7 – 8 เดือนก่อนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จึงไม่ใช่หายนะ แต่แค่อ่อนแอลง ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงในภาคการค้าโลก”

รัฐต้องแทรกแซง “ยิ่งช้า ยิ่งเน่า”

เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซ้ำรอยวิกฤตในปี 1929 ที่ขยายวงจรเลวร้ายและสิ้นหวังไปทั่วโลกจนเรียกกันว่า “The Great Depression” ในที่สุดรัฐบาลเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็นำเสนอแผนฟื้นฟูตลาดการเงินมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญดอลลาร์ ที่ Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่า “เมื่อก่อนรัฐบาลทำผิดไปแล้ว แต่ขณะนี้พวกเขากำลังจะทำสิ่งที่ถูกต้อง”

แต่เรื่องกลับไม่ง่าย เพราะหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนอเมริกันตาดำๆ ที่กำลังเสื่อมความนิยมในตัวประธานาธิบดีบุช อันเนื่องมาจากความล้มเหลวและเผาผลาญสมบัติของชาติไปกับสงครามอิรัก พวกเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลโอบอุ้มตลาดทุนที่ร่ำรวย แทนที่จะนำเงินจำนวนนี้มาแก้ปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ขณะเดียวกันผลการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร (สภาคองเกรส) ล่าสุดเมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา ก็ไม่รับรองแผนดังกล่าว โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยมาจากพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีบุชเอง ทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐเอาใจประชาชนเพราะมีวาระซ่อนเร้นกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ แต่เตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงระนาวระเนระนาดทันทีหลังรู้ข่าว รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ในที่สุดแผนก็ผ่านการพิจารณา และส่งต่อให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบต่อไปในที่สุด

แต่ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ดูเหมือนยังไม่พอ เพราะแบงก์ในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างทยอยเปิดเผยฐานะที่ง่อนแง่น ต้องการความช่วยเหลือจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เชื่อว่าการอัดฉีดเม็ดเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คือความหวังในการเยียวยาเศรษฐกิจของอเมริกา และตลาดยุโรปที่กำลังหายใจระทวย เพราะสิ่งที่ปรากฏต่อเนื่องมาถึงต้นเดือนตุลาคมคือ “ปฏิกิริยาลูกโซ่” การล้มระเนระนาด ราวกับว่าแถวโดมิโนนี้ยาวไม่รู้จบ

ผลกระทบจาก Lehman, AIG และ Merrill

ทางลบ
– ตลาดหุ้นร่วงหล่นต่อเนื่อง จนหลายฝ่ายเกรงว่าหากรัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหาช้าเกินไป ผลกระทบจะขยายกลายเป็นลูกโซ่เหมือนที่เคยประสบมาแล้วจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 1929
– กำลังซื้อหดตัวและชะลอการลงทุนในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาและยุโรป
– สินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สินค้าฟุ่มเฟือย การท่องเที่ยว และการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกไปยังตลาดอเมริกาและยุโรป
– วิกฤตสายการบินจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หาก AIG ต้องขาย ILFC ซึ่งเป็นธุรกิจเช่าซื้อให้สายการบิน (ลูกค้าโบอิ้ง-แอร์บัส) ที่มีมูลค่ากว่า $50 พันล้าน
– อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
– ประเทศที่ผูกติดการลงทุนหรือภาคการท่องเที่ยวกับอเมริกาเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น เกาหลีใต้ หรือประเทศในหมู่เกาะคาริบเบียน เช่น บาฮามา เป็นต้น

ทางบวก
– จะมีการเพิ่มกฎ และจัดระเบียบธุรกรรมของวาณิชธนกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
– การควบรวมระหว่างธนาคารและวาณิชธนกิจ หรือระหว่างวาณิชธนกิจด้วยกันเองมากขึ้น
– ทุนจากญี่ปุ่น อินเดีย และตะวันออกกลางจะไหลเข้าสู่ตลาดทุนในอเมริกาและยุโรปมากยิ่งขึ้น
– ญี่ปุ่นและตลาดใหม่อย่างจีนและอินเดียจะมีบทบาทแทนตลาดอเมริกาและยุโรปมากยิ่งขึ้น เพราะมีการย้ายฐานการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้แทน

Time Line วิกฤตการณ์ทางการเงินสหรัฐอเมริกา
ปี 1997
เอเชียเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งไทยใน “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
ปี 2001
เหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐฯ 11 กันยายน โลกเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ /จีนเริ่มเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO)
ปี 2002-2004
สหรัฐฯ เริ่มขาดดุลทางการค้า/ดอลลาร์อ่อนค่า/ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย/ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์/การลงทุนโดยแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นำทรัพย์สินไปค้ำประกันเริ่มได้รับความนิยม
ปี 2004-2006
ราคาน้ำมันสูงขึ้น/เงินเฟ้อพุ่ง/Fed ขึ้นดอกเบี้ย
ปี 2007
– ฟองสบู่แตกจากวิกฤตซับไพรม์ หรือหนี้เงินกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป
– เม.ย. : นิวเซนจูรี่ ไฟแนนเชี่ยล หนึ่งในบริษัทเงินกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดของอเมริกาล้มละลาย
– เอไอจีพบข้อผิดพลาดด้านบัญชี แต่จัดการปัญหาทันท่วงที
– ส.ค.: เลแมนฯ ลดพนักงาน 1,200 คน หุ้นร่วง 52 %
– ก.ย.: เลแมนฯ ยอมรับว่าขาดทุนกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3
-ก.ย. : ธนาคารนอร์ทเทิร์น ร็อค ของอังกฤษถูกแปรรูปไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล
-ต.ค. : วาโชเวีย ลดมูลค่าสินทรัพย์ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
: เมอร์ริล ลินช์ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
: คันทรีไวด์ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
: ธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ของญี่ปุ่น ลดสินทรัพย์ลง 260 ล้านเหรียญสหรัฐ
-ธ.ค. : มอร์แกน สแตนเลย์ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 2008
-ม.ค. : ซิตี้กรุ๊ป ลดมูลค่าสินทรัพย์ 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ก.พ. : ผู้สอบบัญชีพบว่า AIG มีหนี้เสียมูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสแรก
: รัฐบาลอุ้มวาณิชธนกิจแบร์สเติร์นส์, แฟนนี เม และเฟรดดี แมค
: เมอร์ริล ลินช์ ลดมูลค่าสินทรัพย์อีก 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
: คันทรีไวด์ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เข้าซื้อกิจการ
: ธนาคาร บีเอ็นพี พาริบาส ของฝรั่งเศส ลดมูลค่าสินทรัพย์ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
: ธนาคารดีซีแบงก์ เอจี ของเยอรมัน ลดมูลค่าสินทรัพย์ 1,360 ล้านเหรียญสหรัฐ
– มี.ค. : แบร์สเติร์นส์ ถูกขายให้กับเจพี มอร์แกน เชส
: เอชเอสบีซี ของอังกฤษ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
: ธนาคารยูบีเอส ของสวิตเซอร์แลนด์ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
– เม.ย. : ธนาคารยูบีเอส ของสวิตเซอร์แลนด์ ลดมูลค่าสินทรัพย์ 37,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ก.ค. : ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เข้ายึดกิจการอินดี แมค
-7 ก.ย. : เฟดยึดกิจการ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค
-10 ก.ย. : เลแมนฯ ประกาศขายกิจการและยื่นล้มละลายวันที่ 14 ก.ย.
– 15 ก.ย.: เมอร์ริล ลินช์ ถูกขายให้กับแบงก์ออฟอเมริกา ราคา 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
-16 ก.ย. : เฟด ปล่อยกู้ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้เอไอจี หลังประกาศขาดทุน 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
-18 ก.ย. : เอสบีโอเอส ธนาคารลอยด์สของอังกฤษ ทำข้อตกลงซื้อกิจการเอสบีโอเอส
-24 ก.ย. : วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทุ่มเงินซื้อกิจการโกลด์แมน แซคส์ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
– 26 ก.ย. : ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล ขายสินทรัพย์ให้เจพี มอร์แกน เชส
– 28 ก.ย.: รัฐบาลของกลุ่มเบเนลักซ์ อัดฉีดเม็ดเงินอุ้มกิจการธนาคารฟอร์ติส
: แผนฟื้นฟูตลาดการเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐของรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิล ยู บุชไม่ผ่านสภาฯ
– 29 ก.ย. : ธนาคารแบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ แปรรูปไปเป็นของรัฐบาลอังกฤษ
: ซิตี้กรุ๊ป ซื้อกิจการธนาคารวาโซเวีย
: ธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ซื้อกิจการ มอร์แกน สแตนเลย์ 21%
: ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อัดฉีด 1.9 ล้านล้านเยน สู่ตลาดเงินในประเทศ
: ธนาคาร HRE เยอรมนี ได้รับเงิน 35,000 ล้านยูโรจากกลุ่มธนาคารในประเทศ
: วาโชเวีย ประกาศขายธนาคารแก่กลุ่มบริษัทซิตี้แบงก์ มูลค่า 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

-30 ก.ย. : ธนาคารเด็กเซีย ถือหุ้นโดยรัฐบาลเบลเยียมและฝรั่งเศส ได้รับเงินอัดฉีดสภาพคล่อง 9,180 ล้านเหรียญสหรัฐ
-3 ต.ค. : ธนาคารยูบีเอส เอจี สวิตเซอร์แลนด์ ปลดพนักงานวาณิชธนกิจอีก 2,000 คน ในสหรัฐฯ และอังกฤษ เอชีย แปซิฟิก รวมถึงสิ้นปีปลด 17,000 คน
: สภาฯสหรัฐฯ ผ่านแผนฟื้นฟู 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
-6 ต.ค. : ทางการเยอรมนีจัดการจัดหาสภาพคล่องอีก 15,000 ยูโร ของธนาคารเอชอาร์อี
-8 ต.ค. : “กอร์ดอน บราวน์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศอัดฉีดสภาพคล่องประมาณ 87,000 ล้านเหรียญสหรัฐสู่สถาบันการเงินอังกฤษ
: ทางการไอซ์แลนด์เตรียมแผนกู้วิกฤตสถาบันการเงิน ประกาศรับประกันเงินฝาก 100% และพร้อมควบคุมธนาคารพาณิชย์ โดยเข้าเทกโอเวอร์ธนาคารแลนด์สบังกี้ และเพิ่มเงินทุนให้กับธนาคารคอพติง
: รัสเซียออกเงินกู้ให้ธนาคารกลางไอซ์แลนด์ 5,430 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากอัดฉีดเงินเข้าเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารรัสเซีย 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
: ธนาคารกลางทั่วโลกประกาศร่วมมือเพื่อช่วยแก้วิกฤตทางการเงิน โดยลดดอกเบี้ย โดยเฟดลดดอกเบี้ย 0.5% ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ยอีก 0.5% และ ธนาคารกลางจีน ลดดอกเบี้ย 0.27% เพื่อหวังลดต้นทุนของธุรกิจ ลดต้นทุนสถาบันการเงินในการกู้เงินจากธนาคารกลางเพื่อเสริมสภาพคล่อง และหลังดึงเงินกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เพราะดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงดิ่งหนัก

อัตราเงินออมของประเทศกลุ่ม G-7 เมื่อเทียบกับรายได้มวลรวม (GDP)
ญี่ปุ่น 28.6%
เยอรมนี 23.8%
แคนาดา 23.7%
ฝรั่งเศส 20.4%
อิตาลี 19.3%
อังกฤษ 13.6%
อเมริกา 13.6%

ที่มา : International Monetary Fund, World Economic Outlook Database, เมษายน 2008