ส่งออกวูบกว่า 3 แสนล้านบาท

ปรากฏการณ์พญาอินทรีปีกหัก ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่จะลุกลาม ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกนาน คือความเห็นตรงกันจากทั้งนักวิชาการและกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทย ที่ต้องเจอทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศ จนในที่สุดแล้วภาคเศรษฐกิจจริงของไทยจะมีปัญหา โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกของไทย ที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สาหัสยาวถึงปี 2009

ทันที่มีมีข่าวว่า “เลแมน บราเดอร์ส” ประกาศ “ล้มละลาย” “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ แบงก์ขนาดใหญ่ของไทยบอกทันทีว่าวิกฤตรอบนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ และซึมยาวไปอีกอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งประเทศไทย ที่ภาคธุรกิจต้องเลือกชะลอการลงทุนหากลงทุนต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง

อีกความเห็นหนึ่งจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออก

“วิกฤตครั้งนี้จะยังไม่หยุด แม้จะมีแผนกอบกู้วิกฤตสถาบันการเงินแล้ว ไม่แน่ว่าปัญหาจะจบที่ตรงไหน เพราะปัญหาไม่อยู่ที่อสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว แต่กำลังลุกลามไปสู่ภาคสินเชื่อผู้บริโภคอื่นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ต่างๆ และสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งวันนี้สินเชื่อบัตรเครดิตสหรัฐฯ กำลังมีปัญหา และลุกลามไปถึงภาคอื่น น่าจะยาวนานถึงปีหน้า”

ดร.ศุภชัย ยังบอกด้วยว่าวิกฤตนี้จะกระทบต่อการค้าของโลกพอสมควร เพราะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้ใช้เงินเพื่อทำการค้าแพงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วก่อนหน้านี้ จากอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นที่ทำให้การค้าโลกหดตัวเหมือนเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 11 ปีที่แล้วที่การค้าโลกหดตัว 10%

“ผลกระทบต่อไทยโดยตรงเป็นภาคการส่งออก เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกคิดเป็นเกือบครึ่งของการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) แต่ไทยโชคดีที่มีการกระจายตลาดมาหลายปีแล้ว ทำให้เราไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เหมือนสมัยก่อน เรามีการกระจายตลาดไปยุโรปและเอเชีย ส่วนประเภทสินค้าที่จะกระทบน่าจะเป็นสินค้าพวกสิ่งทอ เครื่องหนัง และอาหารกระป๋อง ที่ไปสหรัฐฯ และยุโรปค่อนข้างมาก”

ผลกระทบจากวิกฤตสหรัฐฯ นั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ น่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

หากคนสหรัฐฯ ไม่จับจ่ายใช้สอย ย่อมกระทบไปทั่วโลก เพราะตลาดสหรัฐฯ มีการบริโภคมีเงินหมุนเวียน สร้างเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนจีดีพีถึง 20% ของโลก

“พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เขตประเทศไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยมี 3 แห่ง คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น 3 ตลาดมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 60% คาดว่า ในช่วง 6 เดือน – 1 ปีจากนี้ ซึ่งต่อเนื่องถึงปี 2009 อัตราการเติบโตของส่งออกของไทยจะโตเพียง 10% จากก่อนหน้านี้เคยโต 15-20% เช่นเดียวกับปี 2008 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การคาดการณ์ยอดส่งออกที่ลดลง มีมาจากสำนักวิจัยหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าในปี 2008 ไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเหลือ 5.5% คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 125 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,056 ล้านบาท ผลการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงจะต่อเนื่องถึงปีหน้า ทำให้การส่งออกรวมของไทยโตลดลงจาก 18.9-20.7% ในปี 2008 เหลือ 12.9-15% ในปี 2009 หรือมูลค่าส่งออกเหลือ 2.04,802-2.11แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากตลาดการเงินในยุโรปและญี่ปุ่นมีปัญหา ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกของไทยแห่งละประมาณ 10-15% จะทำให้มูลค่าส่งออกของไทยขยายตัวเหลือเพียง 10-11% หรือมูลค่าเหลือเพียง 1.99-2.02 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าหายไปประมาณ 9,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท

สำหรับสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมี 5 สาขา คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยสาขาที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือสิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยไปจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมปี 2008 ว่ามีการเติบโตชะลอลงเหลือเพียง 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการโตที่ต่ำสุดในรอบปี เพราะภาวะส่งออกของจีนที่อ่อนแรงจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อผลิตส่งออกชะลอลงด้วย

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัว 12.6 %ในเดือนสิงหาคม จากที่เติบโต 25.8% ในเดือนก่อนหน้า เม็ดพลาสติกขยายตัว 0.1% จากที่ขยายตัวมากกว่า 50% ในเดือนกรกฎาคม และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เติบโต 4.4% จากที่ขยายตัว 33% ในเดือนก่อนหน้า

ปัญหาอาจลุกลามตามมา เพราะทั้งจีนและไทยต่างมีตลาดหลักในการส่งออกตลาดเดียวกันคือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจีนส่งออกไป 3 ตลาดนี้รวมกันกว่า 45%

นี่คือสัญญาณชัดเจนว่าวิกฤตกำลังใกล้เข้ามา ลุกลามจากสถาบันการเงินมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริง อย่างผู้ผลิต และผู้ส่งออก ที่นอกจากต้องเจอปัญหาต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น เพราะสภาพคล่องของโลกตึงตัวแล้ว หากธุรกิจส่งออกมีปัญหา ไม่มีตลาดรับซื้อ รายได้ไม่เข้าประเทศ หนีไม่พ้นเกิดภาวะธุรกิจโรงงานปิดตัว คนตกงาน ปัญหาวิกฤตทางการเงินครั้งนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจโลกจึงไม่อาจนิ่งเฉย

ตลาดส่งออกของไทยปี ม.ค.-ส.ค.2008
ตลาด มูลค่า (ล้าน $) เพิ่มขึ้น/ลดลงเทียบกับปี 2008 (%) สัดส่วน % ของการส่งออก
1. ตลาดหลัก 62,025 17.6 51.7
สหรัฐอเมริกา 13,479 8.2 11.2
ญี่ปุ่น 13,552 16.1 11.3
สหภาพยุโรป 14,161 10.0 11.8
อาเซียน 20,832 33.1 17.4
2. ตลาดรอง 17,743 25.2 14.8
(ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา)
3. ตลาดใหม่ 38,486 36.0 32.1
(อินโดจีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ อินเดีย จีน
4. ตลาดอื่น ๆ 1,805 36.4 1.5

ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

สัดส่วนการส่งออกของไทย
ปี 1995 ตาดหลัก 69% ตลาดใหม่ 31%
ปี 2007 ตลาดหลัก 54% ตลาดใหม่ 46%

“ตลาดใหม่” ความหวังของการส่งออกไทย
ประเทศ/ภูมิภาค สัดส่วน อัตราเติบโตปี 2007
ปี 1995 ปี 2007
จีน 2.9 9.7 26.5
อินเดีย 0.5 1.7 47.2
แอฟริกาใต้ 0.4 0.9 20.9
อินโดจีน 2.7 4.9 22.1
ตะวันออกกลาง 4.5 4.9 30.0
———————————————————————-
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย