4 เรื่องน่ารู้เมื่อ Facebook ลงดาบกำจัดเครือข่าย spam

รายงานจากรอยเตอร์สระบุว่า Facebook กำจัดบัญชีปลอมในฝรั่งเศสมากกว่า 30,000 บัญชี

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก (Facebook) ระบุว่าได้ชัยชนะจากศึกต้านสแปมที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน โดยไม่เพียงปิดบัญชีปลอมหรือ fake account แต่ Facebook ยังสามารถขวางแคมเปญที่องค์กรสแปมในหลายประเทศดำเนินการไว้ได้อย่างราบคาบ

วิกิพีเดียให้คำจำกัดความสแปม หรือ spam ว่าเป็นชื่อเรียกการส่งข้อความที่ผู้รับไม่ได้ร้องขอ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนมากจะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้รับข้อความ เช่นเดียวกับผู้ใช้ Facebook ที่เริ่มได้รับข้อความลักษณะนี้มากขึ้น

ประเด็นน่ารู้เรื่องแรกคือ Facebook บอกว่าปฏิบัติการสแปมนั้นฝังรากในประเทศอย่างอินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย และบังกลาเทศ รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกที่ Facebook ไม่ได้ระบุชื่อ

ประเด็นที่ 2 คือหลักการทำงานของแคมเปญสแปม ชาบนัม เชค (Shabnam Shaik) ผู้จัดการโครงการฝ่ายเทคนิกของ Facebook ระบุว่าเครือข่ายสแปมจะสามารถเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ทั่วไปได้ด้วยการไลค์และโต้ตอบกับเพจของสื่อหรือ publisher รายใหญ่บน Facebook เมื่อสามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนใหม่ตามเพจเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะเริ่มส่งสแปม

ประเด็นที่ 3 คือ Shaik เล่าว่า Facebook พบว่ากิจกรรมการไลค์และโต้ตอบที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลมาจากวิธีสร้างกองทัพบัญชี Facebook แบบดั้งเดิมที่เคยทำมา แต่เป็นการใช้วิธีใหม่ที่สามารถตบตาได้ว่ากองทัพบัญชีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากแหล่งที่มาเดียวกัน จุดนี้ผู้บริหาร Facebook คาดหวังว่าจะสามารถขวางทางไม่ให้เครือข่ายนักสแปมสามารถส่งข้อความสแปมไปยังกลุ่มผู้ใช้มหาศาลบน Facebook ได้อีก

อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ Facebook ไม่ได้เปิดเผยจำนวนบัญชีที่มีผลกับการกวาดล้างครั้งนี้ จุดนี้ทำให้ไม่มีใครทราบว่า Facebook มีฐานผู้ใช้ลดลงจากที่เคยประกาศไว้ 1.8 พันล้านรายมากน้อยเพียงใด โดยตัวเลขฐานผู้ใช้เป็นสิ่งที่หลายคนจับตาเพราะ Facebook ใช้เป็นจุดขายหลักในการดึงนักการตลาดและนักโฆษณา บนคำการันตีว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก

ประเด็นนี้ต้องย้อนไปมองข้อมูลปี 2014 ที่ Facebook เคยเปิดเผยว่าบัญชีซึ่งเข้าข่ายถูกกวาดล้างไปนั้นมีประมาณ 67.7-137.8 ล้านบัญชี เนื่องจากเป็นบัญชีที่ถูกทำซ้ำหรือเป็นบัญชีผู้ใช้งานปลอม

ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะ Facebook เนื่องจากทวิตเตอร์ (Twitter) ก็ประเมินว่ากว่า 15% ของฐานผู้ใช้ 319 ล้านบัญชีต่อเดือนนั้นอาจเป็นบ็อต โดยตัวเลขนี้เป็นผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้หรือ University of Southern California และมหาวิทยาลัยอินเดียนา Indiana University

ทั้ง 4 ประเด็นนี้ตอกย้ำว่าโปรไฟล์ปลอม หรือบ็อตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเครือข่ายสังคม ขณะที่การสร้างซอฟต์แวร์สำหรับสร้างบัญชีปลอมนั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินมหาศาล

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000038880