‘หมอลี่’ ชี้ หากหัวเว่ยรุ่น Mate 9 และ P10 สเปกไม่ตรงกับที่วางจำหน่าย จะถือเป็นเครื่องเถื่อน ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบเอกสารให้ชัดเจนก่อน ด้าน ‘ก่อกิจ’ พร้อมให้ข้อมูลหาก สคบ.เชิญ ส่วนหัวเว่ยส่งแถลงการณ์แก้ตัวแบบไม่เข้าท่า
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยปกติการขอนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมจะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะต้องมีการรับรองมีการแสดงเครื่องหมาย (Label) เป็นการกำหนดหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคมให้กับเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ได้รับอนุญาตทำ หรือนำเข้ามาในประเทศ และผ่านการตรวจสอบลักษณะทางวิชาการจากสำนักงาน กสทช. แล้ว
นอกจากนี้ ต้องระบุข้อมูลบนเครื่องหมาย คือหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม (Registration number) ซึ่งไม่ใช่หมายเลขของการทดสอบรับรองตัวอย่าง (Type approval number) ผู้ได้รับใบอนุญาตทำ หรือนำเข้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ผ่านการทดสอบรับรองตัวอย่างแล้ว จะต้องส่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตทำ หรือนำเข้า ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบลักษณะทางวิชาการ และกำหนดหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม ดังนั้นในกรณีหัวเว่ยดังกล่าวนี้ ต้องกลับไปดูเอกสารว่ามีการขอนำเข้าอุปกรณ์ที่ระบุมาในใบอนุญาตนำเข้าว่าตรงกับที่ขออนุญาตหรือไม่ หากไม่ตรงตามเอกสาร อุปกรณ์โทรคมนาคมเหล่านั้นจะถือเป็นเครื่องเถื่อน
ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหัวเว่ยเกี่ยวกับหน่วยความจำของหัวเว่ยรุ่น Mate 9 และ P10 ว่าสเปกไม่ตรงกับที่วางจำหน่ายว่า โดยอำนาจของ กสทช.มีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะคลื่นความถี่ที่ตัวเครื่องส่งสัญญาณ ซึ่งจะมีการเช็กกับแลปในต่างประเทศว่าการส่งสัญญาณของเครื่องตรงตามที่ระบุว่าในใบขออนุญาตหรือไม่ โดยการตรวจสอบก็เพื่อไม่ให้คลื่นความถี่รบกวนกัน โดยในกรณีดังกล่าวหากผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถือเป็นสิทธิของผู้บริโภค โดยแนวทางของ สคบ.ก็จะเชิญตัวแทนของสำนักงาน กสทช.ไปให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มีแบตเตอรี่ฝังมากับตัวเครื่องไม่ได้แยกชิ้นเหมือนแต่ก่อน ทำให้ กสทช.จึงอยากขอส่งหนังสือไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อได้รับสิทธิในการตรวจสอบเครื่องทั้งหมด ไม่ต้องแยกชิ้นส่วนเหมือนที่ผ่านมา
*** หัวเว่ยชี้แจง
หลังผู้บริโภคได้รับรู้ถึงการเล่นตุกติกของหัวเว่ยในโลกออนไลน์ จนทำให้เกิดกระแสถล่มรุนแรงในช่วงไม่กี่วัน หัวเว่ยคงรู้แล้วว่าอยู่เฉยไม่ได้ จึงส่งแถลงการณ์ที่น่าจะทำให้เกิดความไม่พอใจรุนแรงมากขึ้น เหมือนเติมฟืนเข้าไปในเตา ความว่า ‘หัวเว่ย ได้ทราบถึงการพูดถึงเรื่องหน่วยความจำของ Huawei Mate 9 Series และ P10 Series จึงขอเรียนชี้แจง ดังนี้
UFS 2.1 เป็นมาตรฐานอินเทอร์เฟสที่กำหนด โดยสมาพันธ์ร่วมด้านวิศวกรรมชิ้นส่วนอิเลคตรอน (JEDEC) โดยทั้งมาตรฐาน UFS 2.1 (JEDEC Standard No.220C) และ UFS 2.0 (JEDEC Standard No.220 B) มีอัตราความเร็วเท่าเทียมกัน ระหว่าง 249.6 – 583.04 MB/วินาที หรือ 2496 – 5830.4 Mb/วินาที และ Huawei Mate 9 Series เป็นไปตามมาตรฐานอินเทอร์เฟสของ UFS 2.1
สำหรับ Huawei P10 Series หัวเว่ยมีมาตรฐานในการจัดหาชิ้นส่วนและเลือกใช้โซลูชั่นจากผู้ผลิตหลากหลายที่น่าเชื่อถือทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าหัวเว่ยจะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภคควบคู่ไปกับการมีปริมาณการผลิตที่พอเพียงต่อความต้องการของผู้บริโภค
ในส่วนของเรื่อง DDR4 RAM บริษัทขอยืนยันว่า Huawei Mate9 Series และ P10 Series ใช้ DDR4 RAM
สำหรับคุณลูกค้าที่ใช้ Huawei Mate 9 Series และ P10 Series อยู่และมีความกังวลเกี่ยวกับสินค้า สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าหัวเว่ย สาขา เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (เวลาให้บริการ 10.30 – 19.30 น.) หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย ขอยืนยันว่าเราดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงมาตรฐานสินค้าและความพึงพอใจของลูกค้าคนไทยทุกท่านเป็นสำคัญ’
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่า ในคำชี้แจงของหัวเว่ย ไม่มีคำว่าขอโทษ ขออภัย หรือ เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้เท่าปลายเล็บ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ใครมีปัญหาไปติดต่อที่ศูนย์บริการได้ พร้อมคำอธิบายทางเทคนิคว่า UFS 2.1 (JEDEC Standard No.220C) และ UFS 2.0 (JEDEC Standard No.220 B) มีความเร็วเท่าเทียมกัน
‘คำถามภาษาคนง่ายๆ คือถ้าความเร็วเท่ากันไม่แตกต่าง แล้วจะมี 2.1 ไปทำไม แล้วโฆษณาว่าใช้ 2.1 แต่เครื่องจริงใช้ 2.0 มันเข้าข่ายหลอกกันหรือเปล่า พรุ่งนี้ (26) ที่จะไปร้องเรียน สคบ. ก็หวังว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาให้ชัดเจนถึงใจ คุ้มครองผู้บริโภคจริงจังหน่อย ไม่ใช่เห็นเป็นบริษัทใหญ่แล้วหงอ ไม่มีน้ำยา’
ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041656