เผย 9 จุดอ่อน ธุรกิจญี่ปุ่น “รอวันพ่าย ไร้วันฟื้น”

ธุรกิจญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้ายุทธจักรในเวทีการค้าโลก สินค้าญี่ปุ่นเคยครองตลาดและครองใจผู้บริโภคทั่วโลก แต่ทุกวันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งโตชิบา, ชาร์ป, มิตซูบิชิ, โซนี่ และอีกมากมาย ต้องเผชิญกับวิกฤตขั้นรุนแรง สินค้าญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้ให้กับสินค้าเกาหลีและจีน ความเสื่อมถอยของบริษัทญี่ปุ่นเกิดจากระบบบริหารงานและยุทธศาสตร์ที่ตามโลกไม่ทันของญี่ปุ่นเอง

นิตยสารของญี่ปุ่นได้เผยแพร่บทความที่รวบรวมขึ้นจากความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับจุดอ่อนที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันทางธุรกิจสมัยใหม่ บทความนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง แม้แต่ชาวญี่ปุ่นเองก็ยังต้องยอมรับว่ามีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย

1. ทุกสิ่งต้องเพอร์เฟกต์ เน้นนวัตกรรมเกินเหตุ

ธุรกิจญี่ปุ่นก็เหมือนกับชาวญี่ปุ่นที่นิยมความ “สมบูรณ์แบบ” แผนงานและสินค้าต่างๆ ต้องผ่านการกลั่นกรองและทดลอบครั้งแล้วครั้งเล่า จนมั่นใจเกิน 100% จึงเดินหน้าการผลิตและทำการตลาด

วิธีการเช่นนี้ทำให้สินค้าของญี่ปุ่นมีคุณภาพสูงจนเป็นที่ยอมรับ หากแต่ในยุคปัจจุบันกลับ “ไม่ทันกิน” แตกต่างจากจีนและเกาหลีที่ใช้วิธี “ทำไปพัฒนาไป” ซึ่งอาจมีปัญหาบ้าง แต่ได้เปรียบที่ความรวดเร็วกว่า

เทคโนโลยีหลายอย่างที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่ม แต่กลับถูกจีนและเกาหลีช่วงชิงตลาดได้ก่อน เพราะญี่ปุ่นมัวแต่ทดสอบอยู่ โดยเฉพาะทุกวันนี้ ผู้ที่เข้าสู่ตลาดก่อนย่อมได้เปรียบมากกว่า นอกจากนี้ การแก้ปัญหาของฝ่ายญี่ปุ่นก็จำกัดอยู่เพียงในสนามทดลอง แต่จีนและเกาหลีได้ได้แก้ปัญหาจากการใช้งานจริง และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมมากเกินควร ในบางกรณีการพัฒนาสิ่งใหม่เพียง 1% อาจเพิ่มต้นทุนมากถึง 30% ซึ่งทำให้ราคาของสินค้าญี่ปุ่นแข่งขันไม่ได้ในเวทีระหว่างประเทศ

2. ไม่คิดถึงผู้ใช้งานมากพอ

บริษัทญี่ปุ่นมักมั่นใจว่า “ของดีต้องมีคนซื้อ” แต่สินค้าญี่ปุ่นหลายอย่างกลับใช้งานยุ่งยาก มีฟังก์ชันมากมายที่แทบจะไม่ได้ใช้เลย นอกจากนี้สินค้าญี่ปุ่นยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น กรณีโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่ขายในอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียชอบดูการแข่งขันคริกเก็ต และเมื่อชมละครหรือรายการอื่นก็ยากจะติดตามผลคริกเก็ตไปด้วย โทรทัศน์ญี่ปุ่นไม่ยอมปรับฟังก์ชันรองรับ ขณะที่โทรทัศน์ของเกาหลีมีฟังก์ชันซ้อนจอขนาดเล็กให้ดูคริกเก็ตไปพร้อมๆ กัน และทำให้โทรทัศน์เกาหลีครองตลาดในอินเดียได้อย่างง่ายดาย

3. ระบบจ้างงานที่ไม่ยุติธรรม

ในอดีตบริษัทญี่ปุ่นใช้ระบบจ้างงานตลอดชีวิต ซึ่งทำให้พนักงานมั่นใจในความมั่นคง และทุ่มเททำงานได้อย่างไม่ต้องกังวล แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระบบจ้างงานตลอดชีวิตก็ทำให้พนักงานไม่กระตือรือร้น นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นยังคงระบบอาวุโส และรุ่นพี่-รุ่นน้องอย่างมาก ทำให้พนักงานระดับล่างไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่พัฒนาตนเอง ขณะที่ผู้บริหารก็เป็น “เสือนอนกิน” และใช้อำนาจมิชอบได้ง่าย ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรัฐวิสาหกิจในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้บริษัทญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบจ้างงานเป็นระบบ “ชั่วคราว” และ “สัญญาจ้าง” บริษัทใหญ่ๆจำนวนมากแทบจะไม่มีพนักงานประจำเลย เกือบทุกคนล้วนแต่เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ หรือสัญญาจ้างคราวละ 1- 5 ปี

การจ้างงานลักษณะนี้ไม่มีสวัสดิการ ทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มีกำลังใจในการทำงาน นอกจากนี้ค่าจ้างของพนักงานขั่วคราวและพนักงานประจำก็แตกต่างกันมาก ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีมาตรการว่า “คนที่ทำงานแบบเดียวกันควรได้ค่าจ้างเท่าเทียมกัน” แต่บริษัททั้งหลายก็หาได้ปฏิบัติตามไม่

4. ยุทธศาสตร์ต่อจีนล้มเหลว

ญี่ปุ่นมองจีนเป็นคู่แข่งมาตลอด ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผิดพลาด เพราะระดับเทคโนโลยีของจีนยังต่างจากญี่ปุ่นอยู่มาก ญี่ปุ่นไม่อาจแข่งกับจีนเพื่อผลิตสินค้าตลาดทั่วไปได้ แต่จีนก็ยังไม่สามารถเทียบกับญี่ปุ่นเรื่องเทคโนโลยีและการออกแบบได้เช่นเดียวกัน

บริษัทญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้ใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่จีนที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากยังรู้สึก “เสียหน้า” หากต้องร่วมทุนกับบริษัทจีน ทั้งๆ ที่บริษัทจีนอย่าง ไฮเออร์, TCL, ฉางหง หรือ เสียวหมี่ ล้วนเป็นเจ้ายุทธจักรในแดนมังกร การไม่ยอมร่วมมือกับบริษัทสัญชาติจีนที่มีฐานลูกค้าและรู้จักตลาดมากกว่า ทำให้บริษัทญี่ปุ่นสูญเสียโอกาสในการเติบโต

5. รัฐบาลไม่ช่วยเหลือธุรกิจญี่ปุ่นมากพอ

ในอดีต รัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างสูงในการอุ้มชูอุตสาหกรรมหลายอย่างและภาคเกษตร ทั้งโดยการสนับสนุนเงินทุน, เทคโนโลยี และปกป้องจากการแข่งขัน บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นล้วนเติบโตมาจากผูกขาดหรือสัมปทาน แล้วจึงค่อยก้าวสู่ตลาดเสรี

แต่ทุกวันนี้ บริษัทญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยมาก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีออนไลน์ ชาวญี่ปุ่นใช้แอปพลิเคชั่น LINE, Facebook, Google, อเมซอน อย่างกว้างขวาง และไม่มีผลงานของญี่ปุ่นเองเลยที่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่เมื่อเทียบกับจีนและเกาหลีใต้ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังนิยมแอปพลิเคชั่นของชาติตัวเองมากกว่า ทั้ง WeChat , Alibaba และ KaKaoTalk

6. ภาพพจน์ที่สั่งสมมาของบริษัทญี่ปุ่นเริ่มล่มสลาย

บริษัทญี่ปุ่นเคยมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ข่าวอื้อฉาวทั้งการตบแต่งบัญชี, ใช้ข้อมูลเท็จ รวมทั้งปัญหาความปลอดภัยของสินค้าที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ผู้บริโภค “ตาสว่าง” ว่า ธุรกิจญี่ปุ่นก็ไม่ได้ “มือสะอาด” มากกว่าบริษัทชาติอื่นๆ

7. มองสถานการณ์โลกไม่ขาด ลงทุนเกินตัว

ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซาต่อเนื่อง แต่บริษัทญี่ปุ่นกลับมองโลกในแง่ดีเกินไป และยังขยายการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งผลลัพธ์ของโตชิบา, ชาร์ป, พานาโซนิค, โซนี่ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การลงทุนในต่างแดนที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เงินทุนที่สั่งสมมาหลายสิบปีสูญสิ้น และแม้แต่ธุรกิจหลักของตัวเองก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้

8. หลงคิดว่าราคาสินค้าของตัวเองยังแข่งขันได้

บริษัทญี่ปุ่นมักตั้งราคาสินค้าของตนสูงกว่าสินค้าจากจีนและเกาหลีค่อนข้างมาก เพราะคิดว่ามีภาพลักษณ์และเทคโนโลยีดีกว่า แต่ผู้บริโภคในทุกวันนี้ไม่ได้สนใจสินค้าที่ใช้งานได้เป็น 10 ปีอีกต่อไป แต่พอใจที่จะซื้อของใหม่หากสินค้าเสียมากกว่าจะทนซ่อมใช้ต่อ

9. การเมืองในองค์กร ผู้นำไร้สามารถ ลูกน้องฆ่ากันเอง

ธุรกิจของญี่ปุ่นมีลักษณะประหลาด คือ “ไม่แข่งกับคนนอก แต่แข่งกันเองภายใน” บริษัทต่างๆ มักรวมตัวกันเป็นสมาคมธุรกิจเพื่อฮั้วกันกลายๆ และหลีกเลี่ยงจะแข่งขันกันโดยตรง

หากแต่ภายในบริษัทกลับตาลปัตร พนักงานต่างถูกกดดันให้แข่งกันสร้างผลงาน และยังแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ขณะที่ผู้นำบริษัทหลายคนไม่มีความสามารถ แต่มีอำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง โดยหากเกิดวิกฤต เหล่าผู้นำก็เพียงแต่ออกมาโค้งแสดงความขอโทษหรืออย่างมาก็ลาออก แต่ความจริงแล้ว พวกเขาก็ยังเป็น “เจ้าของบริษัท” อยู่เหมือนเดิม

ชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นต่างบอกว่า ญี่ปุ่นมีสภาพแวดล้อมที่ดีและผู้คนที่เป็นมิตร แต่ในโลกของการทำงานกลับ “โหดร้าย” อย่างมาก ทั้งการทำงานจนตาย หรือการใช้อำนาจในที่ทำงาน และที่สำคัญคือ ค่านิยมที่ปิดรับคนนอก สิ่งเหล่านี้เคยเป็นอาวุธสร้างภูมิใจให้กับบรรดาลูกพระอาทิตย์ แต่ทุกวันนี้กลับหันปลายดาบมาทิ่มแทงชาวญี่ปุ่นเอง และอาจเป็นบาดแผลที่แทงทะลุถึงขั้วหัวใจ.

ที่มา : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9600000039348