ซองขาว…ตกงาน?

ภาพยนตร์โฆษณาที่พยายามสร้างอารมณ์ขันนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การสร้างตลกร้าย หรือ Black Humor นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หากมือไม่ถึง จะกลายเป็นไร้รสนิยมไปในทันที

โฆษณาตลกร้าย จึงมีให้เห็นกันบ่อยนัก เหตุเพราะมันทำยากนี่แหละ

บังเอิญ โฆษณาของ TRUE MOVE ชิ้นนี้ เข้าท่าเข้าทางจนต้องอดเอ่ยถึงไม่ได้ เพราะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การทำโฆษณาจากเดิมเรื่อง People’s Connects ไปเยอะทีเดียว

เข้าใจว่าเหตุผลคงไม่มีอะไรมากไปกว่าตลาดธุรกิจมือถือทุกวันนี้มันอิ่มตัวกันมากแล้ว เรื่องที่จะสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยความฝันสวยๆ มันไม่มีความจำเป็นอะไรแล้ว มันต้องตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของผู้บริโภคให้ได้ เพื่อรักษาความภักดีในแบรนด์เอาไว้ เนื่องจากว่า ความภักดีในตลาดที่อิ่มตัวนั้น มันมีเวลาแสนสั้น ต้องกระตุ้นกันเรื่อยๆ จะมาอ้อยสร้อยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเห็นจะไม่ไหวเป็นแน่

โฆษณาชิ้นนี้ ถือว่าโดนใจอย่างมากทีเดียวตรงที่หยิบยกเรื่องของการปลดพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อันเป็นประเด็นร้อนที่มักจะเกิดขึ้นตอนที่ภาวะธุรกิจกำลังไม่สวย ต้นทุนสูงขึ้น หรือตลาดอิ่มตัว หรือกำลังซื้อเริ่มถดถอย

เราจึงได้เห็นการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา ด้วยภาพผู้บริหารที่ทำหน้าขมึงทึง โดยมีพนักงานหน้าจ๋อยๆ ยืนรุมล้อมโต๊ะอยู่ พร้อมกับคำพูดชนิดเสียวสันหลังที่พนักงานทั้งหลายไม่อยากได้ยินกัน ประเภท ”เนื่องจากความจำเป็นของบริษัท…”

บรรยากาศของพนักงานยิ่งเคร่งขรึมรุนแรง เพราะเริ่มเครียด เมื่อผู้บริหารเริ่มแจก ”ซองขาว” อันเป็นสัญลักษณ์ของคำสั่ง ”เลิกจ้าง” หรือ “ปลดออกจากงาน” พร้อมกับจดหมายเสียดแทงใจ ที่แม้จะมีคำว่า พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้ (ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก)

จากนั้น ก็กลายเป็นแอนตี้-ไคลแมกซ์ขึ้นมาในทันที เมื่อเสียงหัวเราะของผู้บริหารดังขึ้นอย่างทะเล้น เพราะในซองขาวดังกล่าว ไม่ใช่จดหมายเลิกจ้าง แต่เป็นบัตรเติมเงินของ TRUE MOVE ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป และเรื่องก็เลยจบแบบแฮปปี้ เอนดิ้งไปเลย

ก่อนที่ตัวอักษรโฆษณาอื่นๆ จะขึ้นตามมา ซึ่งคนดูไม่สนใจอีกแล้ว เนื่องจากว่า อารมณ์กระเจิงไปแล้ว

เป็นทีเด็ดที่ยอดเยี่ยมจริงๆ เหมือนตลกหักมุมของชาร์ลี แชปลินในบางตอนหรือบางเรื่องกันเลยทีเดียว

ต้องขอชมกับไอเดียบรรเจิดและตลกร้ายของคนเขียนบทชิ้นนี้จริงๆ

ไม่ธรรมดาเลยครับ!

นี่คือการเอาสถานการณ์ปัจจุบันมาล้อเล่นอย่างนี้ ถือว่าช่วยกระตุ้นต่อมคิดของคนดูภาพยนตร์ได้มากกว่าธรรมดา เพราะอย่างที่เรารู้กันนั้น ปีนี้เป็นปีของความเครียดในบรรดาธุรกิจบ้านเราอย่างมาก ไหนเลยจะมีการประท้วงไม่หยุดหย่อนของพวกอยากกู้ชาติ ไหนเลยจะราคาน้ำมันแพง…ไหนเลยราคาสินค้าจะแพงหูฉี่พร้อมกันทุกอย่าง…ไหนเลยจะมีแต่ข่าวร้ายจนไม่อยากรับรู้อะไร ฯลฯ

ความเครียดจึงแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของสังคมไทย อาการนักการเงินเรียกว่า เงินตึงตัว ซึ่งในอีกมุมหนึ่งหมายถึงอัตราผลตอบแทนของกำไรของผู้ประกอบการทั้งหลายจะลดต่ำลงเมื่อเทียบกับเงินต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น

ภาวะอย่างนี้ ผู้ประกอบมีทางเลือก 2 ทางเท่านั้นคือ รักษาผลกำไรให้เท่าเดิม ด้วยการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนให้มากขึ้น กับลดวงเงินหมุนเวียนให้น้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน

อย่างหลังนี้แหละ คือที่มาของพฤติกรรมลดขนาดของกิจการลง ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่ลดวงเงินลงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้รอบของเงินที่หมุนเวียนไหลช้าลง ซึ่งในด้านการจัดการเขาเรียกมันเพราะพริ้งว่า Downsizing Strategy ซึ่งแรงสะเทือนจะไปตกหนักสุดอยู่ที่พนักงานลูกจ้างทั้งหลายในองค์กรนั่นแหละ

เหตุผลก็ง่ายๆ ทรัพยากรในหน่วยธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ขนาดใหญ่ เป็นต้นทุนที่ลดลงได้ยากที่สุด เพราะไหนๆ ก็มีอยู่แล้ว เช่นอาคาร รถยนต์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ แต่ทรัพยากรที่ลดได้ทันทีโดยเห็นผลทันตาก็คือ บรรดาพนักงานที่กินเงินเดือนคงที่นี่แหละ เพราะเห็นผลเร็ว มีประสิทธิผลสูง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เงินสดที่จะต้องจ่ายเป็นเงินเดือนลดลงฮวบฮาบ

คำว่า Downsizing จึงเข้าใจง่ายๆ ว่า มันก็คือการปลดพนักงานออกจากงานนั่นเอง โดยมีสัญลักษณ์ของความอัปลักษณ์ทางอารมณ์ที่รับรู้กัน นั่นคือ การแจก ”ซองขาว”

ข้อดีของการลดจำนวนพนักงานนอกจากทำให้ต้นทุนคงที่ลดลงทันทีแล้ว อีกด้านหนึ่งพนักงานที่เหลือ ก็จะถูกมอบหมายงานที่หลากหลายมากขึ้น ผลลัพธ์โดยตรงก็คือ จำนวนค่าแรงต่อคนที่จ่ายออกไป ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมคนที่มีภาระต้องแบกรับก็จะกลัวตกงาน เร่งทำงานอย่างกระตือรือร้น ไม่ทำตัวเป็นแมวอ้วนเหมือนเดิมตอนที่ ”บ้านเมืองยังดี”

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องการปลดหรือโละพนักงาน เป็นเรื่องใหญ่โต และไม่ใช่กระทำกันง่ายๆ เนื่องจากกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงานมีส่วนทำให้เรื่องปลดพนักงานต้องมีความรอบคอบ และมีการชดเชย

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ท้ายสุดก็หนีไม่พ้นเป็นมาตรการ ”ยาขม” ที่สร้างปัญหาให้กับพนักงานต้องไปหางานอื่นทำ

หากเป็นพนักงานคนหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 มันก็คงไม่กระไร แต่ในกรณีของพนักงานที่สูงอายุเกิน 40 ขึ้นไป ถือเป็นความโหดร้ายแสนจะทานทนเลยจริงๆ ใครไม่เจอกับตัวเองไม่รู้หรอก

โชคดีที่พนักงานในภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ เจอแค่เจ้านายหรือผู้บริหารขี้เล่นเท่านั้น แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีที่ไหนเป็นอย่างกรณีนี้บ้าง

ไม่อย่างนั้น ก็คงไม่ต้องมีคดีขึ้นศาลแรงงานกันกันอลหม่านไปหมดหรอก

ถือเป็นการเตือนสติว่า ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น ความเดือดร้อนจาก ”ซองขาว” มันเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเหมือนที่เอามาล้อเล่นกัน

เพราะไม่มีใครอยากให้มีวันนั้นเกิดขึ้นจริงๆ

ใช่มั้ยล่ะ??

เจ้าของผลิตภัณฑ์ – True Move
ชื่อแคมเปญโฆษณา – โทรฟรียกก๊วน
ชื่อภาพยนตร์โฆษณา – ซองขาว
ออกอากาศ – 11 สิงหาคม 2551
เอเยนซี่ – MONDAY
ทีมงานสร้างสรรค์
วิบูลย์ ลีภักดิ์ปรีดา (Chief Creative Officer)
พรรษพล ลิมปิศิริสันต์ (Chief Creative Officer)
นิมิต ส่งศรี (Creative Group Head)
วิกรม์ โรจน์อารยานนท์ (Copywriter)
สุภัทรา รัตนคอน ( Producer)
โปรดักชั่นเฮาส์ – Sky Exits
ผู้กำกับ – อนุรักษ์ จั่นสัญชัย