อย่าเพิ่งรีบแชร์ เช็กให้แน่ว่าข่าวจริงหรือเท็จ ที่ “เช็กก่อนแชร์.com”

ท่ามกลางข้อมูลในโลกยุคดิจิตอลที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในแต่ละวัน ซึ่งมีทั้งจริงและเท็จปะปนกันไป ตัวเราเองในฐานะผู้รับสาร ก่อนที่จะส่งต่อข้อมูลที่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นออกไปนั้น ควรใช้เวลาสักนิดในการตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราวดังกล่าว เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่การแชร์ข้อมูลเท็จนั้น ส่งผลกระทบเสียหายต่อชีวิตผู้อื่น โดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า วันหนึ่งมันอาจส่งผลร้ายมาถึงคนรอบตัวที่เรารัก เพียงแค่การเผลอกดแชร์ง่ายๆ ของเราเพียงแค่ครั้งเดียว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดให้เหล่าเอเจนซี่หัวสร้างสรรค์อย่าง บริษัท แรบบิทส์ เทลส์ จำกัด, บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ จูซ แบงคอก จำกัด (มหาชน) เริ่มจะมีคำถามในใจเหมือนๆ กันว่าจะดีกว่าไหมที่จะมีอะไรบางอย่างที่จะมาสร้างจริยธรรมทางสังคมโซเชียล และสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ ก่อนต้องมาปล่อยข่าวแก้กันทีหลัง

โดยได้มีการวางแผนทำการทดลอง HOAX Social Experiment ด้วยการปล่อยข่าวสารกึ่งเท็จเพื่อทดสอบพฤติกรรมของคนในสังคมออนไลน์ จากนั้นจึงค่อยปล่อยข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อแก้ไข ลบล้างข้อมูลจากข่าวแรกที่ปล่อยออกไป ผลการทดลองพบว่า ตัวอย่างของข้อมูลเท็จในหัวข้อแพทย์ออกโรงเตือน อั้นตดเสี่ยงกรดไหลย้อน มีการแชร์ต่อเนื่องกว่า 1.1 ล้านครั้งภายในเวลาเพียง 2 – 3 สัปดาห์ ในขณะที่การปล่อยข่าวแก้เพื่อมาหักล้างข่าวเท็จโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกลับพบว่าจำนวนการแชร์ของการแก้ข่าวนั้นมีแค่ราวๆ 1.1 แสนครั้งเท่านั้น ซึ่งถูกแชร์น้อยกว่าข่าวเท็จถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

การทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพลังของการแพร่กระจายของข้อมูลผิดๆที่เกิดจากการแชร์โดยปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเว็บไซต์เช็กก่อนแชร์.com” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคีองค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ (TWA) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและผลกระทบจากการส่งต่อข้อมูลเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์ และต้องการรณรงค์ให้คนไทยในสังคมออนไลน์มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนการเชื่อและแชร์ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีองค์กรเอกชนชั้นนำที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในการแชร์ข้อมูลข่าวสารต่อไป

เพื่อให้เว็บไซต์เป็นศูนย์กลางของข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ทุกคนสามารถเข้าไปค้นหาข่าวได้ด้วยตนเอง และสามารถเช็กได้ว่าข่าวที่กำลังเป็นกระแสขณะนั้นเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง ควรแชร์ต่อหรือไม่ ข้อมูลบนเว็บไซต์นั้นจึงเป็นการตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Inspector) เท่านั้น โดยมีแหล่งข่าวอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Reliable Source) และจะไม่เช็กเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ดารา นักการเมือง UFO ทฤษฎีสมคบคิด เป็นต้น

เช็กก่อนแชร์.com” จึงเปรียบเสมือนคลังข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สำหรับเข้ามาสืบค้นเรื่องราวที่สงสัยและกำลังเป็นประเด็นในสังคมขณะนั้น จะดีแค่ไหนหากทุกคนในสังคมสละเวลาสักนิด เข้ามาตรวจสอบข้อมูลว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จก่อนส่งต่อ เมื่อคนในสังคมต่างฉุกคิดและนึกปัญหาส่วนรวมเป็นปัญหาส่วนตน เชื่อว่าสังคมออนไลน์จะกลายเป็นสังคมอุดมปัญญาได้อย่างยั่งยื่น เช็กให้แน่ก่อนแชร์ต่อที่เช็กก่อนแชร์.com”