คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดงาน “KMITL Engineering Project Day 2017” วันที่ 25-26 เม.ย. โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และรศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี โชว์ผลงาน 500 นวัตกรรมจากเมคเกอร์รุ่นใหม่ พร้อมเชิญผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมพบปะเมคเกอร์นักประดิษฐ์หนุนแจ้งเกิดสตาร์อัพ รวมพลังประชารัฐสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมพร้อมเปิดเวทีประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017 และประกวด KMITL Startup Pitching
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง (Atchaka Sibunruang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยและนานาประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนทุกภาคส่วน สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นปฏิรูปประเทศ วางรากฐานที่เข้มแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีกรอบยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 6 แผนหลัก ได้แก่ 1. แผนงานหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2. แผนงานหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมชุมชน ความมั่นคงและคุณภาพชีวิต3. แผนงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและสะสมองค์ความรู้ 4. แผนงานหลักด้านการปรับระบบและบูรณาการงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม 5. แผนงานหลักด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม 6. แผนงานหลักด้านการปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งกรอบงบประมาณตามแผนบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้เราได้จัดทำยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Suchatvee Suwansawat) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อนาคตของเยาวชนและประเทศไทยจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เราต้องมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ พัฒนาตนเอง มีการเสริมสร้างศักยภาพพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในสังคม ภาคส่วนการศึกษาถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรเมคเกอร์ และสตาร์ทอัพผู้ประกอบการ อันเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศหลายโครงการ สจล. ได้ร่วมกับกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ โครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup – KITS), โครงการTech Startup Club Hackathon : Smart Living กิจกรรมปั้นสตาร์ทอัพสายเลือดใหม่เข้าสู่ภาคธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น งาน “KMITL Engineering Project Day 2017″ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมเมคเกอร์คนรุ่นใหม่เพื่อเสริมพลังทัพสตาร์ทอัพของประเทศไทยด้วยผลงานนวัตกรรม
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การพัฒนาคนเป็นหัวใจสำคัญของการต่อยอดไอเดียและเทคโนโลยีมาเป็นนวัตกรรม สำหรับงาน”KMITL Engineering Project Day 2017” เป็นเวทีแสดงผลงานของเมคเกอร์นักศึกษาคนรุ่นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ จากไอเดียสร้างสรรค์ผสมผสานงานวิจัยพัฒนา เทคโนโลยี และดิจิตอล สร้างการเปลี่ยนแปลงตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เสริมสร้างความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้และมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้เมคเกอร์เจ้าของนวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนมาพบปะกันในงานนี้ อันจะเป็นลู่ทางความร่วมมือและต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป
จากจำนวน 500 ผลงาน ซึ่งมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป และผลงานที่ได้รางวัล มีดังนี้
ผลการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017
จากผู้เข้ารอบ 10 ทีม โดยนำเสนองานเวทีรายละ 15 นาที เพื่อนำเสนอผลงาน (7นาที) และตอบคำถามคณะกรรมการ จากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กร (5นาที) ผลการตัดสินทีมชนะเลิศเหรียญทอง
รางวัลเหรียญทอง แชมป์ชนะเลิศ คือ GYRO GO เครื่องลดอาการมือสั่นของผู้ป่วยพาร์คินสัน ผลงานของ นายณชล แป้นคุ้มญาติ และ นายวสันต์ ปิ่นณรงค์ จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ สจล. ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป้นอุปกรณ์ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น จากการทดสอบกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลกว่า 100 ราย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ด้วยการติดตั้งระบบ AI อัตโนมัติเซ็ตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สร้างการทำงานเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ผ่านมอเตอร์ที่ติดกับข้อมือของผู้ป่วย เพื่อที่จะสามารถลดแรงสั่นของมือ แม้ในปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันยังเป็นการรักษาผู้ป่วยเพื่อประคับประคองอาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
รางวัลเหรียญเงิน คือ SMART CLEANER WITH CO2 DRY ICE ระบบละอองน้ำแข็งแห้งทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลงานของ นายธนพัฒน์ ถาวรวัฒน์สกุล จากหลักสูตรวิศวกรรมเคมี สจล. ผลงานสุดล้ำสำหรับยุคIndustry 4.0 พัฒนาระบบควบแน่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากของเหลวกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ฉีดทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความละเอียดอ่อน โดยไม่ทำให้เสียหาย และไม่ทิ้งคราบหรือของเสียใดๆ ประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และต้นทุนต่ำ เพิ่มคุณภาพในไลน์การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
รางวัลเหรียญทองแดง (มี 8 รางวัล)
- SMART HELMET หมวกนิรภัยอัจฉริยะผลงานของ นายกฤตนนท์ วิเศษชาติ นายศรีโคตร แนวจำปา และนายอัครธนพัชรฐ์ ตั้งกิจศิริ จากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สจล.
- เครื่องแช่อิ่มผลไม้สุญญากาศผลงานของ นางสาวกชกร ผ่องจิต นางสาวสิริธร อัมพวันวงศ์ และนายอภิวัฒน์ มาละพิงค์ จากหลักสูตรวิศวกรรมการวัดคุม สจล.
- Heart Mate & Emotional Monitor ระบบติดตามอารมณ์และเฝ้าระวังสัญญาณชีพผลงานของ นางสาวฐิตินันท์ ศิระมานะกุล นางสาวณัฐสิมา นครกัณฑ์ และนางสาวพลชา ฟักสุวรรณ จากหลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศ สจล.
- บริการฝากเก็บของอัจฉริยะในศูนย์การค้า ผลงานของ นายธนากร เสวีพงศ์ และนายธนาสาร แซ่หุ้ย จากหลักสูตรวิศวกรรมระบบควบคุม สจล.
- แอพพลิเคชั่นระบุตำแหน่งรถโดยสารประจำทาง ผลงานของ นางสาวนวพร พุกะนัตด์ นางสาว เปมิกา ฮอมมา และนายสุรเชษฐ์ พุ่มดนตรี จากหลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติ สจล.
- เครื่องแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวนึ่งผลงานของ นายจิตรเทพ เนี่องจำนงค์ นายรัชโย แก้วประการ และนางสาววิลาสินี กระแสโท จากหลักสูตรวิศวกรรมอาหาร สจล.
- เครื่องทำน้ำอุ่นจากเครืองปรับอากาศ ผลงานของนายพัทธ์ อัศวจินดา นายพีระรัชต์ ศิริอัมพัน และนายภัทร ภักดียิ่งยง จากหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล สจล.
- Sheet Pile คิดค้นสำหรับไซต์ก่อสร้างในชั้นทรายแบบจำลองผลงานของ นางสาวปีติญา นิธินันทน์ นายศิวกร สร้อยศักดิ์ และนายศุภวัฒน์ คงพาณิชย์กุล จากหลักสูตรวิศวกรรมโยธา สจล.
ผลการประกวด KMITL Startup Pitching
เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้ ความคิดสร้างสรรค์ 30 %วิธีการนำเสนอผลงาน 30 % ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ 30%ประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม 10%และโครงการนี้มีเงินรางวัลรวม 100,000 บาท
- รางวัลชนะเลิศ ผลงาน I Get Dorm นักศึกษาจาก หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สจล. จากสถิติในแต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยพบกับปัญหาที่หอพักที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อนักศึกษาที่มาจากถ่าน จึงคิดค้นเว็บไซด์ที่ชื่อว่า I Get Dorm เพื่อนักศึกษาที่สามารถบอกจำนวนหอพักรอบมหาวิทยาลัยที่ยังว่างอยู่รวมถึงราคาที่พัก และยังสามารถจองผ่านออนไลน์ และผู้ประกอบสามารถใช้บริการและดูความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาพักอาศัยได้อีกด้วย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ผลงาน HYDROTEC นักศึกษาจาก หลักสูตรวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ สจล. คนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่หันมารักษาสุขภาพด้วยออกกำลังกายมากขึ้น แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยรักษาสุขภาพคืออาหาร งานวิจัยมุ่งกลุ่มผู้ประกอบการคอนโด ด้วยตู้ปลูกผักออแกนิกส์การทำงานโดยระบบอัตโนมัติซึ่งสามารถดูแลผักออแกนิกส์ ไร้สารเคมี สะอาดมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ใช้วิธีการปลูกผักในแนวตั้งซึ่งจะได้จำนวนมากอีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ และสามารถนำมาขายให้แก่ผู้ที่เข้าพักอาศัยให้เพื่อเพิ่มรายได้
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงาน ขายผัก นักศึกษาจาก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ตลาดออนไลน์เว็บไซด์ในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการซื้อสิ่งค้า ซึ่งมีการศึกษาค้นคว้าเปิดตลาดออนไลน์ในการรับผักแบบออแกนิกส์จากผู้ประกอบการร้านค้าที่ต้องการเสนอขายผัก เพื่ออีกแนวทางในการขยายรายได้ และยังส่งดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการหาซื้อผักที่ปลอดสารพิษให้แก่คนรักสุขภาพ อีกลูกค้ายังได้ผักที่ราคาถูก สะดวกและรวดเร็ว