ผู้ถือหุ้น บมจ.ดุสิตธานี อนุมัติโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (มิกซ์-ยูส) มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ผู้บริหารคาดเริ่มดำเนินโครงการกรกฎาคมปีนี้ ระบุผลประกอบการไม่ได้รับผลกระทบในช่วงปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ประมาณ 3 ปี เนื่องจากบริษัทฯ ยังมีผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ในรูปแบบรายรับอื่น มั่นใจหลังโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ “ดุสิตธานีกรุงเทพ” จะกลับมาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ ขณะที่โครงสร้างรายได้ในอนาคตจากการกระจายลงทุนใหม่ จะสนับสนุนให้ฐานะการเงินของบริษัทฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือDTC เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม หรือมิกซ์-ยูส (Mixed-Use Development) มูลค่ารวม 36,700 ล้านบาท โดยร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4หรือบริเวณโรงแรมดุสิตธานี โดยมีแผนพัฒนาให้เป็นโรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงานและโครงการอาคารศูนย์การค้า บนที่ดินขนาด 23 ไร่ 2 งาน 27.2 ตารางวา
“บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ไว้วางใจอนุมัติให้ดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งหลังจากได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว เราคาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่บางส่วนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มพัฒนาที่ดินเพิ่มเติมที่ได้รับมาใหม่ตรงบริเวณอาคารร้างบนถนนพระรามที่ 4 (ที่อยู่ติดกับพื้นที่เดิมของโรงแรม) เพื่อเร่งดำเนินการสร้างโรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ แห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการเปิดให้บริการโรงแรมเดิม ซึ่งจะให้บริการต่อไปจนถึงกลางปี2561 เพื่อให้ช่วงเวลาที่ต้องหยุดให้บริการเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยในเบื้องต้นคาดว่าโรงแรมใหม่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ในขณะที่โครงการส่วนอื่นทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567” นางศุภจีกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการเข้าทำรายการครั้งนี้ จะทำให้รายได้จากโรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16.67% ของรายได้ทั้งหมด) ขาดหายไปช่วงหนึ่ง แต่บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนบางส่วนจากการเข้าลงทุนในโครงการรูปแบบผสมนี้ และจะมีรายได้จากโครงการใหม่ๆ ที่ทางบริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่เข้ามาชดเชย ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ ในช่วงก่อสร้างโครงการ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้วางแผนจัดโครงสร้างการเงินอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ร่วมกับที่ปรึกษาหลายฝ่ายสำหรับการลงทุนในโครงการรูปแบบผสมนี้ ทำให้บริษัทฯ สามารถได้รับผลตอบแทนทั้งระยะสั้น และระยะยาวจากการลงทุน ก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาในบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางการเงินในช่วงที่อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการใหม่ โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่ยังคงจุดเด่นในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ด้วยสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดให้สอดคล้องกับความเป็นย่านธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเอื้อประโยชน์ต่อการจราจรในทุกระนาบ โดยยังคงความเป็น ‘ดุสิตธานี’ ไว้ได้อย่างเข้มแข็งเหมือนกับตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้โรงแรมดุสิตธานี ยังคงเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ โดยบางส่วนที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานีจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในช่วงของการปรับปรุง ก่อนที่จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมเมื่อเปิดดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งในที่สุดแล้ว จะเป็นการช่วยยกระดับหรือชูแบรนด์ดุสิตธานีให้กลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายของกลุ่มดุสิตธานีนับจากนี้ จะใช้นโยบายเชิงรุกควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพในการนำบริษัทไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน โดยวางกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างสมดุลด้านสัดส่วนของรายได้ในประเทศและต่างประเทศ 2. สร้างการเติบโตโดยตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนห้องพักกว่าเท่าตัว และ 3. กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ด้วยการไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ปัจจุบัน กลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วทั่วโลกจำนวน 29 แห่งใน 8 ประเทศ โดยเป็นโรงแรมที่อยู่ในประเทศไทยจำนวน 10 แห่ง และคาดว่า ภายในปี 2563 จะเปิดโรงแรมเพิ่มกว่า 70แห่งใน 21 ประเทศ
ข้อมูลเกี่ยวกับดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล
ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล (หรือ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)) ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เมื่อปี พ.ศ. 2491 ผู้ก่อตั้งโรงแรมปริ๊นเซสแห่งแรกขึ้นบนถนนเจริญกรุง ปัจจุบันดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้นำด้านบริหารโรงแรมและด้านการศึกษา กลุ่มเครือโรงแรมและรีสอร์ทของดุสิต ประกอบไปด้วย4 แบรนด์ คือ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิตเดวาราณา ปัจจุบันบริหารโรงแรมและรีสอร์ททั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 29 แห่ง และมีโรงแรมที่กำลังจะเปิดให้บริการในระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้าเพิ่มอีกกว่า 51 แห่งทั่วโลก
นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ยังดำเนินธุรกิจเทวารัณย์ สปา และการศึกษา โดยได้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานีขึ้นในปี พ.ศ. 2536 สถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญา ซึ่งมีสาขาอยู่ที่กรุงเทพและพัทยา อีกทั้งยังบริหารโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และล่าสุดได้เปิดโรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานสมรรถนะและความสามารถในการให้บริการของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวแห่งอาเซียน (ASEAN Common Competency Standards Framework for Tourism Professionals) อีกด้วย
ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล มีแผนเปิดตัว Dusit Hospitality Management College ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ที่ผสานธุรกิจโรงแรมและการศึกษาไว้ด้วยกัน โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2561