ทางการเวียดนามได้ตัดสินใจเลือกแบบแปลน อาคารผู้โดยสารสนามบินแห่งใหม่ในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งจะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติใหญ่ที่สุด โดยเลือกอาคารรูปทรงดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศ จากทั้งหมดสามแบบ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณารอบสุดท้าย โดยคณะกรรมการชุดหนึ่งของกระทรวงขนส่ง มีการเผยแพร่ประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสัปดาห์นี้
นับเป็นความคืบหน้าสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง ของโครงการสนามบินใหญ่ ที่สร้างขึ้นหวังจะให้เป็นศูนย์กลางการบินภายในประเทศ รวมทั้งเป็นปลายทางสำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่สนามบินเตินเซินเญิ๊ต (Tan Son Nhat) ในนครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน อยู่ในสภาพแออัดคับคั่งอย่างหนัก เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ของอุตสาหกรรมการบินในประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
การคัดเลือกเอาอาคารรูปทรงดอกบัว ยังเป็นการเปลี่ยนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อของทางการเวียดนามรายงานว่า ได้นำเสนอแบบ LT07 นำหหน้าแบบอื่นๆ ใน 3 แบบสุดท้าย เพื่อให้คณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณา
สนามบินลองแถ่ง (Long Thanh/ลองทัน/ลองเทิน) เคยเป็นฐานทัพใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยวอชิงตันทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ พัฒนาที่สูงแห่งนั้นให้เป็นฐานทัพอากาศ สำหรับโจมตีทิ้งระเบิด สกัดกั้นการรุกคืบของกองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือกับเวียดกง ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970
ตามรายงานของสื่อทางการ ฐานทัพเก่าสหรัฐฯ แห่งนี้ สร้างขึ้นมาอย่างมั่นคงและแน่นหนาถาวร ทำให้ไม่ต้องถมที่ สามารถประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้มาหศาล แต่ถึงกระนั้นมูลค่าก่อสร้างสนามบินใหม่ ก็ยังสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 560,000 บาท
ประกาศที่ลงนามโดย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนซวนฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกแบบแปลนอาคารผู้โดยสารดังกล่าว โดยเป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 26 คน จากกระทรวงขนส่ง และภาคเอกชน กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ภายใต้กรมการบินพลเรือน
แบบ LT03 อันเป็นรูปทรงที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากดอกบัว เป็นผลงานของบริษัท Heerim Architects & Planners Consulting Co จากเกาหลี ได้รับคะแนนโหวตจากคณะกรรมการ คิดเป็น 59.09% ชนะแบบ LT04 อาคารรูปทรงกอไผ่ ของกลุ่มบริษัท Japan Airport Consultants Inc และ บริษัท ADP Ingeniere-Shigeru Ban Architects บริษัทญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส ที่ได้คะแนนโหวต 27.27% สื่อของทางการรายงาน
แบบที่ 3 คือ LT07 ซึ่งเป็นรูปทรงต้นมะพร้าว ต้นไม้อีกนิดหนึ่งที่พบทั่วไปในเวียดนาม นำเสนอโดยบริษัท CPG Consultants Pte และ บริษัท PAE Limited-Azusa Sekkei ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทสิงคโปร์-เวียดนาม-ญี่ปุ่น ได้คะแนนโหวต 13.64% จิถึกแจ๋ (เยาวชนปัญญาชน) ออนไลน์ รายงานในเว็บไซต์
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแบบอาคารผู้โดยสารทั้ง 3 แบบ มาตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ สำหรับโครงการ ที่แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ โดยเฟสที่ 1 จะใช้เงินทุนราว 5,450 ล้านดอลลาร์ หรือ 190,700 ล้านบาทเศษ
สนามบินเก่าแห่งนี้ มีเนื้อที่ราว 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอชื่อเดียวกัน อยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร ใน จ.โด่งนาย (Dong Nai) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสามเฟส ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า จะมีขนาดใหญ่โตกว่าสนามบินนานาชาตินครโฮจิมินห์ราว 4 เท่าตัว รองรับผู้โดยได้กว่า 100 ล้านคนต่อปี
แผนการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด เนื่องจากแรงกดดันเกี่ยวกับเงินกู้และการลงทุน รวมทั้งการติดขัดทางด้านการเมือง ซึ่งรัฐสภาเวียดนามเกรงว่า จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพอกพูนขึ้น ในขณะที่เวียดนามยังต้องการเงินลงทุนสำหรับแขนงอื่นที่มีความเร่งด่วนพอๆ กัน หรือ ยิ่งกว่า จึงทำให้ต้องเลื่อนโครงการสนามบินใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนหลายคนเรียกเป็น “สนามบินเจ็ดชั่วโคตร”
เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ นายจีง ดิ่ง ยวุ๋ง (Trinh Dinh Dung) รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล ได้กำหนดกรอบเวลาทำงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการก่อสร้างให้ได้ในปี 2562 หรือสองปีข้างหน้า โดยเฟสแรกจะประกอบด้วย 1 รันเวย์ อาคาร 1 หลัง กับ สิ่งปลูกสร้างสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง สามารถรับผู้โดยสารได้ 25 ล้านคน กับสินค้าอีก 1.2 ล้านตันต่อปี ช่วยบรรเทาความคับคั่งของสนามบินนครโฮจิมินห์
นับเป็นครั้งแรกที่โครงการสนามบินลองแถ่ง มีกำหนดและกรอบเวลาอันชัดเจน ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายดำเนินมาในทิศทางเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรียังกำชับด้วยว่า เฟสที่ 1 จะต้องแล้วเสร็จและใช้การได้ในปี 2568 หรือใช้เวลาก่อสร้างราว 6 ปี รวมทั้งสั่งการให้ทางการจังหวัด ร่วมกับกระทรวงขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเวนคืนที่ดิน และจ่ายเงินชดเชยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เฟสที่ 2 และ 3 จะเพิ่มและขยายรันเวย์ กับอาคารผู้โดยสารอีก 1 หลัง ขยายขีดความสามารถให้รับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคน สินค้าอีก 5 ล้านตันต่อปี
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติโฮจิมินห์ ออกแบบมาเพื่อรับผู้โดยสาร 25 ล้านคนต่อปี แต่จำนวนคนไปใช้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีสภาพแออัดเป็นอย่างมาก ถูกขนาบล้อมรอบด้วยตัวเมือง ถนนหนทางที่ตัดผ่านไม่สามารถขยับขยายได้อีก ทำให้การจราจรติดขัดถึงขั้นวิฤกฤต
ทางการนครมีความพยายามแก้ไข หาวิธีเดินทางสู่สนามบินแห่งนั้น ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคิดสร้างระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบ ซึ่งรวมทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินสายสั้นๆ 1-2 กม. แม้กระทั่งระบบรถกระเช้าลอยฟ้า แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถลดความแออัดภายในสนามบินลงได้
ขณะเดียวกันเวียดนามกำลังจะขยายสนามบินโนยบ่าย (Noi Bai) ในกรุงฮานอย ที่จะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 5,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้รับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็น 50 ล้านคนต่อปีในปี 2573 โดยใช้พื้นที่ราว 720 เฮกตาร์ (4,500 ไร่) ทางฝั่งตรงข้าม ของสนามบินในปัจจุบัน มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของรัฐบาล.
ที่มา : http://manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9600000045143