ครบ 1 ปี พอดี หลังจากที่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ของ”เสี่ยเจริญ” ได้เทคโอเวอร์ “บิ๊กซี” ด้วยมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท
หลังจากช่วงแรกได้มีการปรับองค์กรและวางทิศทาง ภายใต้สโลแกน ห้างคนไทยหัวใจลูกค้ามาเป็นจุดขาย มาปีนี้ ได้เวลาที่บีเจซีจะเร่งเครื่องให้กับ “บิ๊กซี” ในการโลดแล่นสู่สงครามค้าปลีกอีกครั้ง ภายใต้แนวทาง 4 ด้าน 1. ขยายสาขา 2.เพิ่มบริการอื่นๆ ที่สาขา 3.เน้นสินค้าอาหารสด และ 4.เริ่มดันโมเดลแฟรนไชส์ของมินิบิ๊กซี
ปีนี้ บิ๊กซีมีแผนขยายสาขากว่า 420 สาขา แบ่งเป็นโมเดลขนาดใหญ่ 9-10 สาขา ขนาดกลาง 10 สาขา และขนาดเล็ก หรือมินิบิ๊กซี 400 สาขา ใช้งบลงทุนรวม 8,000 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนมากที่สุดในช่วง 3-4 ปีของบิ๊กซี รวมถึงรีโนเวตบางสาขาปรับพื้นที่ให้กระชับ
ทั้งนี้ทิศทางการขยายสาขาของบิ๊กซีจะใช้พื้นที่ลดลง เพราะมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมเข้าร้านสะดวกซื้อ ส่วนสาขาขนาดใหญ่ยังคงมีการเติบโตอยู่บ้าง แต่เทรนด์จะเป็นการลดขนาดลงจากเดิมที่ใช้พื้นที่ 7,000-8,000 ตารางเมตร ปัจจุบันใช้พื้นที่ 3,000-4,000 ตารางเมตร เพื่อกระชับพื้นที่ และขยายไปในจังหวัดเล็กๆ ได้
2.พัฒนาธุรกิจใหม่ เพิ่มบริการอื่นๆ ในสาขา ทั้งในการพัฒนาแบรนด์เป็นของตัวเองอย่าง Big Care บริการด้านประกัน และบัตรเครดิต ปัจจุบันมี 130 สาขา และ Big Service บริการด้านการจ่ายบิล มี 15 สาขา เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้มาซื้อของต้องการทำธุระ จึงต้องมีบริการเพื่อรองรับ และสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองทำให้เข้าถึงปู้บริโภคได้ง่ายกว่า
นอกจากนั้นยังมีแผนในการจับมือกับพันธมิตรอื่นๆ ในการเพิ่มบริการในสาขา ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 300 ราย จากปัจจุบันมี 100 ราย ในอนาคตจะมีบริการจุดรับสินค้าสำหรับลูกค้าอีคอมเมิร์ซด้วย
3. เน้นสินค้าอาหารสด เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ต่างจากคู่แข่งเทสโก้ โลตัสเท่าไหร่ เพราะมองว่าเป็นสินค้าที่ต้องใช้ทุกวันในขณะที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์อย่างอื่นทุกวัน เริ่มที่จะซื้อพืชผลโดยตรงจากสวน
4. ผลักดันแฟรนไชส์มินิบิ๊กซี ได้เริ่มดำเนินการมาสักพักแล้ว เป็นกลยุทธ์ในการที่จะขยายสาขาได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมินิบิ๊กซีมีสาขารวม 500 สาขา เป็นแฟรนไชส์อยู่ราว 100 สาขา ซึ่งในการขยายสาขาครึ่งนึงของมินิบิ๊กซีจาก 400 สาขาจะเป็นแฟรนไชส์ โดยจะมีการปรับเปลี่ยน และหาสิ่งที่จูงใจให้คนมาลงทุน
อัศวิน บอกว่า กลยุทธ์นี้อาจจะเป็นจุดสร้างข้อได้เปรียบให้กับบิ๊กซีได้ในการลงทุนผ่านแฟรนไชส์ ซึ่งเทสโก้ โลตัสยังไม่มีแผนในการทำโมเดลนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนสาขารวมยังแตกต่างกันอยู่มาก เทสโก้โลตัสตั้งเป้าจะมี 2,000 สาขาในปีนี้ ส่วนสาขาของบิ๊กซีถ้ารวมการลงทุนในปีนี้อาจจะเกือบ 1,000 สาขา การใช้โมเดลแฟรนไชส์น่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะของบิ๊กซีในตอนนี้ด้วย
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้มีความท้าทายหลายๆ อย่าง หลังจากปีที่แล้วได้เน้นการปรับองค์กร ปรับเรื่องคน ปีนี้เลยมาบุกทำตลาดหนักขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของบิ๊กซีเช่นกันเป็นการขยายสาขาเยอะที่สุดในช่วง 3-4 ปี อีกอย่างนี้เน้นก็คือต้องหาธุรกิจใหม่ๆ บริการใหม่ๆ มาเสริมในสโตร์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบ”
ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขารวม 673 สาขา มีโมเดลหลัก 4 รูปแบบ ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี มาร์เก็ต และมินิบิ๊กซี แบ่งเป็นรูปแบบเล็กอย่างมินิบิ๊กซีเกือบ 500 สาขา และรูปแบบใหญ่รวม 3 โมเดลเกือบ 190 สาขา